เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย  
เคานต์ฟอนแครมม์อธิบายสถานการณ์ของเขาต่อโฮมส์และวัตสัน ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ตในปี ค.ศ. 1891
ผู้ประพันธ์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์
ชื่อเรื่องต้นฉบับA Scandal in Bohemia
ผู้แปลอ. สายสุวรรณ
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
ชุดเรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย
ประเภทเรื่องสั้นนวนิยายนักสืบ
วันที่พิมพ์มิถุนายน ค.ศ. 1891
เรื่องก่อนหน้าจัตวาลักษณ์ 
เรื่องถัดไปสันนิบาตผมแดง 
ข้อความเหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย ที่ วิกิซอร์ซ

"เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย"[1] หรือ "เรื่องอื้อฉาวในโบฮีเมีย"[2] (อังกฤษ: A Scandal in Bohemia) เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกและและเป็นผลงานลำดับที่ 3 ของอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ที่มีเชอร์ล็อก โฮมส์เป็นตัวละครนักสืบหลัก เป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกจากเรื่องสั้นเกี่ยวกับโฮมส์ทั้งหมด 56 เรื่องที่เขียนโดยดอยล์และเป็นเรื่องแรกจากทั้งหมด 38 เรื่องที่วาดภาพประกอบโดยซิดนีย์ พาเก็ต เรื่องสั้นเรื่องนี้มีชื่อเสียงจากการเป็นเรื่องราวเปิดตัวของตัวละครไอรีน อัดเลอร์ ผู้เป็นหนึ่งในตัวละครหญิงที่มีชื่อเสียงที่สุดในซีรีส์เชอร์ล็อก โฮมส์ แม้จะปรากฏตัวในเรื่องสั้นเพียงเรื่องเดียว[3] ดอยล์จัดให้ "เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" อยู่ในอันดับที่ 5 ของรายการเรื่องราวเกี่ยวกับโฮมส์ 12 เรื่องที่ชื่นชอบ[4]

"เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" ตีพิมพ์ครั้งแรกในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1891 ใน นิตยสารสแตรนด์ฉบับเดือนกรกฎาคม[5] และเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย ในปี ค.ศ. 1892

เนื้อเรื่อง[แก้]

แกรนด์ดยุกแห่งคัสเซล-เฟลชไตน์และพระราชาผู้สืบราชสันตติวงศ์แห่งโบฮีเมียเสด็จมาเยือนบ้านเลขที่ 221 บี ถนนเบเกอร์ พระราชาตรัสว่าเมื่อ 5 ปีก่อน พระองค์ทรงมีสัมพันธ์ลับ ๆ กับไอรีน อัดเลอร์นักร้องอุปรากรชาวอเมริกา พระองค์ทรงมีกำหนดจะอภิเษกสมรสของเจ้าหญิงแห่งสแกนดิเนเวีย แต่พระองค์ทรงกังวลว่าราชวงศ์ของเจ้าหญิงจะเพิกถอนการสมรสหากเรื่องความไม่เหมาะไม่ควรนี้ถูกเปิดเผย พระราชาทรงพยายามจะนำภาพถ่ายที่ทรงฉายด้วยกันกับอัดเลอร์ซึ่งพระองค์มอบให้อัดเลอร์เป็นที่ระลึกคืนมา แต่อัดเลอร์ข่มขู่ว่าจะส่งภาพถ่ายนี้ไปยังราชวงศ์ของคู่หมั้นของพระองค์

เช้าวันต่อมา โฮมส์ปลอมตัวเป็นคนว่างงานสะกดรอยตามอัดเลอร์ อัดเลอร์นั้นเข้าพิธีสมรสกับนอร์ตันสามีในโบสถ์ใกล้เคียง โฮมส์ที่กำลังปลอมตัวได้รับการขอร้องให้ช่วยเป็นพยานในพิธีสมรส ไม่นานหลังจากนั้น โฮมส์และวัตสันดำเนินแผนทำให้โฮมส์ที่ปลอมตัวเป็นบาทหลวงได้รับอนุญาตจากอัดเลอร์ให้เข้ามาในบ้าน แล้วสร้างสถานการณ์ให้เกิดควันเหมือนเกิดไฟไหม้เพื่อล่อให้อัดเลอร์เผยที่ซ่อนของภาพถ่าย คืนนั้นหลังจากโฮมส์และวัตสันหนีมาจากบ้านของอัดเลอร์แล้ว ได้ทูลเสนอให้พระราชาเสด็จไปที่บ้านของอัดเลอร์ในเช้าวันรุ่งขึ้น

เมื่อโฮมส์ วัตสัน และพระราชามาถึงบ้านของอัดเลอร์ในเช้าวันถัดมาเพื่อไปเอารูปถ่าย คนรับใช้หญิงชราแจ้งว่าอัดเลอร์ออกนอกประเทศทางรถไฟไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงเช้า โฮมส์เข้าไปยังจุดที่ซ่อนภาพถ่าย ก็พบกับภาพถ่ายของไอรีน อัดเลอร์ในชุดราตรี และจดหมายที่เขียนถึงโฮมส์ ในจดหมายอัดเลอร์บอกว่าเธอได้ออกจากอังกฤษกับนอร์ตันและให้คำมั่นว่าเธอจะไม่ทำตัวเป็นภัยต่อพระราชาอีก

วัตสันสรุปเรื่องราวนี้ว่าโฮมส์มักจะกล่าวถึงอัดเลอร์ด้วยความให้เกียรติว่า "ยอดสตรี"

ความสัมพันธ์ระหว่างโฮล์มส์และอัดเลอร์[แก้]

อัดเลอร์ได้รับการชื่นชมจากโฮล์มส์เป็นอย่างสูง[6] เมื่อพระราชาแห่งโบฮีเมียตรัสว่า "อย่างนี้แล้วหล่อนจะไม่เป็นราชินีที่น่าบูชาหรือ มันน่าเสียดายไหมที่หล่อนไม่มาเกิดในระดับเดียวกันฉัน" โฮล์มส์ทูลตอบว่าอัดเลอร์อยู่ในระดับที่แตกต่างจากพระราชาจริง ๆ บ่งบอกว่าเธออยู่ในฐานะเหนือกว่าพระราชามาโดยตลอด[7]

ช่วงต้นเรื่องของ "เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" บรรยายถึงความนับถืออย่างสูงที่โฮล์มส์มีต่ออัดเลอร์:

สำหรับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ แล้ว หล่อนเป็นยอดหญิงเสมอ ข้าพเจ้าไม่ค่อยจะได้ยินเขาเอ่ยถึงหล่อนในชื่ออื่นเลย ในสายตาของเขานั้น เพศของหล่อนไม่มีความสำคัญหรืออิทธิพลเหนือตัวหล่อนเลย ทั้งนี้ใช้ว่าเขาจะมีอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ ที่เนื่องไปในทางพิศวาสต่อไอรีน อัดเลอร์ ก็หาไม่ อารมณ์ทั้งปวงโดยเฉพาะอารมณ์เช่นว่านั้น ย่อมเป็นสิ่งพึงชังแก่จิตใจอันสุขุมเยือกเย็นและสม่ำเสมออย่างน่าเลื่อมใสของเขา ข้าพเจ้าถือว่าเขาเป็นเครื่องจักรที่ใช้ความสังเกตและทบทวนเหตุผลได้รอบคอบสมบูรณ์ที่สุดที่โลกได้พบเห็นมา แต่สำหรับการเป็นเจ้าชู้สู่สาวแล้ว เขาคงกำหนดฐานะของเขาผิดเป็นแน่ เขาไม่เคยที่จะพูดถึงความรู้สึกรักใคร่ละมุนละไม เว้นแต่ในลักษณะล้อเลียนและเย้ยหยันเท่านั้น อารมณ์เหล่านั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมสำหรับผู้สังเกต--ประเสริฐสำหรับการเผยเหตุจูงใจและพฤติกรรมของคนก็จริง แต่สำหรับผู้ที่ใช้เหตุผลมาเสียจนช่ำชองแล้วนั้น การที่ยอมให้อารมณ์เหล่านั้นเข้ามาพ้องพานจิตใจอันมีระเบียบและสุขุมเยือกเย็น ย่อมเป็นปัจจัยอันยุ่งเหยิงที่อาจก่อความสงสัยให้เกิดแก่ผลงานทางจิตใจของเขาได้ ฝุ่นละอองในเครื่องมืออันบอบบาง หรือรอยร้าวในแว่นขยายที่มีกำลังกล้าอันใดอันหนึ่งของเขา จะไม่เป็นที่ระคายเคืองมากไปกว่าอารมณ์อันรุนแรงในลักษณะจิตใจเยี่ยงเขานี้เลย แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งสำหรับเขา และผู้หญิงคนนั้นคือไอรีน อัดเลอร์ซึ่งล่วงลับไปแล้ว ผู้ซึ่งทิ้งเรื่องราวอันชวนพิศวงสงสัยไว้ในความทรงจำ

"ความทรงจำ" นี้คงอยู่ในรูปภาพถ่ายของไอรีน อัดเลอร์ ซึ่งอัดเลอร์จงใจทิ้งไว้เมื่อเธอและสามีใหม่ออกเดินทางไปพร้อมกับภาพถ่ายของเธอกับพระราชา โฮล์มส์ทูลของภาพถ่ายของอัดเลอร์จากพระราชาเพื่อเป็นค่าจ้างสำหรับการไขคดีนี้[7] ใน "เมล็ดส้มห้าเมล็ด" โฮล์มส์กล่าวกับลูกความของตนว่าเขาเคยพ่ายแพ้เพียงไม่กี่ครั้งและพ่ายแพ้เพียงครั้งเดียวให้กับผู้หญิง

ประวัติการตีพิมพ์[แก้]

"เหตุอื้อฉาวในโบฮีเมีย" ตีพิมพ์ครั้งแรกในสหราชอาณาจักรในนิตยสารสแตรนด์เมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1891 และในสหรัฐอเมริกาในในนิตยสารสแตรนด์ฉบับสหรัฐเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1891[8] ภาพวาดประกอบเนื้อเรื่อง 10 ภาพวาดโดยซิดนีย์ พาเก็ต ตีพิมพ์ในนิตยสารสแตรนด์[9] เรื่องสั้นถูกรวมในหนังสือรวมเรื่องสั้น เรื่องสั้นเชอร์ล็อก โฮมส์ ชุด การผจญภัย ซีงตีพิมพ์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1892[9]

อ้างอิงและบรรณานุกรม[แก้]

อ้างอิง
  1. "เชอร์ล็อก โฮล์มส์ ชุดการผจญภัย". SE-ED.
  2. "Sherlock Holmes : ชุดเรื่องอื้อฉาวในโบฮีเมีย / เซอร์อาร์เธอร์ โคแนน ดอยล์, เขียน ; ปิยะภา, แปล". สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา. 2020.
  3. Rosemary., Herbert (1 January 2003). Whodunit? : a who's who in crime & mystery writing. Oxford University Press. pp. 4. ISBN 0195157613. OCLC 252700230.
  4. Temple, Emily (22 May 2018). "The 12 Best Sherlock Holmes Stories, According to Arthur Conan Doyle". Literary Hub. สืบค้นเมื่อ 6 January 2019.
  5. Conan Doyle, Sir Arthur; Klinger, Leslie S. (2005). The New Annotated Sherlock Holmes, Vol. 1. W. W. Norton & Company. p. 5. ISBN 0-7394-5304-1.
  6. Bunson, Matthew (1997). Encyclopedia Sherlockiana. Simon & Schuster. p. 3. ISBN 0-02-861679-0.
  7. 7.0 7.1 Thompson, Dave (2013). Sherlock Holmes FAQ. Applause. p. 74. ISBN 9781480331495.
  8. Smith (2014), p. 43.
  9. 9.0 9.1 Cawthorne (2011), p. 54.
บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]