เสาร์ซาวเอ็ด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เสาร์ซาวเอ็ด
ส่วนหนึ่งของ เหตุการณ์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย
บรรยากาศการจัดงานระลึก 10 ปีเสาร์ซาวเอ็ดเมื่อปี 2562
วันที่21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
สถานที่พุทธสถานเชียงใหม่ วัดอุปคุต ถนนท่าแพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
18°47′16″N 99°00′07″E / 18.7876689°N 99.0019783°E / 18.7876689; 99.0019783
เป้าหมายหยุดยั้งการจัดพาเรดเชียงใหม่เกย์ไพรด์
วิธีการปิดล้อมสถานที่, คำพูดเกลียดชัง, ด่าทอ, ขว้างปาสิ่งของ
คู่ขัดแย้ง
กลุ่มฮักเชียงใหม่ 51
และผู้ต่อต้านการจัดพาเหรด
หน่วยงานที่จัดพาเหรด 22 องค์กร
จำนวน
1,000[1]
ไม่ทราบ

เสาร์ซาวเอ็ด (แปลตรงตัว: เสาร์ยี่สิบเอ็ด) เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อยังยั้งการจัดงานพาเหรดเกย์ไพรด์ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552[2] มีการเรียกขานว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย[3] และมีการเปรียบเทียบเหตุการณ์นี้กับเหตุจลาจลสโตนวอลล์ในสหรัฐ[1] นอกจากนี้วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ได้มีการกำหนดเป็น วันยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์นี้[4]

กิจกรรมเกย์พาเรดนี้มีกำหนดการจัดขึ้นโดยกลุ่มองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศ 22 องค์กร โดยจะเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณวัดอุปคุต พุทธสถานเชียงใหม่ ไปตามถนนช้างคลาน ผ่านเชียงใหม่ไนท์บาซาร์ ในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 อย่างไรก็ตาม หลังการประกาศประชาสัมพันธ์การจัดงาน ได้มีกลุ่มคนต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ เช่น กลุ่มเชียงใหม่อารยะ, กลุ่มเกย์การเมืองไทย, เรนโบว์ดรีม, ผู้หญิงไม่แท้ของล้านนา และ บ้านสีม่วง โดยมีนที ธีระโรจนพงษ์ นักกิจกรรมการเมืองและความหลากหลายทางเพศอนุรักษนิยม เลขานุการของกลุ่มเชียงใหม่อารยะ เป็นแกนนำ ได้รวมตัวกันร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการต่าง ๆ จังหวัดให้ยุติกิจกรรมดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าเป็นการทำให้วัฒนธรรมล้านนาถูกมองในแง่ลบ, นำไปสู่การเลียนแบบโดยเยาวชน และเป็นการจัดกิจกรรมที่ต้องเสียวัฒนธรรมของเชียงใหม่เพื่อเอื้อผลประโยชน์ตน[1] ซึ่งหน่วยราชการ, เจ้าดวงเดือน ณ เชียงใหม่, ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ได้ออกมาแสดงท่าทีเห็นด้วยต่อการยกเลิกกิจกรรมด้วยเหตุผลคือเป็นการ “ไม่เหมาะสมและขัดต่อวัฒนธรรมเชียงใหม่” นอกจากนี้สื่อท้องถิ่น เช่น หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์และสถานีวิทยุท้องถิ่นได้เผยแพร่ข้อความสร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งปลุกระดมมวลชนให้เข้าปั่นป่วนกิจกรรมและขว้างปาสิ่งของใส่ขบวน[5][1]

ในวันจัดงาน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รวมตัวกันที่วัดอุปคุต พุทธสถานเมืองเชียงใหม่ เพื่อเตรียมตัวเริ่มเดินขบวน ในเวลาราว 16:00 น. ได้มีกลุ่มที่อ้างตนว่าเป็นคนเสื้อแดงเชียงใหม่ภายใต้ชื่อ กลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 ซึ่งติดอาวุธ สื่อต่าง ๆ ได้รายงานว่ามีจำนวน “พันคน” เข้าปิดล้อมบริเวณพุทธสถานด้วยรถบรรทุก, เครื่องขยายเสียง, ป้ายต่อต้าน กักไม่ให้ผู้ร่วมงานไพรด์เริ่มเดินขบวนได้ ระหว่างการปิดล้อมนั้นกลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 ได้มีการใช้คำหยาบคายต่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม, มีการขว้างปาวัตถุ ก้อนหิน และเศษอาหาร ใส่ผู้จัดงานจนได้รับบาดเจ็บ[6][3] ต่อมาได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 100 นาย เข้าสังเกตการณ์เหตุการณ์โดยไม่มีการไม่ห้ามปราม ในทางกลับกันได้แจ้งกับกลุ่มจัดพาเรดให้ปฏิบัติตามคำสั่งของกลุ่มฮักเชียงใหม่ 51 โดยยอมยกเลิกกิจกรรมและแสดงความขอโทษ เหตุการณ์ล้อมเกิดขึ้นเป็นเวลาสี่ชั่วโมงหลังผู้จัดงานตัดสินใจขอโทษและยกเลิกจัดงานในที่สุดด้วยเห็นแก่ประโยชน์ของผู้เข้าร่วมงานซึ่งหวาดกลัว[2][1]

ในบรรดาคำร้องขอและบังคับให้ยกเลิกจัดงานนั้นมีความหลากหลาย เช่น มีการอนุญาตให้จัดแต่ห้ามใช้คำว่า “เกย์” ในชื่องาน[2] ไปจนถึงการสั่งห้ามไม่ให้จัดงานประเภทเดียวกันนี้ในเชียงใหม่ไปอีก 1,500 ปี[7]

มรดก[แก้]

หลังเหตุการณ์ได้มีการตั้ง กลุ่มเสาร์ซาวเอ็ด เพื่อเคลื่อนไหวยุติความรุนแรงต่อกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ, สื่อสารกับสังคมให้รู้จักการอยู่ร่วมกับความแตกต่าง และเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อเหตุการณ์เสาร์ซาวเอ็ด

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Yodhong, Chanan (2020-02-18). ""ยินดียิ่งแล้ว แขกแก้วมาไพรด์" กับเหตุผลที่เราต้องไป Chiang Mai Pride 2020 กัน". เดอะแมตเตอร์. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  2. 2.0 2.1 2.2 "เกย์ไพรด์ยอมถอย หลังรักเชียงใหม่"51 ขวาง อ้างเสียภาพเมืองวัฒนธรรม". ประชาไท. 2009-02-22. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  3. 3.0 3.1 Yodhong, Chanan (2017-02-28). "ด้วยเหตุนี้ไทยแลนด์จึงไม่ใช่แดนสวรรค์ของ LGBT". เดอะแมตเตอร์. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  4. มโนจันทร์เพ็ญ, ณรงค์กร (2019-02-22). "เชียงใหม่ไพรด์ 2019: 10 ปี เสาร์ซาวเอ็ดรำลึก พื้นที่แห่งความเท่าเทียมสำหรับทุกคน". เดอะสแตนดาร์ด. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  5. "แดงเชียงใหม่ปลุกระดมปิดศาลากลาง". โพสต์ทูเดย์. 2010-03-15. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  6. "ถ่อยซ้ำซาก เสื้อแดงเชียงใหม่ปิดล้อมปาน้ำเลือดหมูเน่าใส่กลุ่มเกย์". โอเคเนชั่น. 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-23. สืบค้นเมื่อ 2020-06-21.
  7. คุณากร, [นามแฝง] (2019-02-25). "Riot on the Rainbow Street: จุดพลังไพรด์เชียงใหม่ในรอบ 10 ปี เพื่อ สิทธิ ศักดิ์ศรี และเท่าเทียม". เดอะโมเมนตัม. สืบค้นเมื่อ 2020-06-22.