เลโอนอร์แห่งนาวาร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลโอนอร์
สมเด็จพระราชินีนาถแห่งนาวาร์
ครองราชย์28 มกราคม ค.ศ. 1479 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1479
ราชาภิเษก28 มกราคม ค.ศ. 1479
รัชกาลก่อนหน้าพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน
รัชกาลถัดไปพระเจ้าฟร็องซัวแห่งนาวาร์
ประสูติ2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426
โอลิเต ราชอาณาจักรนาวาร์
สิ้นพระชนม์12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1479 (53 พรรษา)
พระสวามีแกสต็องที่ 4 เคานต์แห่งฟัวซ์
พระบุตรแกสต็อง เจ้าชายแห่งเบียนา
ปิแอร์ บิชอปแห่งอาร์ลส์
ฌ็อง ไวส์เคานต์แห่งนาร์บอน
มารี มาควิสเนสแห่งมอนแฟร์ราโต
มาร์เกอรีต ดัชเชสแห่งบูร์กอญ
แฌน เคานเตสแห่งอาร์แมนแญ็ค
แกร์เตอรีน เคานเตสแห่งกงแดล
ราชวงศ์ตรัสตามารา
พระบิดาพระเจ้าชวนที่ 2 แห่งอารากอน
พระมารดาสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์

เลโอนอร์ (บาสก์: Leonor, สเปน: Leonor) (2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426 – 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1479) เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งนาวาร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1455 ถึง ค.ศ. 1479 และเป็นพระราชินีผู้ปกครองแห่งนาวาร์ช่วงสั้นๆ ในปี ค.ศ. 1479 พระนางได้รับการสวมมงกุฎเมื่อวันที่ 28 มกราคม ค.ศ. 1479 ในตูเดลา

พระราชประวัติ[แก้]

เลโอนอร์เป็นเจ้าหญิงแห่งนาวาร์ ทรงเป็นพระธิดาคนเล็กของพระเจ้าชวนที่ 1 แห่งอารากอนกับสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 1 แห่งนาวาร์ และเป็นพระขนิษฐาของพระเจ้าการ์โลสที่ 4 แห่งนาวาร์และสมเด็จพระราชินีนาถบลังกาที่ 2 แห่งนาวาร์ ทรงเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1426 ในโอลิเตซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศสเปน

เมื่อโตเป็นสาว เลโอนอร์ได้สมรสกับแกสต็องที่ 4 เคานต์แห่งฟัวซ์ชาวฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1441[1] พระมารดาของพระองค์สิ้นพระชนม์ในปีเดียวกันนั้น การ์โลส เจ้าชายแห่งเบียนา พระเชษฐาของพระองค์ได้สืบทอดบัลลังก์นาวาร์ต่อจากพระมารดา ทว่าพระเจ้าชวน พระบิดาของพระองค์ได้ยึดอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ปี ค.ศ. 1442 เลโอนอร์ย้ายไปฝรั่งเศสเพื่อพำนักอยู่ในฟัวซ์ซึ่งเป็นดินแดนในครอบครองของพระสวามี พระองค์ได้ให้กำเนิดบุตรธิดาสิบคน เป็นชายสี่คนและหญิงหกคน ต่อมาในปี ค.ศ. 1455 พระเจ้าชวนได้เพิกถอนสิทธิ์ในการเป็นทายาทแห่งนาวาร์ของการ์โลสและบลังกา พระเชษฐาและพระเชษฐภคินีของเลโอนอร์และแต่งตั้งให้เลโอนอร์เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและข้าหลวงแห่งนาวาร์ สร้างความปิติยินดีให้แก่เลโอนอร์เป็นอย่างมาก พระองค์ได้ย้ายมาพำนักอาศัยอยู่ในซังกูเอซา

พระเชษฐาและพระเชษฐภคินีผู้ถูกเพิกถอนสิทธิ์ของเลโอนอร์ก่อกบฏต่อพระบิดาและเรียกร้องให้คืนสิทธิ์การเป็นทายาทโดยชอบธรรมในนาวาร์ให้แก่การ์โลส พระเจ้าชวนปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว หลังพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1461 บลังกาขึ้นครองราชย์เป็นผู้ปกครองแห่งนาวาร์เพียงในนาม แต่เลโอนอร์ยังคงสำเร็จราชการแผ่นดินต่อไป ในปี ค.ศ. 1462 พระนางลงนามในสนธิสัญญาโอลิเต ยอมรับพระบิดาเป็นกษัตริย์แห่งนาวาร์และยินยอมให้จองจำบลังกา พระขนิษฐา ภายใต้การดูแลของพระนาง

ปี ค.ศ. 1464 บลังกาสิ้นพระชนม์ภายใต้การดูแลของพระนาง เลโอนอร์ถูกต้องสงสัยว่าเป็นผู้บงการวางยาพิษ พระบิดาได้ทำสนธิสัญญายอมรับว่าพระนางเป็นทายาทในนาวาร์และเป็นผู้สำเร็จราชการ (ข้าหลวง) แห่งนาวาร์ แต่ในปี ค.ศ. 1468 พระบิดาได้ปลดพระนางออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ทว่าในปี ค.ศ. 1471 พระองค์ยินยอมให้พระนางเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีกครั้ง ปี ค.ศ. 1472 แกสต็อง พระสวามีของเลโอนอร์ถูกสังหารระหว่างทำสมรภูมิกับศัตรูที่มีอยู่มากมายของภรรยา แต่กระนั้นเลโอนอร์ยังไม่ละทิ้งความหวังที่จะได้สืบทอดตำแหน่งเป็นพระราชินีผู้ปกครองนาวาร์ ความหวังของพระนางเป็นจริงในปี ค.ศ. 1479 เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ในวัย 80 พรรษา เลโอนอร์วัย 53 พรรษาถูกประกาศให้เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งนาวาร์ ตำแหน่งที่ทรงตั้งตารอมาหลายปี ทว่าหลังราชาภิเษกเพียง 15 วันพระองค์กลับสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน ราชอาณาจักรของพระองค์ตกเป็นของฟร็องซัว เฟบูสผู้เป็นพระนัดดา

ทายาท[แก้]

  1. มารี (ค.ศ. 1443–1467) มาควิสเนสแห่งมอนแฟร์ราโต มารดาของเบียงกาแห่งมอนแฟร์ราโต ภรรยาของชาร์ลส์แห่งซาวอย
  2. แกสต็อง (ค.ศ. 1445–1470) สมรสกับแมเดอเลนแห่งฝรั่งเศส พระขนิษฐาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 11 แห่งฝรั่งเศส ฟร็องซัวและแกร์เตอรีน บุตรและธิดาของทั้งคู่ได้สืบทอดบัลลังก์นาวาร์ต่อจากพระอัยกี เลโอนอร์[2]
  3. ปิแอร์ (ค.ศ. 1449–1490) บิชอปแห่งอาร์ลส์
  4. ฌ็อง (ค.ศ. 1450–1500) ไวส์เคานต์แห่งนาร์บอน บิดาของแจร์แมงแห่งฟรัวซ์ พระมเหสีคนที่ 2 ของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน
  5. แฌน (ค.ศ. 1454–1476) ภรรยาของฌ็องที่ 5 เคานต์แห่งอาร์แมนแญ็ค
  6. เอลีโอนอร์ (ค.ศ. 1457–1480)
  7. มาร์เกอรีต (ค.ศ. 1458–1487) ภรรยาของฟร็องซัวที่ 2 ดยุคแห่งเบรอตาญ มารดาของอานแห่งเบรอตาญ พระมเหสีของพระเจ้าชาร์ลที่ 8 แห่งฝรั่งเศสและพระเจ้าหลุยส์ที่ 12 แห่งฝรั่งเศส
  8. แกร์เตอรีน (ค.ศ. 1460–1494) มารดาของอานแห่งฟัวซ์-ก็องแดล พระมเหสีคนที่สามของพระเจ้าอูลาสซโลที่ 2 แห่งฮังการี
  9. อิซาเบล (ค.ศ. 1462–?)
  10. แฌ็คส์ (ค.ศ. 1463–1508)

อ้างอิง[แก้]

  1. The Cambridge Modern History, 84.
  2. 1494: Hieronymous Munzer, Compostela, and the Codex Calixtinus, Jeanne E. Krochalis, The Pilgrimage to Compostela in the Middle Ages, ed. Maryjane Dunn and Linda Kay Davidson, (Routledge, 1996), 96.