เภสัชกรรมสมัยกลาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เภสัชกรรมสมัยกลาง เป็นยุคทางเภสัชกรรมในสมัยกลางของยุโรป ภายหลังการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกต่ออนารยชนเผ่าเยอรมันนั้น บริเวณประเทศอิตาลีได้แปรสภาพกลายเป็นสนามรบจากการุกรานของศัตรูและการแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางผิวหนัง ประชากรล้มตายเป็นจำนวนมาก นับเป็นสถานการณ์อันไม่ส่งเสริมต่อการใฝ่หาความรู้ใหม่ของนักวิทยาศาสตร์หรือนักปราชญ์ทั่วไป ประชากรส่วนมากหันไปพึ่งบทบาททางศาสนาเป็นการทดแทน จนทำให้นักบวชของคริสต์ศาสนามีบทบาททางการรักษาโดยฝาแฝด Damian ซึ่งเป็นนักบวชชาวอาหรับได้รับบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายในสงครามกลางเมืองสมัยจักรพรรดิไดโอคลีเชียนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 3 พวกเขาจึงหันไปอัปถัมภ์ผู้ป่วยด้วยความรู้ทางการแพทย์และเภสัชกรรมในหลายเมืองทั่วศาสนาจักร ในภายหลังได้มีนักบวชคนอื่นๆมาร่วมช่วยเหลืออีกด้วย อย่างไรก็ดีฝาแฝด Damian ก็ยังคงเป็นตัวแทนของเภสัชกรที่คุ้มครองผู้ป่วยยิ่งกว่าการบริการ

การแพทย์และเภสัชกรรมโดยนักบวช[แก้]

ในช่วงยุคกลางตอนต้น ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ของกรีก-โรมันหลงเหลือในยุโรปไม่มากนัก มาร์คัส ออเรลิอัส คาสสิโอโดรัสเสนาบดีในพระเจ้าธีโอดอริคมหาราชได้ถวายคำแนะนำให้พระองค์แต่งตั้งตำแหน่งผู้ปกครองและให้อำนาจในการปกป้องศิลปกรรมทางประวัติศาสตร์รวมทั้งความรู้ช่วงประวัติศาสตร์ คาสสิโอโดรัสได้แก่ตั้งสถาบันการศึกษาทั่วไป ซึ่งการแพทย์และเภสัชกรรมได้รับการบรรจุเป็นส่วนหนึ่งในหนังสือ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ยุคกลาง นอกจากนี้คาสสิโอโดรัสได้ตั้งกฎให้นักบวชที่ปฏิบัติในฐานะแพทย์ด้วยนั้น ต้องมีความรู้ในงานเขียนของไดออสเครติส สามารถอ่านและแปลภาษาละตินในงานเขียนของฮิปโปกราเตสและกาเลนได้ และต้องศึกษาการทำงานของ Caellius Aurelianus แพทย์ชาวโรมันในช่วงศตวรรษที่ 1 ดังนั้นคาสสิโอโดรัสจึงมีบทบาทสำคัญในด้านการแพทย์ที่บริบาลโดยนักบวชและการสืบทอดความรู้ของกรีก-โรมันให้คงอยู่

การแพทย์และเภสัชกรรมโดยนักบวชที่ใช้ความรู้เดิมซ้ำซากตามกฎของคาสสิโอโดรัสทำให้เป็นการปิดโอกาสในการแสวงหาความรู้ทางการแพทย์ใหม่ๆ แต่มีเพียงนักบวชบางส่วนเท่านั้นที่มีโอกาสศึกษาตำราอื่นๆนอกจากที่คาสสิโอโดรัสกำหนดไว้ เช่น บันทึกของพลินิผู้อาวุโส, Scribonius Largus เป็นต้น ซึ่งเป็นการอธิบายการแพทย์ในสมัยโรมัน การใช้สมุนไพรโบราณและวิธีการใช้ยาที่โบราณ ส่วนความรู้ในภาษากรีกส่วนใหญ่ที่ได้รวบรวมและรักษาไว้ยังมิได้มีการนำออกมาใช้ เนื่องจากนักบวชในสมัยนั้นส่วนใหญ่ยังไม่สามารถอ่านภาษากรีกได้ จนกระทั่งในคริสต์ศตวรรษที่ 11 ได้กลับมามีการพัฒนาด้านความรู้อีกครั้งเมื่อคอนสแตนตินแห่งแอฟริกา (Constantine of Africa) ได้แปลบทความใหม่ๆในหลากหลายสาขา ซึ่งได้รับอิทธิพลจากการค้าขายของพ่อค้าชาวอาหรับ และบันทึกภาษากรีกที่ได้เก็บรักษาไว้ก็ได้นำมาใช้เมื่อนักปราชญ์ที่อาศัยในดินแดนกรีกมาค้นพบเอกสารดังกล่าว ซึ่งเป็นรากฐานอารยธรรมในยุคเรอเนซองส์

งานเขียนด้านเภสัชกรรมในสมัยกลางโดยนักบวชส่วนมากเป็นการรวบรวมจากบทความภาษาละตินที่เกี่ยวกับการใช้สมุนไพร เช่น De ciribus herbarum เป็นต้น จนกระทั่งในราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 จึงได้เริ่มมีการรวบรวมสมุนไพรในสมัยกลางอย่างแท้จริง หนังสือ Macer floridus เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องราวของสมุนไพรที่เชื่อว่ากำเนิดในยุคกลางอย่างแท้จริง คือ มิได้อาศัยความรู้จากในสมัยกรีก-โรมัน

ความรุ่งเรืองในซาเลอโน[แก้]

แต่เดิมที่การแพทย์และเภสัชกรรมเป็นไปเพียงตามตำราโบาราณและคำสอนของศาสนาที่อาศัย "ศรัทธา " เป็นหลักในการรักษานั้น การค้นพบสิ่งใหม่ของนักบวชในช่วงหลังประกอบกับทัศนคติต่อพวกนอกศาสนาของประชาชนทำให้เปิดโอกาสการพัฒนาความรู้ของชาวตะวันตกมากขึ้นและช่วยเปิดโอกาสการเรียนรู้ความรู้ที่หายสาบสูญไปและวิทยาการใหม่จากชาวอาหรับ ผ่านซิซิลีและ[[สเปน] ซิซิลีเคยเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมอาหรับเนื่องจากเสียเมือง Syracuse ให้แก่อาหรับ ในสเปนเมืองคอร์โดวากลายเป็นศูนย์กลางอารยธรรมอาหรับตะวันตกในราวคริสต์ศตวรรษที่ 10 และเมืองซาเลอโนที่มีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเมืองส่งผ่านความรู้กรีก-อาหรับ

ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนการแพทย์ในเมืองซาเลอโนขึ้นโดยฆราสาส ซึ่งถือเป็นโรงเรียนการแพทย์โรงเรียนแนกในยุโรปยุคกลาง และส่งผลให้ซาเลอโนเป็นแหล่งของความรู้โดยอิทธิพลของอาหรับ อาทิ Antidotarium ในฉบับของ Donnolo เป็นต้น จนกระทั่งเมื่อคอนสแตนตินแห่งแอฟริกาได้มาเยือนเมืองซาเลอโน ได้เกิดความรู้ใหม่ๆและได้มีการแปลบทความภาษาอาหรับเป็นภาษาละตินครั้งแรก แม้แต่หนังสือสิ่งพิมพ์ของวงการการแพทย์ก็ได้รับอิทธิพลจากงานแปลของคอนสแตนตินเช่นกัน หนังสือทางเภสัชกรรมที่ได้รับการแปลและมีชื่อเสียงเล่มหนึ่งคือ Antidotarium magnum ซึ่งเป็นหนังสือที่เรียบเรียงเกี่ยวกับสูตรตำรับยาอาหรับกว่า 140 คำรับ ในฉบับของ Nicolai ได้มีการแปลเพิ่มขึ้นในอีกหลายภาษาและเป็นหนึ่งในตำราทางเภสัชกรรมที่สำคัญของมหาวิทยาลัยปารีส และยังมีอิทธิพลต่องานด้านเภสัชกรรมจนกระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภายหลังที่จักรวรรดิโรมันตะวันตกสูญสิ้นอำนาจแล้ว การแพทย์ของยุโรปตะวันตกได้ถอยหลังสู่สมัยโบราณซึ่งมีเฉพาะบาทหลวงที่มีบทบาทในการรักษาเท่านั้น[1] อย่างไรก็ดี ความเจริญทางการแพทย์ได้ถ่ายทอดสู่ยุโรปผ่านพ่อค้าชาวอาหรับผู้สืบทอดความรู้จากกรีกและโรมัน ]ได้รับวิทยาการความรู้ทางการแพทย์กรีก-อาหรับผ่านภาษาละติน บัณฑิตชาวสเปนต่างสนใจในการแปลความรู้ของอาหรับ ทำให้เกิดการซึมซับและเรียนรู้อารยธรรมอาหรับอย่างกว้างขวาง และเป็นประเด็นการอภิปรายของนักปราชญ์ทั่วไปในวิทยาลัย อย่างไรก็ดี รากฐานของความรู้ย่อมมาจากอารยธรรมกรีก วิทยาศาสตร์ของกรีกได้กลับสู่ดินแดนยุโรปอีกครั้งด้วย 3 วิธีคือ ผ่านการค้าขายในบริเวณอิตาลีตอนใต้, ผ่านจักรวรรดิไบแซนไทน์ และผ่านชาวอาหรับ จนเป็นรากฐานในอารยธรรมยุคเรอเนซองส์

ในราวคริสต์ศตวรรษที่ 12 - 14 เภสัชกรรมในยุโรปเริ่มแยกออกจากการแพทย์มากขึ้น มีบันทึกเรื่องราวของเภสัชกรของฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1178 ว่า เภสัชกรย่อมเป็นผู้ที่มีความรู้เรื่องยามากกว่าแพทย์ เริ่มมีการตั้งร้านยาเอกชนขึ้นหลายแห่ง อาทิ การตั้ง Apothecary Shop ณ เมืองโคโลญ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี ค.ศ. 1225 ซึ่งส่วนใหญ่ร้านยาเหล่านั้นก็อยู่ในความดูแลของพระ เนื่องจากพระเป็นผู้รวบรวมตำรายาไว้มากและถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ต่อประชาชนทั่วไปน้อย[2]

ระบบการแพทย์ยุโรปแยกเวชกรรมและเภสัชกรรมออกจากกันอย่างเด่นชัดในสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิฟรีดริชที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงประกาศกฎหมายเกี่ยวกับวิชาชีพเภสัชกรรม เมื่อ ค.ศ. 1240 เรียกว่า "Magna Charta of the Professional of Pharmacy"[3] ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินธุรกิจร้านยาเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากรัฐ กำหนดให้วิชาชีพเภสัชกรรมเป็นวิชาชีพอิสระ และต้องไม่มีความสัมพันธ์เชิงธุรกิจกับแพทย์เพื่อป้องกันการเอาเปรียบประชาชน

ต่อมาชาวยุโรปได้เริ่มมีแนวคิดในการจัดทำเภสัชตำรับฉบับทางการขึ้น เริ่มต้นในเมืองฟลอเรนส์ ซึ่งยึดถือเภสัชตำรับฉบับ Nuovo Receptario เรียบเรียงขึ้นในภาษาอิตาลี ถือเป็นเภสัชตำรับมาตรฐานสำหรับร้านยาในเมืองมาตลอดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1498 เป็นต้นมา เภสัชตำรับดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมร้านยาและสมาคมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในความร่วมมือของสองวิชาชีพแรกในโลก หนึ่งในคณะจัดทำเภสัชตำรับที่สำคัญได้แก่บาทหลวงโดมินิแคน (Dominican) ผู้มีบทบาททางการเมืองในเมืองฟลอเรนส์ในขณะนั้น[4]

การจำหน่ายยาและเครื่องเทศในช่วงยุคกลางนับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ผลกำไรงาม ในอังกฤษธุรกิจเหล่านี้ผูกขาดโดยสมาคมร้านของชำ ซึ่งมีอิทธิพลเหนือร้านยาทั่วไปในอังกฤษ ภายหลังความพยายามกว่าหลายปี ร้านยาได้เป็นพันธมิตรกับสภาแพทย์ พระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษทรงได้รับคำชักชวนจากฟรานซิส เบคอน นักปราชญ์และนักการเมืองสมัยนั้น พระองค์จึงมอบเงินทุนเพื่อก่อตั้งบริษัทในปี ค.ศ. 1617 ซึ่งจัดตั้งในรูปแบบบริษัทอิสระในชื่อว่า "Master, Wardens and Society of the Art and Mystery of the Apothecaries of the City of London" ซึ่งขัดแย้งกับสมาคมร้านของชำ บริษัทนี้ถือเป็นองค์กรแรกของเภสัชกรในประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ[5]

อ้างอิง[แก้]

  1. วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เก็บถาวร 2010-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เภสัชกรรมโดยนักบวช เรียกข้อมูลวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Pharm Orient
  3. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ seperate
  4. วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เก็บถาวร 2010-06-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เภสัชตำรับทางการฉบับแรก' เรียกข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552
  5. วิทยาลัยเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตจ เก็บถาวร 2010-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน สมาคมร้านยาแห่งลอนดอน' เรียกข้อมูลวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2552