เกียกกาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เกียกกาย เป็นคำไทยโบราณ หมายถึง กองเสบียงหรือกองพลาธิการ อันเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ [1] มีหน้าที่ในการจัดหาและส่งเสบียง ทั้งอาหาร อาหารสัตว์ สำหรับกองทัพ ส่วนที่เก็บเสบียงของทหาร เช่น อาวุธยุทธภัณฑ์ (ammunition) ไม่รวมอยู่ในหน้าที่ของเกียกกาย ในเกือบทุก ๆ หน่วยของทหาร หน้าที่การขนส่งและจัดหาเสบียงถูกดำเนินการโดยกองทหารเดียวกันคือสำนักงานชื่อว่า กรมเกียกกายทหารบก (ปัจจุบันเป็นกรมพลาธิการทหารบก)

ประวัติเกียกกาย[แก้]

ไฟล์:ภาพล้อฝีพระหัตถ์-เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี.jpg
ภาพล้อเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี
ฝีพระหัตถ์ รัชกาลที่ 6
ปรากฏชื่อ นายพลเกียกกาย

ในสมัยโบราณ มีการจัดการปกครองและบริหารบ้านเมืองแบ่งออกเป็น 4 สาขา ซึ่งเรียกกันว่า "จตุสดมภ์" ประกอบด้วย เวียง วัง คลัง และนา สำหรับงานที่เกี่ยวกับการป้องกันประเทศ จะเป็นหน้าที่ของเวียง ซึ่งได้รวมเอากิจการด้านการส่งกำลังบำรุงเข้าไว้ด้วย ใช้ชื่อว่า "แผนกยุ้งฉาง" และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น "เกียกกาย"

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • พ.ศ. 2448 ได้มีการจัดตั้ง "กรมเกียกกายทหารบก" ขึ้นตรงต่อ กรมยุทธนาธิการโดยรวมเอากิจการสัสดี ไว้ในกรมเกียกกายทหารบกด้วย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

  • พ.ศ. 2469 กระทรวงกลาโหม ได้ออกคำสั่งยุบเลิก กรมยกกระบัตรทหารบก กรมเกียกกายทหารบก และกรมสรรพยุทธ พร้อมทั้งจัดตั้ง "กรมพลาธิการทหารบก" เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2470 มีหน้าที่ จัดซื้อ สร้างซ่อมอาวุธ เก็บรักษา และจ่ายสิ่งของ โดยมีหน้าที่ขึ้นตรง 4 หน่วย คือ กรมช่างแสงทหารบก กรมช่างยุทธภัณฑ์ทหารบก กรมยกกระบัตรทหารบก และกรมโยธาธิการทหารบก

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

  • พ.ศ. 2495 ได้มีการปรับปรุงการจัดหน่วย กรมพลาธิการทหารบกขึ้นใหม่ โดยเอาแบบอย่างจากการจัดของกองทัพสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็ยังมีการปรับปรุงการจัดของ กรมพลาธิการทหารบกอีกหลายครั้ง จนถึงปัจจุบัน กรมพลาธิการทหารบก ได้มีการจัดโดยใช้อัตราเฉพาะกิจ หมายเลข 3500 มีหน่วยขึ้นตรง 20 หน่วย[2]

ภารกิจ กรมพลาธิการทหารบก มีหน้าที่ วางแผน อำนวยการ ประสานงาน แนะนำ กำกับการ ดำเนินการ วิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการผลิต การจัดหา การส่งกำลัง การซ่อมบำรุง และการบริการ กำหนดหลักนิยมและทำตำรา ตลอดจนการฝึกและศึกษา ทั้งนี้ เกี่ยวกับกิจการและสิ่งอุปกรณ์ของเหล่าทหารพลาธิการ มีเจ้ากรมพลาธิการทหารบก เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ

ในปัจจุบันเกียกกายยังคงมีใช้ในราชการทหารเรียกว่า นายทหารเกียกกาย เป็นแผนกหนึ่งในกรมพลาธิการทหารบก มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับการประกอบเลี้ยงกำลังพลรวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สถานที่เนื่องด้วยชื่อ[แก้]

เกียกกาย มีชื่อปรากฏคือ แยกเกียกกาย ตัดกับถนนทหารและถนนสามเสน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร บริเวณโดยรอบมีสถานที่สำคัญ เช่น สัปปายะสภาสถาน (เดิมคือที่ตั้งของโรงเรียนโยธินบูรณะ) กรมการอุตสาหกรรมทหาร กองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เป็นต้น สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ เกียกกาย และท่าน้ำเกียกกาย บริเวณวัดแก้วฟ้าจุฬามณี

สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กทม.อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 4 แห่ง รวมทั้งบริเวณเกียกกาย มูลค่าลงทุนรวมประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท[3][4]

อ้างอิง[แก้]