องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

องค์การเพื่อกรปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ย่อ: ปรส.) (อังกฤษ: Financial Sector Restructuring Authority) เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นโดย พระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พุทธศักราช 2540 เพื่อกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ถูกระงับการดำเนินกิจการทั้ง 58 แห่ง เพื่อให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้สุจริตรวมทั้งการชำระบัญชีของสถาบันการเงิน [1]

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2545 องค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ได้ยุบเลิกกิจการตามมติคณะรัฐมนตรี ในสมัยพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น[2] และในเวลาหลายปีต่อมา คือเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้ลงประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง รายงานการชำระบัญชีที่เสร็จสิ้นขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามไว้ ณ วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ ถือเป็นการปิดฉากการยุบเลิกองค์กร ปรส. และการชำระบัญชีเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ หลังจากใช้เวลาชำระบัญชียาวนานถึง 16 ปี[3]

การประมูลขายทรัพย์สินและคดีความ[แก้]

ปรส. ไม่ได้แยกหนี้ดีและหนี้เสียออกจากกัน จนทำให้ทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการ มูลค่าประมาณ 851,000 ล้านบาท ถูกประมูลขายไปเพียง 190,000 ล้านบาท สร้างความเสียหายแก่ประเทศชาติมหาศาล เรื่องดังกล่าวนำไปสู่การสอบสวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ[4][ไม่แน่ใจ ]

เหตุการณ์นี้มีผลมาจนปัจจุบัน เพราะได้สร้างหนี้สาธารณะให้กับประเทศไทย อีกทั้งรัฐบาลยังต้องชำระเงินจากงบประมาณ ปีละประมาณ 6 หมื่นล้านบาททุกปีมากว่าสิบปีแล้ว[5]

บริษัท เลแมน บราเดอร์ส (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลสินทรัพย์หลักครั้งที่ 2 ประเภทสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ ปรส. จำนวน 17,747 สัญญาจาก สถาบันการเงิน ที่ถูกปิดกิจการ 53 แห่ง ด้วยราคา 11,520 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าราคาตามยอดหนี้คงค้าง 24,600 ล้านบาท 53% จากจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 4 ราย [6]

อ้างอิง[แก้]