หนังสือมือสอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
การขายหนังสือมือสองในญี่ปุ่น

หนังสือมือสอง และหนังสือเก่า เป็นการเรียกชื่อของ หนังสือเก่า หรือมีสภาพต่างจากหนังสือปกติ เพื่อให้ทราบว่ามีการใช้งานแล้ว ลักษณะของหนังสือมือสองโดยหลักๆแล้วจะมี 2 ลักษณะคือ "หนังสือมือสอง" และ "หนังสือเก่า" แต่มักจะเรียกรวมๆว่า "หนังสือมือสอง" เพราะจะเป็นการแสดงถึงหนังสือที่มีผู้อ่านแล้วอย่างน้อย 1 ราย

"หนังสือมือสอง" ในกลุ่มที่ไม่ใช่หนังสือเก่า ซึ่งมีการซื้อขายตามร้านหนังสือมือสองนั้น บางครั้ง เป็นหนังสือที่ยังคงมีขายในท้องตลาด หรือเพิ่งวางตลาดในร้านหนังสือใหม่เมื่อไม่นาน เมื่อนักอ่านสมประสงค์ โดยการอ่านจบแล้วนำมาขายทันที ซึ่งลักษณะนี้เรียกได้ว่า "หนังสือมือสอง" แต่ไม่ใช่ "หนังสือเก่า"

"หนังสือเก่า" ในกลุ่มนี้ มีการจัดพิมพ์มานานแล้ว ซึ่งนักสะสมได้จัดเก็บมาเป็นเวลานาน ซึ่งหาไม่ได้ในร้านหนังสือใหม่อีกแล้วซึ่งมักจะซื้อหากันตามคุณค่าของเนื้อหา ผู้แต่ง และระยะเวลาการพิมพ์ รวมถึงครั้งที่พิมพ์ จึงมักจะเห็นหนังสือลักษณะนี้บางเล่มซื้อขายกันในราคาที่สูงมากเพราะเป็นที่ต้องการของนักอ่าน และนักสะสมจำนวนมาก หรือบางเล่มก็ราคาถูกมากเพราะไม่เป็นที่สนใจของนักอ่านและนักสะสม

ลักษณะทั่วไป[แก้]

หนังสือมือสองเป็นลักษณะเฉพาะของรูปแบบหนังสือ ที่มีการมอบให้ต่อ ๆ กัน หรือเป็นหนังสือเก่าที่มีการนำมาใช้ซ้ำกันไปเรื่อย ๆ หลายคน หรือมีการขายต่อให้ร้านที่รับซื้อ เป็นต้น โดยสภาพแล้วมักขึ้นอยู่กับการจัดเก็บรักษาของนักอ่านแต่ละราย

ตลาดหนังสือมือสอง[แก้]

ร้านหนังสือมือสองมีลักษณะโดดเด่นแยกย่อยออกมาดังต่อไปนี้

ร้านหนังสือเก่า[แก้]

หนังสือเก่าชื่อราชประดิพัทธ์ในสมเด็จพระปิยะมหาราช

ร้านหนังสือลักษณะนี้ จะสรรหาหนังสือเก่า ถึงเก่ามากๆ มานำเสนอเพื่อขายให้แก่ผู้สนใจเฉพาะกลุ่มซึ่งส่วนมากจะเป็นนักสะสม เพราะหนังสือลักษณะนี้บางเล่มไม่สามารถเปิดอ่านได้อีกแล้ว แต่ยังคงสภาพของหนังสือไว้ เพื่อให้นักสะสมมีความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ครอบครอง ดังนั้นหนังสือลักษณะนี้บางเล่มซื้อขายกัน หลักหมื่น หรือหลักแสน หรือมากกว่านั้น(ปี 1994 บิลล์ เกตส์ ได้ประมูลหนังสือเรื่อง The Codex Leicester ด้วยมูลค่า 30.8 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ) ร้านหนังสือประเภทนี้ ท่านอาจจะเห็นหนังสือรุ่นเก่าๆ คงค้างอยู่ในร้านเป็นระยะเวลานาน เพราะบางครั้งผู้ค้าเสาะหามาได้ในราคาต่ำๆ และกำหนดราคาตามคุณค่าของเนื้อหา หรือคุณสมบัติเพื่อรอผู้ซื้อเฉพาะกลุ่มที่ต้องการจริงๆ ซึ่งผู้ค้าพร้อมที่จะคงสต็อกไว้ เพราะเห็นว่าถึงแม้คงสต็อกไว้นานวันก็ยังคงคุ้มค่า

ร้านหนังสือมือสอง[แก้]

ร้านหนังสือประเภทนี้ จะเป็นร้านหนังสือที่รับซื้อหนังสือมือสอง ซึ่งส่วนมากแล้วจะเน้นในการคัดสรรคุณภาพเพราะหนังสือที่นำมาซื้อขายในร้านหนังสือมือสองจำนวนมากนั้นยังคงมีซื้อขายอยู่ทั้งในตลาดหนังสือใหม่ และยังคงมีจำนวนมากในการครอบครองของนักอ่านและนักสะสม หนังสือเหล่านี้ราคาจะไม่สูงมาก จะไม่แพงไปกว่าราคาปกติที่ระบุในปกหนังสือเพราะถ้าขายแพงมากนักอ่านก็จะไปหาซื้อที่ร้านหนังสือใหม่ดีกว่าแต่จะขายในปริมาณมาก และเป็นหนังสือที่หมุนเวียนเร็วซึ่งส่วนมากจะเป็นหนังสือเพื่อความบันเทิง เช่น นิยายที่ได้รับความนิยม หรือหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่น ที่มีการซื้อขายกันง่ายๆ และหมุนเวียนได้รวดเร็วไม่ค้างสต็อกนาน

ร้านหนังสือมือสองแบบผสม[แก้]

ร้านหนังสือประเภทนี้ จะไม่แยกแยะการทำตลาดออกมาชัดเจน แต่จะมีหนังสือให้เลือก ผสมผสานกันทั้งหนังสือมือสองที่ขายในราคาถูก และจะสรรหาหนังสือหายากมานำเสนอแก่ลูกค้าด้วยเรียกว่าจัดหาแบบไหนมาได้ ก็นำมาขายซึ่งระยะหลังก็จะแบ่งโซนชัดเจนภายในร้านออกมา

หนังสือตกรุ่น[แก้]

ความจริงหนังสือลักษณะอย่างนี้ ไม่ควรจะเรียกเป็นหนังสือมือสอง แต่ประการใด แต่เนื่องจากในการทำตลาด มักจะนำมาขายในราคาที่ถูกมาในลักษณะเลหลัง จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่าหนังสือเหล่านั้นคือหนังสือมือสอง ร้านหนังสือเหล่านี้ มักจะรับสัมปทานมาจากสำนักพิมพ์เป็นจำนวนมาก และนำมาขายราคาถูก ซึ่งจะเห็นได้ตามแผงหนังสือนิทรรศการบนห้างสรรพสินค้า, ตามตลาดนัด, และแหล่งหนังสือลักษณะนี้แหล่งใหญ่ได้แก่ย่านผ่านฟ้า เป็นต้น

ระดับคุณภาพของหนังสือมือสอง[แก้]

สภาพของหนังสือมือสองนั้นมีการจัดระดับออกโดยคร่าว ๆ ดังนี้

  • ดีเยี่ยม
คือหนังสือที่มีสภาพดี มีการจัดเก็บอย่างเหมาะสม มีลักษณะใกล้เคียงกับหนังสือใหม่ทุกประการถึงแม้หนังสือบางลักษณะมีการจัดพิมพ์มายาวนาน แต่ได้รับการรักษาอย่างดีจะทำให้หนังสือนั้นมีคุณค่าสูงขึ้น
  • ดี
คือ หนังสือที่มีสภาพค่อนข้างดี โดยตัวอักษรภาพ กระดาษ อาจจะไม่เทียบเท่ากับของใหม่ แต่อาจจะเกิดมีข้อตำหนิ หรือข้อบกพร่องอันเกิดจากการจัดเก็บ หรือเกิดหตุบางประการที่ทำให้หนังสือชำรุดได้ หรือบางครั้งเป็นหนังสือที่ได้รับการปรับปรุงแก้ไขมาอย่างดี โดยมืออาชีพระดับเดียวกับบรรณารักษ์ฝีมือดี ซึ่งหากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหา ประวัติผู้แต่ง ประวัติการจัดพิมพ์ที่ดี เป็นที่น่าสนใจ อาจจะทำให้นักสะสมมองข้ามสภาพที่อาจจะมีข้อบกพร่องไปบ้าง
  • พอใช้
หนังสือที่สภาพอาจจะไม่สมประกอบ ปกหลุด หน้าหลุด ตัวอักษรอาจจะเลือนรางและมีสภาพโทรมอยู่บ้าง แต่หากมีเนื้อหาที่ดี ประวัติผู้แต่งที่ดี ประวัติการจัดพิมพ์ที่ดี และพิจารณาดูแล้วอาจจะนำมาปรับปรุงได้ อาจจะมีนักสะสมยอมรับที่จะเลือกหามาทดลองปรับปรุงแก้ไขดู แต่คุณภาพของหนังสือเหล่านี้จะทำให้ด้อยค่าไปมากทีเดียว
  • แย่
หนังสือที่มีสภาพที่จัดว่าแย่ ส่วนมากมักเกิดจากนิสัยการจัดเก็บของนักอ่านที่ไม่รู้จักรักษา หรืออาจจะไม่รู้วิธีรักษา หรือบางครั้งอาจจะเกิดเหตุที่ทำให้หนังสือชำรุดเกินกว่าจะเยียวยา เช่น โดนน้ำ ปลวกกิน ไฟไหม้ เป็นต้น หนังสือลักษณะนี้ สุดท้ายก็ต้องเป็นขยะซึ่งเป็นสิ่งน่าเสียดาย และในบางครั้งเป็นเหตุให้คุณค่าของตัวหนังสือที่ผู้แต่งดีๆแต่ละยุคต้องสูญหายไป

ความยากง่ายในการรวบรวม หรือจัดหาหนังสือมือสอง[แก้]

ความยากง่ายในการเสาะหาหนังสือมือสองก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมูลค่าราคาหนังสือและคุณค่าทางจิตใจ หนังสือบางเล่มยังหาได้อยู่ บางเล่มอาจจะไม่สามารถหามาทดแทนได้จึงมีการจัดระดับ ดังนี้

หนังสือหายากมาก[แก้]

หนังสือมีความหายาก ถึงยากมาก ได้แก่ หนังสือที่มีประวัติการผลิตและจัดพิมพ์ในระดับตำนาน หรือเหตุผลอื่นๆ เช่น

  • มีประวัติเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ครั้งแรก เช่น หนังสือพิมพ์ฉบับแรกในประเทศไทย (LE PETIT JOURNAL ปี ค.ศ.1908 หรือพ.ศ. 2451), หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ/เดลินิวส์ ฉบับที่ 1 ปีที่ 1 เป็นต้น หรือหนังสือใดๆก็ตามที่มีชื่อเสียงมายาวนาน ซึ่งหากมีผู้ที่เก็บรักษาในฉบับแรกๆ หรือการจัดพิมพ์ครั้งแรก ย่อมจะมีคุณค่าสูงมากจนอาจจะไม่สามารถประเมินค่าได้
  • พิมพ์เนื่องในวโรกาสพิเศษ เช่น หนังสือประมวลภาพพระมหากษัตริย์ในวโรกาสต่างๆ, หนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์ ทั้งดีและร้าย เช่น การชุมนุม 6 ตุลา/14 ตุลา(บางชุด), ประมวลภาพซึนามิ(บางชุด) เป็นต้น
  • หนังสือที่มีประวัติผู้แต่งผู้เขียนคุณภาพและประวัติดี เช่น หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, ป. อินทรปาลิต ซึ่งหนังสือเหล่านี้รวมถึงหนังสือที่ได้รับลายเซ็นจากนักเขียนชื่อดังต่างๆ ย่อมทำให้เพิ่มคุณค่าของหนังสือเหล่านั้นมากยิ่งขึ้น
  • หนังสือที่มีเนื้อหาเป็นที่ร่ำลือ และโด่งดังในกลุ่มนักอ่าน เช่น เพชรพระอุมา, สามก๊ก หรือในบางครั้งแม้แต่หนังสืออ่านเล่น เช่นการ์ตูนญี่ปุ่น หลายๆเรื่อง ยังได้รับการจัดกลุ่มออกเป็นหนังสือหายากระดับเกรด A หรือห้าดาว(หายากมาก) ก็มีเช่นข้าชื่อ โคทาโร่, ซุปเปอร์ด็อกเตอร์ K เป็นต้น

หนังสือเหล่านี้อาจจะรวมถึงหนังสือที่มีจำกัดซึ่งอาจจะเกิดจากการจัดพิมพ์ที่ผิดพลาด หรือมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆที่ทำให้เป็นหนังสือที่หายาก และโด่งดังจนเป็นที่ต้องการของนักสะสม ก็อาจจะรวมอยู่ในหนังสือมือสองระดับนี้ด้วย

หนังสือหายาก[แก้]

หนังสือเหล่านี้ อาจจะเป็นหนังสือที่นักสะสม หรือนักอ่าน พอจะได้เห็นประปราย ซึ่งบางครั้งอาจจะมีคุณสมบัติคล้ายๆ หนังสือหายากระดับ"หายากมาก" แต่อาจจะมีการจัดพิมพ์ ทำซ้ำ จัดทำใหม่ครั้งที่สอง-สาม-สี่ ซึ่งถึงแม้ บางครั้งเป็นเนื้อหาเดียวกัน ผู้แต่งเดียวกัน สำนักพิมพ์เดียวกัน แต่อาจจะยังไม่พึงพอใจสำหรับนักสะสมบางรายได้ ซึ่งนับได้ว่าหนังสือลักษณะนี้ ย่อมจะถูกจัดเป็นหนังสือหายากในระดับธรรมดาๆไป

หนังสือทั่วๆไป[แก้]

หนังสือกลุ่มนี้นึกภาพกันก็คือหนังสือที่มีอยู่ทั่วๆไปในท้องตลาด ซึ่งอาจจะเลือกซื้อหาได้ง่าย อาจจะรวมถึงหนังสือในลักษณะที่ร้านหนังสือใหม่ก็ยังทำการซื้อขายไม่หมดล็อตของการจัดพิมพ์ หรืออาจจะพิมพ์ซ้ำจัดทำใหม่อยู่เรื่อยๆ จนเป็นหนังสือมือสองที่สามารถหาได้ง่ายๆ หรือบางครั้งเลยเถิดไปในลักษณะของการล้นสต็อกทั้งร้านหนังสือใหม่ และหนังสือมือสองไปพร้อมๆกัน

อ้างอิง[แก้]

-