สุวรรณี สุคนธา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สุวรรณี สุคนธา
เกิดสุวรรณี สุคนธ์เที่ยง
1 มีนาคม พ.ศ. 2475
อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย
เสียชีวิต3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 (51 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
อาชีพนักเขียน, บรรณาธิการ
สัญชาติไทย
ช่วงเวลาพ.ศ. 2508–2527
แนวนวนิยาย, เรื่องสั้น, บทความ
หัวข้อบันเทิงคดี, นาฏกรรม, โศกนาฏกรรม, ความรัก
ผลงานที่สำคัญเรื่องของน้ำพุ
เก้าอี้ขาวในห้องแดง
เขาชื่อกานต์
สร้อยแสงแดง
พระจันทร์สีน้ำเงิน
คู่สมรส
  • ทวี นันทขว้าง (หย่า)
  • ศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต

สุวรรณี สุคนธา เป็นนามปากกาของ สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง (1 มีนาคม พ.ศ. 2475 – 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527) นักเขียนชาวไทย

ประวัติ[แก้]

ผลงานจิตรกรรมโดยสุวรรณีที่บ้านปาร์กนายเลิศ

สุวรรณี เกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เป็นบุตรสาวของนายย้อยและนางแตงอ่อน มีพี่ชายหนึ่งคน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนผดุงนารี-กวีพิทยา ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก แล้วมาต่อที่วิทยาลัยเพาะช่างสองปี และคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยสำเร็จการศึกษาเป็นศิลปบัณฑิต สาขาวิชาทัศนศิลป์ วิชาเอกจิตรกรรม เมื่อ พ.ศ. 2494 (รับพระราชทานปริญญาบัตร พ.ศ. 2507) จากนั้นจึงเริ่มเป็นครูศิลปะที่โรงเรียนศิลปศึกษา กรุงเทพมหานคร อยู่สามปี แล้วไปเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยศิลปากร

ระหว่างนั้นได้เริ่มเขียนเรื่องสั้น เรื่องแรกคือ "จดหมายถึงปุก" (พ.ศ. 2508) โดยตีพิมพ์ในสตรีสาร และใช้นามปากกาว่า "สุวรรณี" ต่อมานายประมูล อุณหธูป บรรณาธิการสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ได้ตั้งนามปากกาให้ใหม่ว่า "สุวรรณี สุคนธา" เมื่อได้ส่งเรื่องสั้นให้ตีพิมพ์ในสยามรัฐ ส่วนนวนิยายเรื่องแรกที่เขียนคือ "สายบ่หยุดเสน่ห์หาย" ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เมื่องานเขียนเริ่มเป็นที่นิยมสุวรรณีจึงลาออกจากราชการ และปฏิบัติงานเขียนอย่างเต็มตัว จนถึง พ.ศ. 2515 จึงเป็นบรรณาธิการนิตยสารลลนาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ผลงานการเขียนของสุวรรณีมีจุดเด่นตรงการเน้นตัวละครที่สมจริง ตัวเอกของเรื่องมิใช่คนสวยวิเศษแสนดีตามแบบฉบับที่นิยมกันในสมัยนั้น แต่มีชีวิตจิตใจ อารมณ์ และกิเลสเหมือนบุคคลทั่วไปที่ผู้อ่านสามารถพบเจอได้ในชีวิตจริง กับทั้งตัวละครยังสะท้อนด้านมืดของความเป็นมนุษย์ ภาษาที่ใช้เรียบง่ายแต่งดงามและเป็นเชิงเสียดสีสังคม ทำให้งานเขียนของสุวรรณีมีสีสันและได้รับความนิยมอย่างยิ่ง

ผลงานที่ได้รับรางวัลวรรณกรรม เช่น เขาชื่อกานต์ ได้รับรางวัล ส.ป.อ.ใน พ.ศ. 2513, ด้วยปีกของรัก ได้รับรางวัลชมเชยสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2516, พระจันทร์สีน้ำเงิน ได้รางวัลยอดเยี่ยมจากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519 และ สร้อยแสงแดง ได้รางวัลหนังสือเยาวชนระดับชมเชยจากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2524 เป็นต้น

นอกจากนี้ ผลงานของสุวรรณีตลอดจนเรื่องราวชีวิตของสุวรรณีเองยังได้รับการนำไปจัดทำเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายเรื่อง เช่น พระจันทร์สีน้ำเงิน(โดยใช้ชื่อเรื่อง น้ำพุ) เขาชื่อกานต์ คนเริงเมือง ฯลฯ

ด้านครอบครัว สุวรรณีสมรสกับทวี นันทขว้าง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2533 และอาจารย์ประจำคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีบุตร-ธิดาด้วยกันสี่คน ต่อมาหย่าขาดจากสามีแล้วมาร่วมชีวิตกับนายศิริสวัสดิ์ พันธุมสุต

สุวรรณี สุคนธ์เที่ยง เสียชีวิตขณะไปจ่ายตลาด แล้วถูกวัยรุ่นพยายามชิงรถยนต์เข้าทำร้ายด้วยอาวุธจนเสียชีวิต เพื่อที่จะนำไปขายแล้วหาซื้อยาเสพติด เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527

รายชื่อผลงาน[แก้]

  • เรื่องของน้ำพุ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2545 ช่อง7)
  • สายบ่หยุดเสน่ห์หาย
  • กิ่งฟ้า
  • เขาชื่อกานต์ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2523 ช่อง3)
  • คนเริงเมือง (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2531 ช่อง3 , 2545 ช่อง5 และ 2560 ช่อง7)
  • เก้าอี้ขาวในห้องแดง (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2527 และ 2542 ช่อง3)
  • ความรักครั้งสุดท้าย (สร้างเป็นภาพยนตร์ 2518)
  • คืนนี้ไม่มีพระจันทร์ (สร้างเป็นภาพยนตร์ 2518)
  • จามร
  • เดือนดับที่สบทา
  • ดอกไม้ในป่าแดด
  • ด้วยปีกของรัก
  • ทะเลฤๅอิ่ม (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2545 ช่องITV)
  • ทองประกายแสด (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง 2544 ช่อง5 และ 2555 ช่อง8)
  • แม่ศรีบางกอก
  • พรุ่งนี้ฉันจะรักคุณ (สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 3 ครั้ง 2525 ช่อง3 , 2536 ช่อง5 และ 2542 ช่อง7)
  • เรื่องของเกด
  • ลูกรัก
  • พระจันทร์สีน้ำเงิน
  • สร้อยสวาท
  • สามเงา
  • สร้อยแสงแดง
  • อิตถีเพศ
  • สวนสัตว์
  • ถนนสายรมณีย์
  • วันวาร
  • คืนหนาวที่เหลือแต่ดาวเป็นเพื่อน
  • ผู้หญิงคนนั้นชื่อเสลา
  • ฝันสีรุ้ง
  • กิจกรรมชายโสด
  • เรื่องสั้น บางทีพรุ่งนี้จะเปลี่ยนใจ

อ้างอิง[แก้]

  • กระดาษดอตคอม. (ม.ป.ป.). สุวรรณี สุคนธา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: < Link>. (เข้าถึงเมื่อ: 19 ตุลาคม 2551).