สัมโมหวิโนทนี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สัมโมหวิโนทนี เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในคัมภีร์วิภังค์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ 2 ในบรรดาพระอภิธรรมปิฎก 7 คัมภีร์ คือ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกและปัฏฐาน คัมภีร์นี้เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ หรือพระพุทธโฆสาจารย์แต่งขึ้นโดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหลชื่อมหาปัจจรีย์[1] [2] [3]

ผู้แต่ง[แก้]

ในนิคมคาถาของสัมโมหวิโนทนี ระบุไว้ว่า พระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาคัมภีร์นี้ขึ้นโดยรับการอาราธณาจากพระเถระรูปหนึ่งในคณะวัดมหาวิหาร แห่งลังกาทวีป ซึ่งท่านพักอาศัยอยู่และได้แต่งคัมภีร์หลายคัมภีร์ ณ สถานที่แห่งนี้ โดยการรจนาของท่านได้ทำการรวมเอาสาระแห่งอรรถกถาของอาจารย์ในอดีตไว้[4] ทั้งนี้ คาดว่าสัมโมหวิโนทนีรจนาขึ้นหลังคัมภีร์วิสุทธิมรรค[5]

เนื้อหา[แก้]

คัมภีร์สัมโมหวิโนทนีแบ่งออกเป็น 40 ภาณวาร (หมวด) เนื้อหาหลักเป็นการอธิบายหลักธรรมอันลึกซึ้งของพระอภิธรรม ซึ่งพระอภิธรรมนั้นเป็นการแจกแจงข้อธรรมล้วน ๆ ไม่มีเรื่องราวอธิบายประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของคัมภีร์วิภังค์ อันเป็นคัมภีร์ที่ 2 จากทั้งหมด 7 คัมภีร์ของพระอภิธรรมปิฎกนั้น เป็นการยกหมวดธรรมขึ้นตั้งเป็นหัวข้อเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด แต่แม้จะเป็นการอธิบายข้อธรรมโดยละเอียด ก็ยังยากที่จะพิจารณาให้เข้าใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงลึก

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้รจนาจึงใช้วิธีการอธิบายด้วยการยกอุปมาบ้าง ด้วยการยกตัวอย่างจากเรื่องราวจากพุทธประวัติของพระโคตมพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าในอดีตบ้าง เรื่องราวในอดีตบ้าง มีการวินิฉัยคำศัทพ์ที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์บ้าง (วินิจฉัยโดยอรรถ) นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายข้อธรรม โดยโยงกับวิธีการปฏิบัติตามแนวทางวิปัสสนาต่าง ๆ เช่น การพิจารณาอสุภกรรมฐาน และตามแนวทางสติปัฏฐาน 4 เป็นอาทิ

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า สัมโมหวิโนทนี มีลักษณะเป็นทั้งสารานุกรม โดยการอธิบายหลักธรรมด้วยการอุปมาและอ้างอิงข้อมูลและเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้ว คัมภีร์นี้ยังมีลักษณะเป็นพจนานุกรม ด้วยการวินิฉัยคำศัทพ์ที่ปรากฏ และยังมีลักษณะเป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ในข้อหลังนี้มีส่วนทำให้คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี มีส่วนคล้ายคลึลงกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธโฆสะอยู่ไม่น้อย ดังที่ระบุไว้แล้วว่า คัมภีร์สัมโมหวิโนทนีนี้รจนาขึ้นหลังคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงอาจได้รับอิทธิพลจากกันไม่มาก็น้อย [6]

ตัวอย่างเนื้อหา[แก้]

ตัวอย่างการอธิบายศัทพ์วินิฉัย เช่น ในอายตนวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ อายตนวิภังคนิเทศ (บาลีข้อ 97) วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ ท่านผู้รจนาได้ทำการอธิบายศัพท์ที่ปรากฏในเนื้อความตอนนี้เช่น "สุณาตีติ โสตํ ชื่อว่าโสต เพราะอรรถว่าได้ยิน" และ "อตฺตโน ลกฺขณํ ธารยตีติ ธมฺมา ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่าย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน" เป็นต้น [7]

ตัวอย่างการอธิบายโดยยกอุปมาอุปมัย เช่นใน ปัจจยาการวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ อรรถกถาปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ ว่าด้วยการอธิบายปฏิจจสมุปบาท ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ ได้ใช้วิธีการอุปมาลักษณะต่าง ๆ เพื่ออธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทได้อย่างแหลมคมและเห็นภาพ อีกทั้งยังมีความละเอียดลึกซึ้ง เฉพาะวิภังค์นี้มีความยาวกว่า 100 หน้ากระดาษพิมพ์แบบสมัยใหม่ แต่โดยคร่าว ๆ แล้วท่านผู้รจนาได้อธิบายนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ 4 นัยหลัก ๆ เพื่อแสดงถึงเหตุและปัจจัยอันก่อให้เกิดภพชาติ และการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด และในท้ายที่สุดผู้รจนาย้ำว่า บัณฑิต "พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ประกอบความ เพียรเนือง ๆ ก็จะพึงได้ความหยั่งลงในประเภทแห่งปัจจยาการอันลึกซึ้งนี้ได้ [8]

ตัวอย่างการอธิบายโดยยกเรื่องราว เช่นในอารรถกถาขุททกวัตถุวิภังค์ ว่าด้วยความมัวเมาต่าง ๆ ท่านผู้รจนาได้ยกตัวอย่างเรื่องเล่าและตัวอย่างจากพุทธประวัติมาประกอบให้เกิดความเข้าใจเด่นชัดขึ้น เช่น ในการอธิบายส่าวนของอัตริจฉตานิทเทส หรือการอธิบายความอยากได้เกินประมาณ ท่านได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวของพระเจ้าพาราณสีหลงไหลนางกินนรีจนถึงกับทิ้งพระเทวี แต่สุดท้ายก็ต้องสูญเสียทั้งพระเทวีและนางกินนรีเพราะความละโมบ เป็นต้น [9]

ตัวอย่างการอธิบายแนวทางการปฏิบัติ เช่นการระบุถึงวิธีมนสิการ หรือพิจารณาธาตุโดยอาการต่าง ๆ 10 อย่างอันประกอบขึ้นมาเป็นร่างกาย ในส่วนของธาตุวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ ธาตุวิภังคนิเทศ วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ โดยท่านผู้รจนาได้เน้นหนักว่า การวิปัสสนาเพื่อบรรลุพระอรหัตนั้น "พึงชำระปาริสุทธิศีล ๔ ให้บริสุทธิ์ เพราะว่าการเจริญกรรมฐานย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้มีศีล" แล้วชี้ว่า "วิธีทำการชำระจตุปาริสุทธิศีลนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ" จากนั้นจึงพิจารณา หรือมนสิการ อาการต่าง ๆ ดังนี้ เช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น [10]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วรรณคดีบาลี. หน้า 78
  2. The Life and Work of Buddhaghosa. หน้า 84
  3. ประวัติคัมภีร์บาลี. หน้า 104
  4. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 2 หน้า 1041 - 1042
  5. Ven. P. A. Payutto. A note on interpreting the principle of Dependent Origination
  6. Ven. P. A. Payutto. A note on interpreting the principle of Dependent Origination
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1 หน้า 163
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1 หน้า 438 - 574
  9. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 2 หน้า 871 - 872
  10. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1 หน้า 209 - 266
  11. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 107
  12. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 112
  13. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 114
  14. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 116

บรรณานุกรม[แก้]

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • Ven. P. A. Payutto. A note on interpreting the principle of Dependent Origination ใน http://www.abuddhistlibrary.com/Buddhism/B%20-%20Theravada/Teachers/Ven%20Payutto/Dependent%20Origination/Appendix.htm
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพมหานคร. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 2