สหการนิยม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สหการนิยม (อังกฤษ: syndicalism) เป็นกระแสในขบวนการกรรมกรเพื่อสถาปนาองค์การกรรมกรในท้องถิ่น และผลักดันข้อเรียกร้องและสิทธิกรรมกรผ่านการนัดหยุดงาน ลัทธิดังกล่าวมีกิจกรรมมากที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นกระแสที่โดดเด่นในฝ่ายซ้ายปฏิวัติในทศวรรษก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอุบัติ เนื่องจากลัทธิมากซ์ทรรศนะดั้งเดิมยังเป็นสายปฏิรูปเสียมากในเวลานั้น[1]

องค์การสหการนิยมที่สำคัญ ได้แก่ สมาพันธ์แรงงานสาธารณชนในประเทศฝรั่งเศส, สมาพันธ์กรรมกรแห่งชาติในสเปน, สหภาพสหการนิยมอิตาลี สหภาพกรรมกรอิสระเยอรมนี, และสหพันธ์แรงงานภูมิภาคอาร์เจนตินา ส่วนคนงานอุตสาหกรรมแห่งโลก สหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์ และสหภาพใหญ่เดียวแคนาดา แม้ไม่ถือว่าตนเป็นพวกสหการนิยม แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ถือว่ารับกระแสนี้ไปด้วย องค์การสหการนิยมจำนวนหนึ่งมีความเชื่อมโยงกับสมาคมกรรมกรระหว่างประเทศ แต่สมาชิกบางส่วนออกไปตั้งสมาพันธ์กรรมกรระหว่างประเทศ ซึ่งก่อตั้งในปี 2018 แทน

หลักการ[แก้]

สหการนิยมมิได้มาจากทฤษฎีหรืออุดมการณ์ที่มีการเสริมรายละเอียดอย่างเป็นระบบอย่างเดียวกับที่นักลัทธิมากซ์ได้รับจากสังคมนิยม แม้ว่าการศึกษาของกรรมกรมีความสำคัญอยู่ต่อนักกิจกรรมที่ยึดมั่นบางส่วน แต่นักสหการนิยมไม่เชื่อใจปัญญาชนกระฎุมพี โดยต้องการคงการควบคุมของกรรมกรเหนือขบวนการ ความคิดของนักสหการนิยมมีการสาธยายในจุลสาร ใบปลิว สุนทรพจน์และในหนังสือพิมพ์ของขบวนการเอง งานเหล่านี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยการเรียกร้องให้ลงมือและการอภิปรายยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น งานเรื่อง การสะท้อนเรื่องความรุนแรง ของนักปรัชญา ฌอร์ฌ โซแรล เผยแพร่ความคิดสหการนิยมต่อสาธารณชนในวงกว้าง

ขอบเขตว่าจุดยืนสหการนิยมสะท้อนถึงทัศนะของผู้นำ และพลพรรครับจุดยืนเหล่านั้นมากน้อยเพียงใดนั้นยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ นักประวัติศาสตร์ ปีเตอร์ สเติร์นส์ ออกความเห็นต่อสหการนิยมในฝรั่งเศส และสรุปว่ากรรมกรส่วนใหญ่ไม่รับเป้าหมายระยะยาวของสหการนิยม และว่าการใช้อำนาจครอบงำของสหการนิยม (syndicalist hegemony) เป็นเหตุให้ขบวนการกรรมกรฝรั่งเศสเติบโตค่อนข้างช้าในภาพรวม เขาอ้างว่ากรรมกรที่เข้าร่วมขบวนการสหการนิยมไม่ยินดียินร้ายต่อปัญหาเรื่องหลักนิยม สมาชิกภาพในองค์การสหการนิยมเป็นเรื่องบังเอิญเสียบางส่วน และผู้นำไม่สามารถชักจูงกรรมกรให้รับความคิดสหการนิยมได้ ฝ่ายนักรัฐศาสตร์ เฟร็ด ริดลีย์ มองว่า ผู้นำมีอิทธิพลมากในการร่างความคิดสหการนิยม แต่สหการนิยมไม่ใช่เพียงเครื่องมือของผู้นำไม่กี่คน แต่เป็นผลผลิตอย่างแท้จริงของขบวนการกรรมกรฝรั่งเศส ดาร์ลิงตัน เสริมว่า สมาชิกส่วนใหญ่ใน ITGWU (สหภาพการขนส่งและแรงงานสาธารณชนไอร์แลนด์) ไอร์แลนด์รับปรัชญาการปฏิบัติโดยตรงของสหภาพ เบิร์ต อัลเทน่า แย้งว่า แม้มีหลักฐานความเชื่อของกรรมกรทั่วไปน้อย แต่บ่งชี้ว่าพวกเขาตระหนักถึงข้อแตกต่างทางหลักนิยมระหว่างกระแสต่าง ๆ ในขบวนการกรรมกรและสามารถปกป้องทัศนะของพวกตนได้ เขาชี้ว่ากรรมกรน่าจะเข้าใจหนังสือพิมพ์สหการนิยมและถกเถียงประเด็นการเมืองได้

นักสหการนิยมเห็นด้วยกับการเรียกรัฐว่าเป็น "คณะกรรมการบริหารของชนชั้นปกครอง" ของคาร์ล มากซ์ โดยมองว่าระเบียบทางเศรษฐกิจของสังคมตัดสินระเบียบทางการเมือง และตัดสินว่าระเบียบเศรษฐกิจไม่สามารถโค่นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงระเบียบการเมือง พวกเขามองว่าแวดวงเศรษฐกิจเป็นสนามหลักสำหรับการต่อสู้ด้านปฏิวัติ และการเข้าร่วมในการเมืองอาจเป็นได้อย่างมากก็เป็น "เสียงสะท้อน" ของการต่อสู้ทางอุตสาหกรรม พวกเขารู้สึกกังขาต่อการเมืองแบบรัฐสภา สหภาพแรงงานสหการนิยมประกาศตนว่าเป็นกลางทางการเมืองและปลอดจากการควบคุมของพรรคการเมือง โดยให้เหตุผลว่าพรรคการเมืองรวมกลุ่มคนตามทัศนะทางการเมือง ซึ่งประกอบด้วยคนหลายชนชั้น ส่วนสหภาพแรงงานเป็นองค์การของชนชั้นกรรมกรเท่านั้น ฉะนั้นจึงไม่แบ่งแยกด้วยเหตุผลทางการเมือง[2]

นักสหการนิยมสนับสนุนการปฏิบัติโดยตรง รวมทั้งการทำงานให้พอตามกฎ (working to rule) การขัดขืนเงียบ การบ่อนทำลายและการนัดหยุดงาน โดยเฉพาะการนัดหยุดงานทั่วไปเป็นยุทธวิธีในการต่อสู้ทางชนชั้น แทนการปฏิบัติโดยอ้อมเช่นการเมืองแบบเลือกตั้ง[3] นักสหการนิยมมองว่าขั้นสุดท้ายก่อนการปฏิวัติจะเป็นการนัดหยุดงานทั่วไป[4]

นักสหการนิยมยังคงคลุมเครือในเรื่องสังคมที่จะเข้ามาแทนที่ทุนนิยม โดยอ้างว่าเป็นไปไม่ได้ในการพยากรณ์ในรายละเอียด สหภาพแรงงานถูกมองว่าเป็นตัวอ่อนของสังคมใหม่นอกเหนือจากเป็นวิธีการต่อสู้ในสังคมเก่า นักสหการนิยมโดยทั่วไปเห็นตรงกันว่าในสังคมเสรี กรรมกรจะเป็นผู้จัดการการผลิตเอง กลไกต่าง ๆ ของรัฐจะถูกแทนที่ด้วยการปกครองขององค์การกรรมกร ในสังคมเช่นว่าปัจเจกชนจะได้รับการปลดปล่อย ทั้งในวงเศรษฐกิจและในชีวิตส่วนตัวและสังคม[5]

การเดินขบวนโดยสหภาพสหการนิยมอาร์เจนตินา เอฟโออาร์เอ. ในปี ค.ศ. 1915

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Hobsbawm 1973, pg. 72.
  2. Darlington 2008, pg. 22–28.
  3. Darlington 2008, pg. 32–39.
  4. Darlington 2008, pg. 39–42.
  5. Darlington 2008, pg. 42–45.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Darlington, Ralph (2008-04-23). Syndicalism and the Transition to Communism: An International Comparative Analysis. Aldershot: Ashgate. ASIN B01K91M5KW. ISBN 9780754636175.
  • Hobsbawm, Eric (1999-10-07) [1973]. Revolutionaries. London: Abacus. ASIN B01LPDV8ZG. ISBN 9780349112251.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]