สตรีสาร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สตรีสาร
บรรณาธิการ นิลวรรณ ปิ่นทอง
ประเภท ผู้หญิง
นิตยสารราย รายสัปดาห์
วันจำหน่ายฉบับแรก พ.ศ. 2491
วันจำหน่ายฉบับสุดท้าย
— (ฉบับที่)
มีนาคม พ.ศ. 2539
 ?
บริษัท บริษัท การพิมพ์สตรีสาร จำกัด
ประเทศ ประเทศไทย
ภาษา ไทย

สตรีสาร เป็นนิตยสารรายสัปดาห์สำหรับผู้หญิง และ ครอบครัว ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2491 ปิดตัวในปี พ.ศ. 2539 ก่อตั้งโดย เรวดี เทียนประภาส
มีบรรณาธิการคือ นิลวรรณ ปิ่นทอง

ภายในเล่มประกอบด้วย เรื่องสั้น นวนิยาย และเนื้อหาเกี่ยวกับการเรือน อาหาร การฝีมือ แบบเสื้อ สุขภาพและความงาม ใช้สตรีเป็นภาพปก พิมพ์สีสวยงาม[1] นิตยสารสตรีสารเฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปี พ.ศ. 2500-2520 เคยมียอดจำหน่ายสูงถึง 20,000 ฉบับ คอลัมน์ในนิตยสาร จัดได้เป็น 3 วัย คือ มีคอลัมน์ยอดฮิตอย่างถ้อยแถลง โดย บก.นิลวรรณ และนิยายที่แจ้งเกิดนักเขียนดังชั้นครู เช่น กฤษณา อโศกสิน โบตั๋น และ ว.วินิจฉัยกุล เนื้อหาของนวนิยายจะเป็นแนวสะท้อนความเป็นจริงในด้านที่ไม่รันทดเกินไปจนหาทางออกไม่ได้ ไม่ไร้สาระจนหาแก่นสารไม่ได้ ไม่ชิงรักหักสวาทโดยขาดเหตุผล

จากปกฉบับปฐมฤกษ์รูปนางรจนา เพื่อประกาศว่าผู้หญิงควรมองความงามจากภายใน นิลวรรณ ปิ่นทอง ยังต่อยอดการทำนิตยสารเด็ก ดรุณสาร (ปิดตัวในปี 2504)[2]

นิตยสาร สตรีสาร ได้รับเลือกเป็นวารสารดีเด่นในโอกาส 700 ปี ลายสือไทย ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2527 ได้รางวัลพระเกี้ยวทองคำ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะนิตยสารส่งเสริมภาษาไทยดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2530

ประวัติ[แก้]

นิตยสาร สตรีสาร เริ่มจัดพิมพ์และวางตลาด ครั้งแรกเป็นฉบับที่ 1 ปีที่ 1 ปี พ.ศ. 2491 โดยระยะแรกออกเป็นรายปักษ์ แล้วภายหลังเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา ผู้ก่อตั้งเริ่มแรกคือคุณเรวดี เทียนประภาส (ผู้เป็นเจ้าของโรงเรียนเรวดี และเป็นมารดาของสุรางค์ เปรมปรีดิ์ อดีตผู้บริหารช่อง 7สี และมีนิลวรรณ ปิ่นทอง ถือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารสตรีสารด้วยผู้หนึ่ง และเข้ามารับหน้าที่เป็นบรรณาธิการเป็นคนที่สองรวมทั้งรับหน้าที่บริหารพร้อมกันไปด้วยตั้งแต่ปี 2492

เนื้อหานิตยสาร มีครบทุกเพศ ทุกวัย ให้สาระครบครันทั้งหมวดภาษาและวรรณกรรม หมวดสารัตถคดี หมวดชีวิตครอบครัว หมวดงานอดิเรก หมวดสุขภาพและความงาม และภาคพิเศษสำหรับเด็กซึ่งเป็นนิทานและเรื่องสำหรับเด็ก และยังได้ออกนิตยสารสำหรับเด็กอีกฉบับหนึ่งคือ ดรุณสาร ในปี 2498 โดยทำควบคู่ไปกับสโมสรปรียา ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมสำหรับเด็ก แต่ ดรุณสาร ต้องปิดตัวไปในที่สุดในปี 2504 เพราะไม่มีแหล่งเงินสนับสนุนในการจัดทำ แต่ภายหลังปี 2514 ได้นำ ดรุณสาร กลับมา โดยอยู่ในรูปแบบภาคพิเศษสำหรับผู้เยาว์แทรกอยู่ในสตรีสาร นิตยสารสตรีสารเฟื่องฟูสูงสุดในช่วงปี 2500-2520

หลังจากปีนี้จนถึงปี 2539 เริ่มมีนิตยสารสำหรับผู้หญิงเกิดขึ้นมาใหม่มากหลากหลายแนวและเข้าสู่ยุคบริโภคนิยมเต็มที่ ถึงแม้จะมีการปรับตัวมาโดยตลอด ผนวกกับยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตลอดเวลา กอรปกับวัยและสุขภาพของคุณนิลวรรณที่ย่างเข้าสู่วัยชราเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ท่านจึงตัดสินใจยุติการผลิตนิตยสาร สตรีสาร ฉบับสุดท้ายคือ ฉบับที่ 52 เดือนมีนาคมปี พ.ศ. 2539 ซึ่งครบ 48 ปีพอดี และตัวท่านก็อายุ 80 ปีแล้วเช่นกัน[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]