ศุภลักษณ์ อัมพุช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ศุภลักษณ์ อัมพุช
เกิดพ.ศ. 2498 (68 ปี)
อาชีพนักธุรกิจ
บิดามารดาศุภชัย อัมพุช
บุญเลี้ยง อัมพุช

ศุภลักษณ์ อัมพุช (เกิด พ.ศ.2498) ชื่อเล่น : แอ๊ว ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริหารกลุ่มเดอะมอลล์ จากข้อมูลของนิตยสาร ฟอบส์ ฉบับภาษาไทย ในปี พ.ศ.2566 ศุภลักษณ์เป็นเศรษฐินีที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ 69,420 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 15 ของไทย

ประวัติ[แก้]

ศุภลักษณ์ อัมพุช เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายศุภชัยและนางบุญเลี้ยง (สกุลเดิม กันเขตต์) มารดาถึงแก่กรรมตั้งแต่เธอยังเด็ก

ศุภลักษณ์สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1 ศึกษาต่อระดับปริญญาโทในสาขาวิชาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเพอร์ดู สหรัฐ[1] กลับมาเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ สาขาเภสัชอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่ช่วงหนึ่ง รวมถึงการเป็นผู้แทนขายยา บริษัท แอตแลนติก จำกัด ก่อนตัดสินใจมาช่วงทำงานต่อจากคุณพ่อ นายศุภชัย ผู้ก่อตั้งกลุ่มเดอะมอลล์ ซึ่งขณะนั้นกำลังทำโครงการเดอะมอลล์ ราชดำริ เมื่อ พ.ศ. 2524 แต่ก็ประสบกับภาวะขาดทุนทำให้ต้องปิดสาขานี้ไปเมื่อ พ.ศ. 2531

เมื่อไม่สำเร็จจากโครงการในเมือง เดอะมอลล์เข้าหากลุ่มลูกค้าย่านชานเมืองแทน โดย พ.ศ. 2532 จากพื้นที่สวนมะพร้าวย่านฝั่งธนบุรีถูกพัฒนาเป็นเดอะมอลล์ ท่าพระ ต่อมา พ.ศ. 2534 เปิดเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน พ.ศ. 2537 เปิดตัวพร้อมกันทั้งสาขาบางแคและเดอะมอลล์ 8 สาขาบางกะปิ จากนั้นได้จับกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นเป็นครั้งแรกด้วยการเปิดโครงการเอ็มโพเรียม ร่วมกับกลุ่มโสภณพนิช เมื่อ พ.ศ. 2540 แม้จะเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง แต่รายได้ของดิเอ็มโพเรียมในปีแรกก็ทำได้ดี ภายหลังได้มีโครงการ ดิ เอ็มดิสทริค ประกอบไปด้วย 3 ศูนย์การค้าหลัก คือ เอ็มโพเรียม เอ็มควอเทียร์ และเอ็มสเฟียร์[2] จนกระทั่งเปิดสยามพารากอนจากการร่วมทุนกับสยามพิวรรธน์ เธอรับบทบาทเป็นกำลังหลักในการสร้างสยามพารากอนให้เป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวที่สำคัญของกรุงเทพ[3]

ด้านตำแหน่งการทำงาน ศุภลักษณ์เริ่มทำงานในตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายการค้า บริษัท เดอะมอลล์ ดีพาร์ท เม้นท์สโตร์ จำกัด ปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท ดิ เอ็มโพเรียม ช้อปปิ้ง คอมเพล็กซ์ จำกัด และรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามพารากอน ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด[4]

พ.ศ. 2564 ศุภลักษณ์ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศฝรั่งเศส เชอวาลีเยเลฌียงดอเนอร์ ชั้นอัศวิน (Chevalier de la Légion d'Honneur) เพื่อยกย่องและเชิดชูบุคคลที่มีผลงานโดดเด่น ในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแฟชั่นแบรนด์หรูของฝรั่งเศสในประเทศไทย[5] จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ.2566 ศุภลักษณ์เป็นเศรษฐินีที่มีทรัพย์สินอยู่ที่ 69,420 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 15 ของไทย จากนิตยสาร ฟอบส์

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประวัติ ศุภลักษณ์ อัมพุช ประธาน กรรมการบริหาร เดอะมอลล์ กรุ๊ป". ประชาชาติธุรกิจ.
  2. "ย้อนอดีต พลิกอนาคตเดอะมอลล์กรุ๊ป เมื่อ M จะ Transformation เล็กๆ ทำไม่เป็น". marketeeronline.
  3. "ศุภลักษณ์ อัมพุช ผู้หญิงที่กล้าได้กล้าเสีย". positioningmag.
  4. "ศุภลักษณ์ อัมพุช นางสิงห์เหล็ก ค้าปลีก". positioningmag.
  5. ""ศุภลักษณ์ อัมพุช" ปลื้มใจ ได้รับมอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของฝรั่งเศส". ไทยรัฐ.