ศาลภัญชิกา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รูปศาลภัญชิกาใต้ต้นไม้บนโตรณะตะวันออกที่สถูปสาญจีซึ่งเป็นพุทธศาสนสถาน นิยมบรรยายรูปนี้ว่าเป็นรูปของยักษี
รูปศาลภัญชิกาลำดับที่หนึ่ง (ทรรปณสุนทรี; โฉมงามกับกระจก) จันนเกศวเทวาลัย เบลูร์ รัฐกรณาฏกะ, ศตวรรษที่ 12, ศิลปะโหยสละ รูปนี้เป็นศาลภัญชิกาในท่ายืนตริภังค์

ศาลภัญชิกา หรือ สาลภัญชิกา (ศาลภํชิกา [ศาละภัญชิกา], อักษรโรมัน: shalabhanjika หรือ salabhanjika) เป็นคำในศิลปะอินเดียและวรรณกรรมอินเดียที่มีความหมายหลายแบบ ในศิลปะพุทธ คำนี้ใช้เรียกรูปสตรีหรือยักษียืนข้างหรือยืนเกาะต้นไม้ หรือใช้เรียกเหตุขณะพระนางสิริมหามายาทรงประทับข้างต้นสาละ ขณะทรงให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะ[1] ในศิลปะฮินดูและไชนะ ไม่ได้มีความหมายเฉพาะเจาะจงเท่าในศิลปะพุทธ คำนี้อาจใช้เรียกประติมากรรมใด ๆ ก็ตามที่ประดับบนผนังไม่ให้ดูจืดชืดน่าเบื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นประติมากรรมรูปสตรี[2] นอกจากนี้ ในวรรณกรรมพุทธยังปรากฏใช้คำว่า สาลภัญชิกา เรียกเทศกาลอินเดียโบราณหนึ่งซึ่งฉลองเมื่อต้นสาละออกดอก ในบริลทที่เปรียบเทียบกับประสูติกาลของพระโคตมพุทธเจ้า[3]

ในวรรณกรรม นอกจากความหมายทางประติมากรรมแล้ว ยังอาจหมายถึงตุ๊กตา เทวดา ภูติ ไปจนถึงโสเภณี ทั้งหมดนี้ขึ้นกับบริบท[2] ในบริบทเหล่านี้ยังปรากฏคำอื่น ๆ เช่น มทนไก (madanakai), มทนิกา (madanika) หรือ ศิลาพาลิเก (shilabalika) โดยเฉพาะในวรรณกรรมภาษากันนาดา ส่วนในบริบทของกวีนิพนธ์และดนตรีอินเดีย คำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับจังหวะ ปัถยา (pathyā) ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวะย่อย จันทะ (chanda) ในกลุ่ม จตุษปาทิ (catuṣpadi) ใช้สำหรับการเปลี่ยนผ่าน[4]

นอกจากจะหมายถึงเหตุการณ์ที่พระนางสิริมหามายาให้ประสูติแก่เจ้าชายสิทธัตถะแล้ว ตามสถูปในศาสนาพุทธยังปรากฏประติมากรรมที่แสดงสตรีเคียงต้นไม้ ส่วนมากมักจับหรือเกาะกิ่งไม้นั้นในลักษณะคล้ายกับพระนางสิริมหามายา แต่ในบริบทเหล่านี้สาลภัญชิกาจะหมายถีงรุกขเทวดาในคติชนของอินเดียโบราณ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการมีบุตร[5]

ศัพทมูล[แก้]

คำว่า ศาลภัญชิกา ประกอบมาจากคำภาษาสันสกฤต คือ ศาลา และ ภัญชิกา คำว่า ภัญชิกา มีความหมายว่า 'การหัก, รบกวน" ส่วน ศาลา หมายถึง "บ้าน, พื้นที่, พื้นที่ปิด, ผนัง, ศาลา" เช่นในคำว่า ธรรมศาลา หรือ โคศาลา[6] คำเดียวกันนี้ยังสามารถหมายถึงต้นสาละซึ่งเป็นไม้มีค่า[6] นักวิชาการด้านภาษาสันสกฤต วอเกล (Vogel) ระบุว่าความหมายอันหลากหลายของ ศาลภัญชิกา ในธรรมเนียมต่าง ๆ ของอินเดีย อาจเกี่ยวเนื่องกับความสำคัญของต้นสาละ ซึ่งในศาสนาพุทธมองต้นสาละเกี่ยวกับประสูติกาลของพระโคตมพุทธเจ้า และในฮินดูกับไชนะมองต้นสาละในฐานะไม้มีค่าสำหรับแกะสลักประติมากรรม[3]

วอเกลระบุว่าคำว่า ศาลภัญชิกา ไม่ปรากฏในวรรณกรรมยุคพระเวทหรือในวรรณกรรมภาษาบาลี ไปจนถึงมหากาพย์ที่สำคัญของอินเดีย แต่มีปรากฏในวรรณกรรมยุคคลาสสิกของอินเดียจากต้นสหัสวรรษที่ 1 เช่น พุทธจริต (Buddhacarita, ราวปี 100) โดยอศวโฆษะ ส่วนคำที่คล้ายกัน ซึ่งคือ สาสตรี (salastri, หมายถึงสตรีที่เกิดออกจากต้นสาละ) ปรากฏในวรรณกรรมฮินดู นาฏยศาสตระ ที่วรรค 2.83–84[3] ข้อเท็จจริงเหล่านี้อาจสะท้อนว่าวรรณกรรมเขียนตามธรรมเนียมและความนิยมในการแกะสลักไม้สาละ[3] คำที่คล้ายกันยังรวมถึง มทนิกา (madanika), ปุตรีลิกา (putrilika), สตมภปุตรี (stambhaputri), สตมภปุตริกา (stambhaputrika) และ ปุตริกา (putrika)[7] ประสันนะ อาจารยะ (Prasanna Acharya) นักวิชาการภาษาสันสกฤต และผู้นิพนธ์ สารานุกรมสถาปัตยกรรมฮินดู (An Encyclopedia of Hindu Architecture) ระบุว่า ศาลา และ ภัญชิกา ที่ปรากฏในวรรค 2.79 ของ นาฏยศาสตระ เป็นบริบทที่หมายถึง "รูป [หรือประติมากรรม] ที่ทำจากไม้"[8]

วอเกล, อาจารยะ และนักวิชาการคนอื่น ๆ ให้ข้อสรุปว่าในศิลปกรรมและวรรณกรรมของฮินดูกับไชนะ คำนี้ใช้หมายถึงรูปปั้นใด ๆ บนผนัง เสา หรือโถง[7][9][8]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Temple Strut with a Tree Goddess (Shalabhanjika)". The Metropolitan Museum of Art. สืบค้นเมื่อ 11 May 2013.
  2. 2.0 2.1 Udaya Nārāyaṇa Rāya (1979). Śālabhañjika in Art, Philosophy, and Literature. Lokbharti. pp. 1–9. OCLC 6828640.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 J Ph Vogel (1929). "The woman and tree or Salabhanjika in Indian Arts and Literature". Acta Orientalia. 7: 202–209.
  4. H.D. Velankar (1936). "Apabhramsa Meters". The Journal of the University of Bombay. V (9): 57–58.
  5. Heinrich Zimmer, Myths and Symbols in Indian Art and Civilization. (1946)
  6. 6.0 6.1 Monier Monier Williams (1994 updated), Sanskrit English Dictionary, शाल śāla śālá, page 260
  7. 7.0 7.1 J Ph Vogel (1929). "The woman and tree or Salabhanjika in Indian Arts and Literature". Acta Orientalia. 7: 206–219.
  8. 8.0 8.1 PK Acharya (1934). Encyclopedia of Hindu Architecture. Oxford University Press. p. 490. OCLC 697763683.
  9. Louis H. Gray (1906). "The Viddhaśālabhañjikā of Rājaśekhara, Now First Translated from the Sanskrit and Prākrit". Journal of the American Oriental Society. 27: 3–4. JSTOR 592847.