วัดโปรดสัตว์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดโปรดสัตว์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดโปรดสัตว์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดโปรดสัตว์ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2235 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2245 ตามประวัติเล่าว่า มีผู้เก่งกล้าวิชาอาคมเสกกระดูกผีเป็นช้างลอยน้ำมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา มาติดอยู่หน้าวัด ในขณะที่ช้างลอยมาผ่านที่ได ชาวบ้านแห่งนั้นก็จะล้มเจ็บเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่ล้มป่วยทราบว่าหลวงพ่อมีน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จึงได้เดินทางมาขอน้ำมนต์จากหลวงพ่อเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเดินไปที่หน้าโบสถ์ชี้ไปที่แม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าโบสถ์ และพูดว่าน้ำมนต์อยู่ในน้ำนั้น ชาวบ้านจึงตักน้ำตรงหน้าวัด ไปรักษาญาติที่เจ็บป่วยหายเป็นปลิดทิ้ง นับแต่นั้นจึงเรียกชื่อวัดว่า "วัดโปรดสัตว์" เมื่อสมัยอยุธยาได้เคยเป็นสถานที่พักรับรองราชทูตจากลังกา แม้การจัดส่งพระสงฆ์และทูตานุทูตไปลังกาในสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้อาศัยที่วัดนี้เป็นที่จัดส่งและต้อนรับกลับ

ต่อมาถาวรวัตถุทรุดโทรมลงไปมาก จน พ.ศ. 2474 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสนิทพงศ์พัฒนเดช ได้มาทอดพระเนตรเห็นถาวรวัตถุทรุดโทรม จึงจัดการสร้างขึ้นใหม่แต่รักษารูปทรงของเก่าไว้ ผู้เขียนแบบแปลนคือ หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2500 และหม่อมเจ้าปิยะรังสิต รังสิต สร้างหอสวดมนต์ พ.ศ. 2508 หม่อมหลวงทวีวัฒน์ สนิทวงศ์ ได้สร้างหอพระธรรม 2 ชั้น พ.ศ. 2512 วัดแห่งนี้เป็นวัดตระกูลสนิทวงศ์ และตระกูลสนิทวงศ์ได้นำอัฎอิฐของบรรพบุรุษมาบรรจุไว้ในอุโบสถที่ฐานพระประธาน มีพระพุทธรูปในอุโบสถ และวิหาร หน้าบันอุโบสถ มีตราพระนารายณ์ทรงครุฑถือว่าเป็นตราสัญลักษณ์วัดหลวงมาแต่ก่อน[1]

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระประธานในอุโบสถ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ และพระมหากัจจายนะ ประดิษฐานอยู่ในวิหาร เจดีย์รูปทรงสมัยอยุธยา[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. "พญาครุฑแม่ทัพ หลวงปู่ทองหล่ออริยสงฆ์๔แผ่นดินแห่งวัดโปรดสัตว์". คมชัดลึก.
  2. "วัดโปรดสัตว์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.