วัดแจ้ง (จังหวัดอุบลราชธานี)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดแจ้ง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดแจ้ง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

วัดแจ้งตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2418 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2436[1] สร้างโดยดำริของเจ้าราชบุตร(หนูคำ) หนึ่งในคณะอาญาสี่ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้น[2]

อุโบสถ (สิม) เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2545 ซึ่งญาท่านเพ็ง (หลวงเพ็ง) ควบคุมการก่อสร้าง สันนิษฐานว่าเป็นช่างหลวงของเมืองอุบลราชธานี สิมทึบรับอิทธิพลทางภาคกลาง ก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง มีมุขหน้าประตู ทางเข้าด้านเดียว หน้าต่าง 3 บาน กรอบหน้าต่างเป็นรังผึ้งย้อยลงมา ต่อมา พ.ศ. 2527 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อมา พ.ศ. 2530 กรรมาธิการสถาปนิกอีกสานของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาให้รางวัลชนะเลิศการอนุรักษ์อาคารทางศาสนาดีเด่นให้แก่วัด[3]

อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527 กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง เป็นอาคารไม้ 5 หลัง และตึก 5 หลัง ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีต ปูชนียวัตถุมีพระประธานองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร สูง 3.35 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน และพระประธานองค์เล็ก จำนวน 10 องค์ อุโบสถ ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุไว้ และมีธรรมาสน์โบราณมียอดเป็นบุษบก

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระหอ พ.ศ. 2431–2440
  • รูปที่ 2 พระเพ็ง พ.ศ. 2440–2457
  • รูปที่ 3 พระมั่น พ.ศ. 2457–2467
  • รูปที่ 4 พระมั่น อานนฺโท พ.ศ. 2467–2478
  • รูปที่ 5 พระสี สนฺติปาโล พ.ศ. 2478–2489
  • รูปที่ 6 พระมหาสาย กิตฺติวณฺโณ พ.ศ. 2489–2504
  • รูปที่ 7 พระครูโอภาสศาสนกิจ พ.ศ. 2504–

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดแจ้ง". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดแจ้ง". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. กรมศิลปากร. "วัดแจ้ง" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 27 กรกฎาคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/