วัดอินทขีลสะดือเมือง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดอินทขีลสะดือเมือง
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอินทขีลสะดือเมือง, วัดอินทขีล, วัดสะดือเมือง, วัดอินทขิน, วัดอินทขิล
ที่ตั้งตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดอินทขีลสะดือเมือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลศรีภูมิ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ

ประวัติ[แก้]

วัดอินทขีลสะดือเมือง หรือ วัดสะดือเมือง หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าชื่อ วัดอินทขิน เดิมเป็นวัดร้างเพิ่งตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2550[1] แต่เดิมเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยพญามังรายเพื่อเป็นที่ประดิษฐานของเสาหลักเมืองหรือเสาอินทขีล พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงใหม่ที่นี่เมื่อ พ.ศ. 1835 โดยก่อนหน้านั้นพญามังรายได้มาสำรวจพื้นที่บริเวณเมืองนพบุรีร้าง ได้พบซากเสาอินทขิลและรูปกุมภัณฑ์ ณ ที่กลางเมืองนั้น จึงมีบัญชาให้เสนาชื่อ สรีกรชัย แต่งเครื่องบรรณาการไปหาพญาลัวะบนดอยสุเทพ พญาลัวะจึงแนะนำว่า หากเจ้าพญามังรายจะสร้างเมืองขึ้นใหม่ ให้อยู่เย็นเป็นสุขก็ให้บูชากุมภัณฑ์และเสาอินทขิล จนเมื่อพระองค์ได้สร้างเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แล้ว จึงโปรดให้ยกรูปกุมภัณฑ์และเสาอินทขิล ที่ประดิษฐานในบริเวณสะดือเมืองขึ้นมาเพื่อให้คนสักการะกราบไหว้ตามคำแนะนำของพญาลัวะ

ต่อมาได้สร้างวัดอินทขีล แต่เนื่องจากอยู่บริเวณสะดือเมือง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "วัดสะดือเมือง" จนได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยที่พม่าเข้าปกครอง เมื่อพระเจ้ากาวิละได้ขับไล่พม่าได้แล้ว จึงได้ฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ ได้ย้ายเสาอินทขิลจากวัดอินทขีลมาประดิษฐานอยู่ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร พร้อมกับบูรณะฟื้นฟูวัดอินทขีล โดยได้สร้างวิหารคล่อมฐานเดิม อัญเชิญพระอุ่นเมือง (หลวงพ่อขาว) มาประดิษฐานเป็นพระประธานในวิหาร[2]

จากเอกสารสำรวจวัดในสมัยครูบาปัญญา เจ้าอาวาสวัดหัวข่วง พ.ศ. 2425 ยังปรากฏชื่อวัดอินทขีลอยู่ สันนิษฐานว่าวัดอินทขิลได้กลายเป็นวัดร้างในสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 (พ.ศ. 2416–2439)[3] ปัจจุบันได้รับการยกเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษาแล้ว

โบราณสถาน[แก้]

ปรากฏหลักฐานเจดีย์ประธานทรงระฆัง วิหารหลวงพ่อขาว และเจดีย์รายทรงมณฑป 8 เหลี่ยม (ในกำแพงรั้วหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่)

เจดีย์ประธานทรงระฆังเป็นเจดีย์ศิลปะพื้นเมืองล้านนา น่าจะเป็นเจดีย์ในยุคต้น ๆ ของเชียงใหม่ ราวพุทธศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ตาม เจดีย์องค์นี้ยังสร้างพอกทับเจดีย์อีกองค์หนึ่ง เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ซึ่งยังเห็นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปในอิริยาบถยืน ทิศตะวันออกใกล้กันเป็นวิหารหลวงพ่อขาว

เจดีย์รายทรงปราสาทแปดเหลี่ยม มีอายุอยู่ในระยะพุทธศตวรรษที่ 20 น่าจะได้รับอิทธิพลจากเจดีย์กู่กุดในศิลปะหริภุญชัยและยังส่งอิทธิพลต่อกลุ่มเจดีย์แบบเจดีย์ป่อง คือ เจดีย์วัดตะโปทาราม เจดีย์เก่าวัดพวกหงษ์ และเจดีย์ป่องวัดเชียงโฉม[4]

วิหารของพระเจ้าอุ่นเมือง คงสร้างขึ้นคร่อมฐานเดิมพร้อม ๆ กับการสร้างเจดีย์องค์นอกที่ห่อหุ้มองค์ในประมาณ พ.ศ. 2380 สมัยของพระเจ้ากาวิละ ลักษณะเป็นวิหารโถง ผังเดิมเป็นแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยมีหลวงพ่อขาวประดิษฐานเป็นพระประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันออก

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดอินทขิน". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดอินทขีลสะดือเมือง กราบไหว้หลวงพ่อขาว อายุกว่า 700 ปี". เชียงใหม่นิวส์.
  3. "วัดอินทขีล". มิวเซียมไทยแลนด์.
  4. "วัดสะดือเมือง". สำนักศิลปากรที่ ๗ เชียงใหม่.