วัดสี่ร้อย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสี่ร้อย
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสี่ร้อย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อย ในตำบลสี่ร้อย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน

วัดสี่ร้อยสร้างเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2314 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2452 มีตำนานเล่าว่า เมื่อปี พ.ศ. 2302 พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่า ได้ให้มังระและมังฆ้องนรธา ยกกองทัพพม่ามาตีเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดของไทย เหตุการณ์ครั้งนี้ ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ จำนวนทั้งสิ้น 400 คน เข้าสมทบกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ โดยให้ชื่อว่า กองอาฑมาต ขุนรองปลัดชู ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งสกัดทัพพม่าในเขตท้องที่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ณ อ่าวหว้าขาว พอพม่ายกกองทัพมา ขุนรองปลัดชูจึงควบคุมทหารโจมตีด้วยอาวุธสั้นถึงขั้นตะลุมบอนได้ปะทะกับมังระ และมังฆ้องนรธา แต่ก็ไม่สามารถเอาชนะกองทัพพม่าที่หนุนเนืองกันมาอย่างไม่ขาดด้วยกำลังที่น้อยกว่า เมื่อทราบข่าวต่างเศร้าโศกเสียใจ ประชาชนจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นเป็นอนุสรณ์แก่อนุชนรุ่นหลังของชาวแขวงวิเศษไชยชาญ โดยให้ชื่อวัดว่า "วัดสี่ร้อย" ต่อมาได้สร้างเจดีย์สำหรับเคารพบูชาดวงวิญญาณของชาววิเศษไชยชาญที่พลีชีพในครั้งนี้จำนวน 400 คน[1]

อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มี อุโบสถกว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตร ศาลาการเปรียญกว้าง 14 เมตร ยาว 24 เมตร หอสวดมนต์กว้าง 8 เมตร ยาว 18 เมตร สร้าง พ.ศ. 2517 และกุฏิสงฆ์ จำนวน 15 หลัง[2] จุดเด่นของวัด คือ หลวงพ่อโต ปางป่าเลไลย์ หน้าตักกว้าง 6 เมตรเศษ สูง 21 เมตร ชาวบ้านได้มากราบขอพรและจุดประทัด หรือพลุเพื่อเป็นการบูชาท่าน และเมื่อ พ.ศ. 2530 มีโลหิตไหลออกมาจากพระนาสิกของหลวงพ่อโตวัดสี่ร้อย ทำให้ชาวบ้านหลั่งไหลกันมากราบสักการะ และเรียกว่า หลวงพ่อร้องไห้[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดสี่ร้อย". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. "วัดสี่ร้อย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  3. "วัดสี่ร้อย". กลุ่มงานยุทธศาสตร์และข้อมูลเพื่อการพัฒนาจังหวัด สำนักงานจังหวัดอ่างทอง ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง.[ลิงก์เสีย]