วัดสิงขรวราราม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดสิงขรวราราม
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสิงขรวราราม, วัดสิงขร, วัดไทยสิงขร
ที่ตั้งบ้านสิงขร อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า
ประเภทวัดไทย
เจ้าอาวาสหลวงพ่อสงวน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสิงขรวราราม หรือ วัดไทยสิงขร เป็นวัดไทย ตั้งอยู่ในบ้านสิงขร อำเภอตะนาวศรี จังหวัดมะริด ภาคตะนาวศรี ประเทศพม่า จากข้อมูล พ.ศ. 2563 มีเจ้าอาวาส คือ หลวงพ่อสงวน มีพระ 7 รูป เป็นพระเชื่อสายไทยสิงขร 6 รูป เป็นเชื้อสายกะเหรี่ยง จำนวน 1 รูป วัดยังเปิดสอนโรงเรียนภาษาไทย อย่างไรก็ดีวัดสิงขรวรารามมิได้ขึ้นอยู่กับมหาเถรสมาคมเช่นวัดไทยในต่างแดน อย่างในอินเดียหรือมาเลเซีย[1]

วัดสิงขรวราราม ได้ย้ายที่ตั้งวัดมาแล้ว 2 ครั้ง แห่งแรกเป็นวัดสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ในกำแพงเมืองสิงขรเก่า มีแม่น้ำสิงขรไหลผ่าน ตั้งอยู่ตรงนี้นานราว 200 ปี[2] แห่งที่ 2 ตั้งอยู่ในส่วนท้ายหมู่บ้าน และแห่งที่ 3 เป็นที่ตั้งปัจจุบัน ย้ายมาตั้งอยู่ริมถนนเนื่องจากเป็นนโยบายรัฐบาลด้านความมั่นคง วัดสิงขรวรารามเป็นศูนย์กลางของชาวไทยสิงขร พิธีกรรมการบวชไม่แตกต่างจากวัดไทย คือ ผู้บวชต้องอาศัยอยู่ทีวัดก่อน 15 วัน เพื่อท่องบทสวดมนต์และคำอาราธนาศีล ซึ่งหนังสือมนต์พิธีใช้ภาษาไทย ชาวพม่าไม่นิยมมาบวชวัดนี้เพราะมีวัตรปฏิบัติแบบไทย เน้นตำราพุทธมนต์พิธีแบบไทย ซึ่งพระพม่าจะเน้นการท่องพระไตรปิฎกมากกว่า ส่วนการทอดกฐินในหมู่บ้านสิงขรจะทำที่วัดสิงขรวรารามเท่านั้น และยังมีประเพณีวันสารทเดือนสิบ[3]

ปูชนียวัตถุทีสำคัญในวัด คือ พระพุทธรูปสำริดสมัยอยุธยาตอนต้น ศิลปะอู่ทองสาม คือ มีลักษณะแบบอู่ทองผสมกับสุโขทัย พระพุทธรูปองค์นี้มีประวัติว่าเดิมอยู่ในเจดีย์ที่ตัวเมืองตะนาวศรี และมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายแดงนำไปจากแม่น้ำบริเวณวัด ยังมีพระพุทธรูปไม้แกะฝีมือช่างพื้นบ้านเป็นจำนวนมาก มีสมุดข่อย ใบลาน ภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งบันทึกความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คาถาอาคม โหราศาสตร์ ยา วรรณคดี และวรรณกรรม ต่าง ๆ เช่น พระรถเมรี พระอภัยมณี กฎหมายตราสามดวง มีเล่มหนึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการให้คำสัตย์สาบานของคู่กรณี[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "การก้าวพ้น "แค้น" ของพระสงกรานต์ และความว้าเหว่ของวัดไทยพลัดถิ่น". สำนักข่าวชายขอบ.
  2. "แกะรอยเส้นทางการค้าโบราณ 'สิงขร-ตะนาวศรี-มะริด'". มติชน.
  3. "การปรับเปลี่ยนและการธำรงอัตลักษณ์ ทางวัฒนธรรมของคนไทยพลัดถิ่น หมู่บ้านสิงขร ในเขตตะนาวศรี ประเทศพม่า". วารสารพัฒนศาสตร์.
  4. กาญจนา บุญส่ง. "ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของคนสยามในสิงขร – ตะนาวศรี". ศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี.