วัดลาดสิงห์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดลาดสิงห์
แผนที่
ที่ตั้งตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดลาดสิงห์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบ้านสระ อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 35 ไร่

เอกสารประวัติวัดที่จัดส่งกรมการศาสนาระบุว่า วัดลาดสิงห์ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2009 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2494 มีเรื่องเล่าว่า บริเวณนี้คือที่พักทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ก่อนออกสงครามยุทธหัตถีกับพม่า การทำสงครามยุทธหัตถีระหว่างอยุธยากับพม่า มีขึ้นในปี พ.ศ. 2135 ตรงกับเดือนยี่ วันจันทร์แรม 2 ค่ำ ปีมะโรง สถานที่ยังให้น้ำหนักระหว่างอำเภอดอนเจดีย์ สุพรรณบุรีและอำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ทรงยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ วันเดียวกันนี้ทรงทราบข่าวว่า พระสุพรรณกัลยา พระพี่นางในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ถูกจับเป็นตัวประกันที่เมืองพม่านั้นถูกประหารชีวิตเสียแล้ว โดยพระเจ้านันทบุเรง จึงมีพระราชดำริของสมเด็จพระนเรศวรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับสมเด็จพระพี่นางสุพรรณกัลยา ภายหลังวัดได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระนเรศวร พระสุพรรณกัลยา และสมเด็จพระเอกาทศรถ[1]

อาคารเสนาสนะ ได้แก่ อุโบสถเป็นอุโบสถไม้ที่ผสมอิฐปูน สีสันสวยงามและมีอิฐล้อมอยู่รอบ ๆ อุโบสถ ด้านหน้ามีรูปปั้นลายสิงห์คู่ มีใบเสมาหินทรายอยู่ตามทิศต่าง ๆ แต่ส่วนใหญ่แตกหักมากเป็นใบเสมาเรียบไม่มีลวดลายด้านนอกสุดมีกำแพงแก้วก่อล้อมรอบมีทางเข้าเฉพาะด้านหน้า โดยเป็นกำแพงแก้วของเดิมที่ยังไม่ได้มีการบูรณะซ่อมแซม นอกจากนี้ทางด้านหลังอุโบสถ บริเวณภายนอกกำแพงแก้วมีเนินดินปนอิฐขนาดใหญ่ สันนิษฐานอาจเป็นเจดีย์ตั้งอยู่ แต่มีเพียงฐานล่างที่พังทลายจนไม่ทราบรูปทรง ด้านบนมีชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายขาว พระเพลา แตกหักวางกองอยู่ จากรูปแบบศิลปกรรมที่ปรากฏสันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปะอยุธยา ด้านในเป็นที่ประดิษฐานของ หลวงพ่อดำ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลาแลง ปางสะดุ้งมาร (มารวิชัย) เกตุบัวตูม อายุประมาณ 500 ปี[2] ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร หอสวดมนต์ กว้าง 10 เมตร ยาว 20 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 และกุฏิสงฆ์ จำนวน 5 หลัง[3]

รายนามเจ้าอาวาส[แก้]

  • พระถึก
  • พระเลียบ
  • พระถวิล
  • พระสวน
  • พระบด
  • พระบุญช่วย
  • พระประวิทย์
  • พระสุนทร
  • พระครูเจริญ
  • พระใบฎีกาคุณ
  • พระครูกิจจาภรณ์ พ.ศ. 2530

อ้างอิง[แก้]

  1. "เรื่องเล่าที่วัดลาดสิงห์สามชุก". เดลินิวส์.
  2. "วัดลาดสิงห์". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  3. "วัดลาดสิงห์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.