วัดมฤคทายวัน (จังหวัดหนองคาย)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดมฤคทายวัน
ไฟล์:วัดมฤคทายวัน.jpg
แผนที่
ชื่อสามัญวัดมฤคทายวัน (ดงแขม)
ที่ตั้งตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย
นิกายมหานิกาย
พระประธานหลวงพ่อพระศรีอาริย์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดมฤคทายวัน ตั้งอยู่เลขที่ 35 บ้านน้ำสวย ถนนมิตรภาพหนองคาย - อุดรธานี หมู่ 9 ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 625 ไร่ 1 ตารางวา และยังเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อพระศรีอาริย์ พระพุทธรูปคู่อำเภอสระใครด้วย

ประวัติ[แก้]

วัดมฤคทายวัน สร้างเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2438 เดิมชื่อ "วัดดงแขม" ประชาชนนิยมเรียกว่า “ดงพระ” เป็นวัดเก่าแก่โบราณ ต่อมา พ.ศ. 2494 ทางคณะสงฆ์ นำโดยพระพิมลธรรม ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นวัดมฤคทายวัน หลวงพ่อพระศรีอาริย์ หลวงพ่อพระศรีอาริย์ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก สมัยลพบุรี แกะสลักด้วยหินทรายดำ มีหน้าตักขนาดประมาณ 14 นิ้ว มีความสูงประมาณ 50 เซนติเมตร อาจสร้างขึ้นมีอายุใกล้เคียงกันกับการสร้างปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ในสมัยขอม เพราะเป็นหินทรายในลักษณะเดียวกันโดยไม่ผิดแม้แต่น้อย

เมื่อประมาณ 600 ปีที่ผ่านมา บริเวณวัดมฤคทายวัน (ดงแขม) เป็นป่าต้นแขมขึ้นหนาทึบ มีต้นไม้ใหญ่ขึ้นหนาแน่น ทั้งสัตว์ป่านานาชนิดอยู่มากมาย ชาวบ้านเรียกบริเวณป่านี้ว่า “ดงแขม” ในกาลสมัยนั้น ได้มีทหารและชาวบ้าน นำเอาพระพุทธรูปขึ้นบรรทุกเกวียนหลายเล่มเกวียน เดินทางมาจากลพบุรี มุ่งหน้าไปเมืองหนองคาย เพื่อนำลงเรือล่องตามลำแม่น้ำโขง ไปถวายวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ครั้นเดินทางมาถึงป่าดงแขม เกวียนที่บรรทุกองค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์มา เกิดหักเดินทางต่อไปไม่ได้ ทหารจึงเอาองค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์ประดิษฐาน ไว้ ณ บริเวณนั้น และมอบหมายให้ชาวบ้านน้ำสวยดูแลรักษาไว้นับแต่นั้นมา ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่า “ดงพระ” ดงพระก็กลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มีชาวบ้านที่เป็นนายพรานเข้ามาล่าสัตว์ยิงสัตว์ป่า ถ้าสัตว์ป่าเหล่านี้ หนีเข้ามาอาศัยอยู่ในดงพระนี้แล้วเขาจะไม่ตามเข้าไป เพราะเข้ามาแล้วจะหาสัตว์เหล่านั้นไม่เห็น หรือถ้าจะเห็นก็ยิงไม่ถูก บางรายยิงเกิดปืนแตกใส่ตนเอง บางครั้งปืนกลับยิงไปถูกพวกกันเองถึงแก่ชีวิตก็มี บางรายจับไข้หัวโกร๋นหรือเป็นบ้าไปก็มี ต้องจัดดอกไม้ธูปเทียนไปขอขมาองค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์จึงจะหาย ชาวบ้านจึงถือกันว่าบรรดาสัตว์เหล่านั้นอยู่ในความเมตตาคุ้มครองรักษาขององค์หลวงพ่อพระศรีอาริย์ ดังนั้น ในสมัยนั้นดงพระจึงมีป่าไม้หนาแน่น ไม่มีคนเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า

บริเวณที่ดินของวัดป่าดงแขมดงพระนี้มีประมาณ 500 ไร่ ด้านละ 1 กิโลเมตรทั้ง 4 ทิศ โดยเอาอุโบสถหลวงพ่อพระศรีอาริย์เป็นศูนย์กลาง ในสมัยนั้นถ้าผู้ใดกล้ำ (บุกรุก ล่วงล้ำเข้าไปในบริเวณที่หวงห้ามเพื่อยึดครองโดยบังอาจ หรือโดยพลการ…ผู้โพสต์) เอาที่ดินของวัดป่าดงแขมแล้ว จะมีอันเป็นไปต่างๆ นานา บางคนถึงกับตาบอด จึงทำให้ที่ดินได้เหลืออยู่มาจนถึงปัจจุบันนี้ วัดดงแขมมีทางเข้าถึงวัด 3 ทางคือ ทางด้านบ้านโพนสวรรค์ ทางด้านบ้านหนองบัวเงิน และทางด้านถนนมิตรภาพ หลวงพ่อชาลี จิตตคุตโต วัดศรีบัวบาน บ้านบุกหวาน ตำบลค่ายบกหวาน ท่านได้นำพระสงฆ์สามเณรพร้อมด้วยชาวบ้าน มาทำความสะอาดรอบๆ บริเวณอุโบสถหลวงพ่อพระศรีอาริย์ พอเป็นทางแห่ดอกไม้ธูปเทียน เวียนรอบอุโบสถได้เท่านั้น และประกอบพิธีถวายเครื่องสักการะบูชากราบไหว้ ปิดทอง สรงน้ำหลวงพ่อพระศรีอาริย์ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกๆ ปี มาแล้วหลายชั่วอายุคน

ครั้นต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2490 ท่านพระอาจารย์หนูจันทร์ อาทิจโจ ท่านเกิดอยู่บ้านโพนสวรรค์ ท่านไปบวชเป็นพระอยู่จังหวัดนครราชสีมา ได้ประมาณ 10 พรรษา ถือธุดงค์เข้ามาอยู่จำพรรษาวัดป่าดงแขม จนกระทั่งมีโยมจากอุดรธานี หนองคาย มีความศรัทธาได้สร้างกุฏิถวายท่าน เป็นจำนวนหลายหลัง มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาถึง 20-30 รูป มีแม่ชีกว่า 10 รูป จึงถือได้ว่า ท่านพระอาจารย์หนูจันทร์ อาทิจโจ เป็นพระผู้บุกเบิกวัดป่าดงแขมเป็นรูปแรก

เมื่อปี พ.ศ. 2496 ท่านพระเดชพระคุณเจ้าคุณพระพิมลธรรม เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ กรุงเทพฯ สังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองในสมัยนั้น ได้นำใบตราตั้งเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย มามอบให้พระมหานวม เขมจารี ป.ธ.6 มามอบให้เป็นอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาจารย์ ประจำจังหวัดหนองคาย ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

อาณาเขต[แก้]

  • ทิศเหนือ ประมาณ 25 เส้น จด ถนนมิตรภาพ
  • ทิศใต้ ประมาณ 25 เส้น จด ที่นา
  • ทิศตะวันออก ประมาณ 25 เส้น จด ที่นา

อาคาร และปูชนียวัตถุ[แก้]

อาคาร
  • ศาลาการเปรียญ เป็นอาคารคอนกรีตสองชั้น สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514
  • หอสวดมนต์ เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว สร้างงเมื่อ พ.ศ. 2505
  • กุฏิสงฆ์ จำนวน 4 หลัง
  • ศาลาบำเพ็ญกุศลสร้างด้วยไม้

รายชื่อเจ้าอาวาส[แก้]

เรียงลำดับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

  1. หลวงพ่อชาลี อตฺตคุตฺโต
  2. พระอธิการหนูจันทร์ อกิจฺโจ
  3. พระวินัย วิรธมฺโม
  4. พระดำ จันฺทวโร
  5. พระชาลี ธมฺโม
  6. พระมั่น สุจิตฺโต
  7. พระครูอภัยธรรมรักขิต (เชิดศักดิ์ โชติปาโล) ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย

การศึกษา[แก้]

มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม เปิดสอน พ.ศ. 2512 จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]

  • จากคำบอกเล่าของนายไพรสันต์ กลั่นไพรี อายุ 72 ปี เกิดเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2478 ที่อยู่ 149 หมู่ 9 ตำบลสระใคร กิ่งอำเภอสระใคร จังหวัดหนองคาย
  • เนียบวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2550
  • ผู้รวบรวม(นายสราวุธ สีหไตร และนายสิทธิ์ กิ่งวิริยกุล) ขอขอบคุณ นายคมกฤช ผาผง และนางสาวเนติมา ฉัตรเวทิน ผู้จัดทำประวัติหลวงพ่อพระศรีอาริย์ เป็นรูปเล่มขึ้นมา (ผู้รวบรวมได้รับหนังสือประวัติหลวงพ่อพระศรีอาริย์ดังกล่าวจากความเมตตาของหลวงตาเชิดศักดิ์ โชติปาโล (พระครูอภัยธรรมรักขิต)ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดหนองคาย ฝ่ายปกครองและเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันของวัดมฤคทายวัน(วัดดงแขม) บ้านน้ำสวย ต.สระใคร อ.สระใคร จ.หนองคาย