วัดพระยาออก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดพระยาออก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี
ประเภทโบราณสถาน
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดพระยาออก เป็นโบราณสถานที่ตั้งอยู่ภายในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแนวคูเมืองและกำแพงเมืองชั้นใน ในตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี

ประวัติ[แก้]

วัดพระยาออกสร้างขึ้นสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประวัติการสร้างไม่ชัดเจน ศาสนาสถานแห่งนี้มีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ศิลปะอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อขาว ด้านหลังองค์พระมีผนังก่ออิฐถือปูนติดอยู่ทั้งหมดตั้งประดิษฐานบนฐานศิลาแลง และยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินทรายสมัยลพบุรี สภาพชำรุดไม่สมบูรณ์ จำนวน 11 ชิ้น จากรูปแบบศิลปกรรมของพระพุทธรูปปูนปั้นหลังติดผนังอุโบสถที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ทำให้สามารถกำหนดค่าอายุของวัดพระยาออกได้ว่าอาจสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างราว พ.ศ. 2209–2231 ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8

โรงเรียนพิบูลวิทยาลัยได้ทำวิหารโถงทรงจัตุรมุขคลุมทับเหนือพระประธาน ผนังปูนและฐานศิลาแลงเมื่อ พ.ศ. 2516 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ได้เสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 24 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479[1]

การสำรวจเบื้องต้นภายในเขตโบราณสถานวัดพระยาออก ยังได้พบบ่อน้ำศิลาแลง มีกรงเหล็กสร้างครอบทับอีกชั้นหนึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันด้วย

หลวงพ่อขาว[แก้]

หลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น หน้าตักกว้าง 4.2 เมตร ประทับนั่งปางสมาธิขัดราบ เหนือฐานบัว ปัจจุบันได้ถูกพอกทับเป็นฐานหน้ากระดาน ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิตัดตรงยาวจรดพระนาภี ชายจีวรยาวพาดข้อพระกรซ้าย พระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระขนงต่อกันคล้ายปีกกา ได้รับอิทธิพลศิลปะเขมร[2] พระรัศมีเป็นเปลวซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะสมัยสุโขทัย มีลักษณะศิลปะอู่ทองรุ่นที่ 2 สิ่งที่แปลกคือ องค์พระหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตกซึ่งหันพระพักตร์แบบเดียวกับพระประธานในอุโบสถวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ วัดพุทไธศวรรย์ วัดพระราม และวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงสันนิษฐานว่าอาจสร้างในยุคยอยุธยาตอนต้น[3]

พระประธานองค์นี้มีผนังก่ออิฐฉาบปูนพร้อมเสา 2 ต้น ติดอยู่ที่ด้านหลังโดยมีความกว้างน้อยกว่าขนาดหน้าตักของพระพุทธรูปประธานเพียงเล็กน้อย ส่วนความสูงของผนังปูนแผ่นนี้อยู่ที่ระดับประมาณพระเนตรของพระประธานเท่านั้น พระประธานและผนังปูนนี้ตั้งวางอยู่บนฐานศิลาแลงขนาดใหญ่

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดพระยาออก". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-06-01. สืบค้นเมื่อ 2022-04-14.
  2. "หลวงพ่อขาว วัดพระยาออก". ข่าวสด.
  3. "สักการะ 'หลวงพ่อขาว วัดพระยาออก' ร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง 119 ปี พิบูลวิทยาลัย". สยามรัฐออนไลน์. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-07-28. สืบค้นเมื่อ 2022-04-14.