วัดบางเกาะเทพศักดิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดบางเกาะเทพศักดิ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบางเกาะเทพศักดิ์, วัดเกาะกาหลง, วัดบางเกาะกรรณิการาม, วัดบางเกาะ
ที่ตั้งตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระครูปิยธรรมากร (เกษม ปิยธมฺโม)
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดบางเกาะเทพศักดิ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมน้ำคลองแควอ้อม ซึ่งเป็นคลองย่อยออกมาจากแม่น้ำแม่กลอง ในตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

ประวัติ[แก้]

วัดบางเกาะเทพศักดิ์วัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2300 ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2320 เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันระบุว่า แต่เดิมชื่อว่า วัดเกาะกาหลง ต่อมาเปลี่ยนชื่อมาเป็น วัดบางเกาะกรรณิการาม ใกล้กับวัดนี้มีวัดร้างอยู่หนึ่งวัด คือ "วัดจำปาศักดิ์" จนเมื่อ พ.ศ. 2496 ได้รวมสองวัดเป็นวัดเดียว ใช้ชื่อว่า "วัดบางเกาะเทพศักดิ์"[1]

อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ[แก้]

อุโบสถหลังเก่าซึ่งน่าจะร่วมสมัยกับอุโบสถวัดบางกุ้ง แต่ปัจจุบันอุโบสถได้รับการบูรณะซ่อมแซมใหม่แล้วในปี พ.ศ. 2425 พระมณฑปอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยม หลังคาเครื่องไม้และสร้างซ้อนกันเป็นชั้น ๆ จำนวน 7 ชั้น โดยยอดบนสุดมีขนาดเล็กรูปทรงคล้ายจอมแห มุงกระเบื้องดินเผา

ปูชนียวัตถุ ได้แก่ พระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่พระพุทธรูปสำริดประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานบัว แสดงปางมารวิชัย พระพุทธรูปหินทรายแดงภายในระเบียงพระมณฑป และบริเวณวัดพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งเป็นพระพุทธรูปหินทรายแดง พอกทับด้วยปูนปั้นลงรักปิดทอง ประทับนั่งแสดงปางสมาธิและปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น[2] บริเวณหน้าอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของเทพทันใจ ภายในอุโบสถประดิษฐานของ หลวงพ่อเพชรมงคลอุดมโชค พระประธานองค์ใหญ่ปางสะดุ้งมารที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา วิหารพระศรีสมุทรศักยมุนีเป็นวิหารจัตุรมุขที่สร้างด้วยหินอ่อนเกือบทั้งหลัง ภายในประดิษฐาน พระศรีสมุทรศักยมุนี ซึ่งหล่อด้วยทองเหลืององค์ใหญ่ปางอุ้มบาตร สูง 3 เมตร 80 เซนติเมตร บริเวณฝาผนังเป็นที่เก็บรวบรวมวัตถุสิ่งของต่าง ๆ ที่ล้ำค่า เช่น รูปภาพ ตาลปัตร และอื่น ๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุเขี้ยวแก้วบรรจุอยู่ด้านในผอบ ซึ่งพระอาจารย์ทรัพย์ อดีตเจ้าอาวาสได้จำลองมาจากประเทศศรีลังกา และสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร ประทานให้วัดบางเกาะเทพศักดิ์แห่งนี้[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. "วัดบางเกาะเทพศักดิ์". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดบางเกาะเทพศักดิ์". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  3. "วัดบางเกาะเทพศักดิ์อนุรักษ์วัฒนธรรมมรดกไทย". กรมการศาสนา.[ลิงก์เสีย]