วงศ์ปลากัด ปลากระดี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วงศ์ปลากัด ปลากระดี่
ปลากระดี่มุก (Trichopodus leerii)
ปลาแรดเผือก (Osphronemus goramy) ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
โดเมน: Eukaryota
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Anabantiformes
อันดับย่อย: Anabantoidei
วงศ์: Osphronemidae
Bleeker, 1859
วงศ์ย่อย
ดูในรายละเอียด

วงศ์ปลากัด ปลากระดี่ (อังกฤษ: Labyrinth fishes, Gouramis, Gouramies) เป็นวงศ์ปลาน้ำจืดวงศ์ใหญ่ ใช้ชื่อวงศ์ว่า Osphronemidae (/ออฟ-โฟร-นิ-มิ-ดี้/)

พบกระจายอย่างกว้างขวางตั้งแต่ภูมิภาคเอเชียใต้, อนุทวีปอินเดีย, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปจนถึงเกาหลี โดยมากปลาที่อยู่ในวงศ์นี้จะมีลักษณะเป็นปลาขนาดเล็ก ลำตัวป้อมแบน เกล็ดสากเป็นแบบทีนอยด์ มีสีสันสวยงาม ตัวผู้มีขนาดใหญ่และสีสดสวยกว่าตัวเมีย ครีบอกคู่แรกเป็นเส้นยาวใช้สำหรับสัมผัส มีความสามารถพิเศษคือ มีอวัยวะช่วยในการหายใจอยู่ในเหงือก เรียกว่า "อวัยวะเขาวงกต" (Labyrinth organ) จึงทำให้สามารถฮุบอากาศจากบนผิวน้ำได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านเหงือกเหมือนปลาทั่วไป จึงสามารถอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนต่ำได้ มักอยู่ในแหล่งน้ำนิ่งขนาดเล็ก เช่น ห้วย, หนอง, บึง, นาข้าว หรือ ร่องสวนมากกว่าแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น คลอง หรือ แม่น้ำ ในบางสกุล ตัวผู้จะใช้น้ำลายผสมกับอากาศเรียกว่า "หวอด" ก่อติดกันเป็นกลุ่มก้อนเพื่อวางไข่ และตัวผู้จะเป็นผู้ดูแลรักษาไข่และตัวอ่อน เป็นปลาที่มีนิสัยก้าวร้าว ในบางชนิดตัวผู้เมื่อพบกันจะกัดกันจนตายกันไปข้าง

ปลาในวงศ์นี้ส่วนใหญ่มีขนาดไม่เกิน 10 เซนติเมตร และมีสีสันสวยงาม จึงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามมากกว่าบริโภค เป็นที่รู้จักกันดีเช่น ปลากัด (Betta spendens) , ปลากระดี่นางฟ้า (Trichogaster trichopterus) ปลาพาราไดซ์ (Macropodus opercularis) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ปลาบางชนิดเป็นปลาเศรษฐกิจที่นำมาบริโภคได้ เช่น ปลาสลิด (Trichogaster pectoralis) และปลาแรด (Osphronemus goramy) สำหรับปลาแรดซึ่งมีขนาดใหญ่ได้ถึง 90 เซนติเมตร และพบได้ทุกภาคในประเทศไทย ตลอดไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย[1] [2]

วงศ์ย่อย และ สกุล[แก้]

วงศ์ย่อย Belontiinae ได้แก่

วงศ์ย่อย Luciocephalinae ได้แก่

  • Ctenops – ปลากระดี่โนเบิล พบ 1 ชนิด
  • Luciocephalus – ปลาช่อนเข็ม พบ 2 ชนิด
  • Sphaerichthys – ปลากระดี่ช็อคโกแล็ต พบ 4 ชนิด
  • Parasphaerichthys – ปลากระดี่พม่า พบ 2 ชนิด
  • Pseudosphromenus – ปลาพาราไดซ์หางหนาม พบ 2 ชนิด
  • Trichopodus – ปลากระดี่, ปลาสลิด พบ 4 ชนิด
  • Trichogaster – ปลากระดี่แคระ, ปลากระดี่อินเดีย พบ 4 ชนิด

วงศ์ย่อย Macropodusinae ได้แก่

  • Betta – ปลากัด พบทั้งหมดราว 73กว่า ชนิด
  • Macropodus – ปลาพาราไดซ์ พบ 5 ชนิด
  • Malpulutta – ปลาออร์เนตพาราไดซ์ พบ 1 ชนิด
  • Parosphromenus – ปลากริมแรด, ปลาขิม พบ 10กว่า ชนิด
  • Trichopsis – ปลากริม, ปลาหมัด พบ 3 ชนิด

วงศ์ย่อย Osphroneminae ได้แก่

  • Osphronemus – ปลาแรด, ปลาเม่น, ปลามิน พบ 4 ชนิด[3][4]

อื่น ๆ[แก้]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีปลาจำพวกอื่นที่มีลักษณะคล้ายเคียงกัน แต่ถูกแยกออกเป็นวงศ์ต่างหากอีก ได้แก่

อ้างอิง[แก้]

  1. labyrinth fish (อังกฤษ)
  2. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2539: หน้า 187
  3. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2539: หน้า 188-214
  4. สมโภชน์ อัคคะทวีวัฒน์, 2539: หน้า 217-218

บรรณานุกรม[แก้]

  • อัคคะทวีวัฒน์, สมโภชน์ (2547). สาระน่ารู้ปลาน้ำจืดไทย เล่ม ๒. องค์การค้าของคุรุสภา. ISBN 974-00-8738-8.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]