ยูงทอง
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เพลงประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ | |
เนื้อร้อง | นายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์) |
---|---|
ทำนอง | พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร |
รับไปใช้ | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 |
ก่อนหน้า | มอญดูดาว |
ยูงทอง เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับที่ 36 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงประพันธ์ทำนองและพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองใน พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา มหาวิทยาลัยได้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว ซึ่งขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนนาคพันธุ์) ประพันธ์ เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย จน พ.ศ. 2504 นักศึกษากลุ่มหนึ่งเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ขณะเสด็จมาทรงดนตรี ณ เวทีลีลาศ สวนอัมพร ภายในพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2504
พระองค์รับสั่งว่า จะทรงพระราชนิพนธ์เพลงประจำมหาวิทยาลัยพระราชทานให้แก่นักศึกษาธรรมศาสตร์ จนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2506 พระองค์เสด็จมาทรงดนตรี ณ หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทรงบรรเลงทำนองเพลงที่จะพระราชทานให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัย เนื้อร้องนั้นนายจำนงราชกิจ (จรัล บุณยรัตพันธุ์) ประพันธ์ขึ้นตามที่หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช ร่าง
ชื่อ "ยูงทอง" มาจากหางนกยูงฝรั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปลูกไว้ห้าต้นที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อนึ่ง เพลงนี้อาจเรียกอย่างอื่นได้อีก เช่น "เพลงพระราชนิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์"[1] และ "ธรรมศาสตร์"[2]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ธรรมศาสตร์ประกาศนาม ในวาระ 70 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้า 153-154, ISBN 974-323-192-7
- ↑ หนังสือเพลงพระราชนิพนธ์เล่มจิ๋ว[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]