ยางพาราในประเทศไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปลูกยางพาราในประเทศไทยไม่มีหลักฐานบันทึกแน่นอน แต่คาดว่าน่าจะเริ่มมีการปลูกในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2442-2444 ซึ่งพระยารัษฏานุประดิษฐ์ มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรังในขณะนั้น นำเมล็ดยางพารามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นครั้งแรก เนื่องจากพริกไทยราคาตกต่ำ [1] ซึ่งชาวบ้านเรียกต้นยางชุดแรกนี้ว่า "ต้นยางเทศา"[2] และต่อมาได้มีการขยายพันธ์ยางมาปลูกในบริเวณจังหวัดตรังและนราธิวาส ในปี พ.ศ. 2454 ได้มีการนำพันธุ์ยางมาปลูกในจังหวัดจันทบุรีซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยหลวงราชไมตรี (ปูม ปุณศรี) เป็นผู้นำพันธุ์ยางมาปลูก และนับจากนั้นเป็นต้นมาได้มีการขยายพันธุ์ปลูกยางพาราใน 14 จังหวัดภาคใต้ และ 3 จังหวัดภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังมีการขยายพันธุ์ยางมาปลูกในภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ

ยางพาราประเภทยางดิบ ผลิตภัณฑ์ยาง และไม้ยางพารา เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เป็นพืชสร้างรายได้ส่งออกมากเป็นอันดับสอง[ต้องการอ้างอิง] และมีปริมาณการส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับหนึ่งของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 ซึ่งในปี พ.ศ. 2543 มีผลผลิตจากยางธรรมชาติประมาณ 2.4 ล้านตัน มีมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 124,000 ล้านบาท เดิมพื้นที่ที่มีการปลูกยางส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้และภาคตะวันออก แต่ในปัจจุบันมีการขยายการปลูกเพิ่มขึ้นไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก โดยเฉพาะยางพาราจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในเขตจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดศรีสะเกษ จัดเป็นยางพาราคุณภาพดีไม่ต่างจากแหล่งผลิตเดิมในเขตภาคใต้และภาคตะวันออก พื้นที่ที่เหมาะแก่การปลูกยางทั่วประเทศมีทั้งหมด 55.1 ล้านไร่ แต่พื้นที่ปลูกจริงมีประมาณ 19 ล้านไร่เกษตรกร 1,200,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท[ต้องการอ้างอิง]

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การปลูกยางพารา[แก้]

ปัจจัยทางดิน
  • เป็นพื้นที่ที่ความลาดชันไม่เกิน 35 องศา ถ้าความลาดชันเกินกว่า 15 องศาการปลูกต้องทำแบบขั้นบันได
  • หน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร มีการระบายน้ำดี ไม่มีชั้นหินหรือชั้นดินดาน
  • ระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่าระดับผิวดินมากกว่า 1 เมตร
  • เนื้อดินเป็นดินร่วนเหนียวถึงร่วนทราย ไม่เป็นดินเกลือหรือดินเค็ม
  • ไม่เป็นพื้นที่นาหรือที่ลุ่มน้ำขัง สีของดินควรมีสีสม่ำเสมอตลอดหน้าตัดดิน
  • ดินไม่มีชั้นกรวดอัดแน่นหรือแผ่นหินแข็งในระดับต่ำกว่าหน้าดินไม่ถึง 1 เมตร เพราะจะทำให้ต้นยางไม่สามารถใช้น้ำในระดับรากแขนงในฤดูแล้งได้ และหากช่วงแล้งยาวนานจะทำให้
  • ต้นยางตายจากยอดลงไป
  • ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 600 เมตร ถ้าสูงกว่านี้อัตราการเจริญเติบโตของต้นยางจะลดลง
  • มีค่า pH ระหว่าง 4.5-5.5 ไม่เป็นดินด่าง
ปัจจัยทางภูมิอากาศ
  • ปริมาณน้ำฝนไม่น้อยกว่า 1,255 มิลลิเมตรต่อปี
  • มีจำนวนวันฝนตก 120-150 วันต่อปี

โรคและแมลงศัตรูยางพารา[แก้]

  1. โรคใบร่วงและฝักเน่า[3] : โรคเกิดจากเชื้อรา โดยมีอาการใบยางร่วงในขณะที่ใบยังสด
  2. โรคราแป้ง : โรคเกิดจากเชื้อรา โดยมีอาการปลายใบอ่อนบิดงอ เปลี่ยนเป็นสีดำและร่วง ใบแก่มีปุยสีขาวเทาใต้ใบ เป็นแผลสีเหลืองก่อนที่จะเป็นเป็นรอยไหม้สีน้ำตาล

ปัญหาราคา[แก้]

ในช่วงที่ผ่านมามีการประท้วงโดยเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในไทย เนื่องจากสาเหตุที่ราคายางในไทยตกต่ำอย่างน่าเป็นห่วง ปัญหาหลักเกิดจากอุปทานยางพาราในโลกเพิ่มสูงขึ้น ประเทศจีนซึ่งผู้บริโภคยางพาราอันดับ 1 ของโลกและเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของไทย ได้มีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่เพาะปลูกยางพาราทั้งในและต่างประเทศ (กลุ่มกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้ในประเทศตัวเอง ทำให้มียางพาราออกมาสู่ตลาดอย่างมากมาย บทบาทของไทยในตลาดยางพาราโลกก็ลดลง

สถิติสำคัญทางเศรษฐกิจ [ต้องการอ้างอิง]

ข้อมูล 2008 2009 2010 2011 2012 2013
มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท) 223,628.25 146,263.60 249,262.50 383,318.60 270,153.85 249,288.97
จำนวนยางพารา (ตัน) 3,166,910 3,090,280 3,051,781 3,348,897 3,625,295 3,862,996
พื้นที่เพาะปลูก (ไร่) 16,716,945 17,254,317 18,095,028 18,461,231 NA NA
ผลผลิตต่อไร่ (กิโลกรัม) 278 266 253 262 263 255

แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม[แก้]

  • ชุลีพร วิรุณหะ. (2559). น้ำตาล ข้าว ดีบุก ยางพารา: การค้าและการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงสงครามโลกครั้งที่ 2. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร.

อ้างอิง[แก้]

  1. สุวิทย์ รัตนพงศ์ อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ อัญญาณี มั่นคง และ อิศวรี ทุมรัตน์ สำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช สถาบันวิจัยยาง , 111 ปี วิถีตลาดยางพาราไทย จากพ่อค้าเร่สู่ ตลาดกลางยางพาราระดับโลก
  2. เสาวณีย์ ก่อวุฒิกุลรังษี, การผลิตยางธรรมชาติ, 2547, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
  3. พูลผล ธรรมธวัช, ยางพารา, เซาเทิร์นรับเบอร์, สงขลา, หน้า 312-314