มานิกพิกซีดรีมเกิร์ล

บทความนี้เป็นบทความแปลของพนักงานดีแทคในความร่วมมือกับวิกิพีเดีย คลิกเพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

มานิกพิกซีดรีมเกิร์ล (Manic Pixie Dream Girl หรือ MPDG) เป็นตัวละครขนบนิยม (Stock character) ประเภทหนึ่งใน ภาพยนตร์ โดยนักวิจารณ์ภาพยนตร์ เนธาน ราบิน เป็นผู้บัญญัติศัพท์นี้ขึ้นหลังจากได้ชมตัวละครของ เคิร์สเตน ดันสท์ ใน อลิซาเบธทาวน์ (พ.ศ. 2548) และบรรยายลักษณะตัวละครของ MPDG ไว้ว่า "สิ่งมีชีวิตที่สดใสและตื้นเขินที่ถือกำเนิดและมีอยู่แต่ในจินตนาการเพ้อ ๆ ของผู้กำกับและคนเขียนบทที่อยากให้บทเรียนแก่เหล่าชายหนุ่มผู้ลุ่มลึกและอ่อนไหวทั้งหลายให้เปิดรับประสบการณ์ชีวิตใหม่ ๆ ปริศนา และการผจญภัยอันไม่มีที่สิ้นสุด"[1] บทบาทของ MPDG นั้นกล่าวได้ว่าเกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือตัวละครชาย โดยที่ไม่มีการใฝ่หาความสุขเป็นของตนเองและไม่มีการพัฒนาเติบโต ดังนั้น ตัวละครชายดังกล่าวจึงขาดการพัฒนาเช่นกัน[2]

"มานิก พิกซี ดรีม เกิร์ล" ได้รับการเปรียบเทียบกับตัวละครขนบนิยมอีกประเภทหนึ่ง คือ "นิโกรมหัศจรรย์" (Magical Negro) ซึ่งหมายถึงตัวละครผิวดำที่ดูเหมือนว่าจะถือกำเนิดขึ้นเพียงเพื่อให้ความช่วยเหลือทางจิตวิญญาณหรือเรื่องเหนือธรรมชาติแก่ตัวละครเอก โดยในทั้งสองกรณีที่กล่าวมา ตัวละครขนบนิยมดังกล่าวจะไม่มีชีวิตส่วนตัวปรากฏให้เห็น และมักปรากฏขึ้นเพียงเพื่อให้บทเรียนชีวิตสำคัญแก่ตัวเอก[3]

ตัวอย่าง[แก้]

MPDG มักเป็นตัวละครที่ไม่มีพัฒนาการ มีนิสัยแปลกประหลาด และมีลักษณะความเป็นเด็กผู้หญิงสูง โดยมักได้รับบทบาทเป็นคนรักของ ตัวเอก ชายที่มีความอ่อนไหวเศร้าสร้อย ตัวอย่างเช่น ตัวละครของ นาตาลี พอร์ตแมน ในภาพยนตร์เรื่อง การ์เดน สเตท ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย แซค บราฟ.[1][2][4] โดยนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง โรเจอร์ อีเบิร์ต ได้อธิบายถึงตัวละครดังกล่าวไว้ในบทวิจารณ์ว่า เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเฉพาะในหนัง ไม่สมจริง "พร้อมตลอดเวลา" และ "มักน่าปรารถนา"[5]

The A.V. Club ได้จัดประเภทตัวละครของ แคทารีน เฮปเบิร์นใน บริงกิ้ง อัพ เบบี้ (Bringing up baby) (พ.ศ. 2481) ว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างยุคแรก ๆ ของต้นฉบับตัวละครของมานิก พิกซี ดรีม เกิร์ล[3] ตัวอย่างอื่น ๆ ในยุคหลัง เช่น ออเดรย์ เฮปเบิร์น ใน นงเยาว์นิวยอร์ก (Breakfast at Tiffany's) [6] โกลดี้ ฮอว์น ใน แค็กตัส ฟลาวเออร์ (Cactus flower) และ บัตเทอร์ฟลายส อาร์ ฟรี (Butterflies are free) , [6] และ บาร์บรา สไตรแซนด์ ใน ว็อทส อัพ, ด็อค? (What's Up, Doc?) [2][3] รวมไปถึงตัวละครของโซอี้ เดส์ชาแนลใน ซัมเมอร์ของฉัน 500 วัน ไม่ลืมเธอ (500 Days of Summer) ที่เรียกได้ว่าเดินตามขนบของ MPDG อย่างครบถ้วน[7][8][9]

พอดแคสต์ รายการ ฟิล์มสป็อตติ้ง (Filmspotting) ได้จัดห้าอันดับสุดยอดมานิก พิกซี ดรีม เกิร์ล โดยมีแขกรับเชิญเป็นเนธาน ราบิน ซึ่งได้เผยอันดับรายชื่อแยกเป็นของตนเอง หนึ่งในนั้นรวมถึงแคทเธอริน (ฌอง มอโร) ใน จูลส์ แอนด์ จิม (Jules and Jim) จีน (บาร์บารา สแตนวิก) ใน เดอะ เลดี้ อีฟ (The Lady Eve) ชูการ์ (มาริลิน มอนโร) ใน ซัม ไลค์ อิท ฮอต (Some Like It Hot) และเจอร์รีย์ เจฟเฟอร์ส (คลอเด็ตต์ โคลแบต์) ใน เดอะ พาล์ม บีช สตอรี่ (The Palm Beach Story) [10] ตัวอย่างอื่น ๆ ของ MPDG ที่เสนอโดยสื่อต่าง ๆ ยังรวมไปถึงตัวละครของจีน ซีเบิร์ตใน เบร็ธเลส (Breathless) แบลล์ ในภาพยนตร์การ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร (Beauty and the Beast) [11] ม็อด ใน แฮโรลด์ แอนด์ ม็อด (Harold and Maude) และ เพ็นนี เลน ใน ออลโมสต์ เฟมัส (Almost Famous) [2]

ตัวอย่างค้าน[แก้]

คลีเม็นไทน์ ตัวละครของ เคต วินสเล็ต ใน อีเทอร์นัล ซันไชน์ ออฟ เดอะ สป็อตเลส มายด์ (Eternal Sunshine of the Spotless Mind) รับรู้และตอบโต้ขนบของมานิก พิกซี ดรีม เกิร์ล ผ่านคำโต้ตอบกับ โจเอล (จิม แคร์รี่ย์) ว่า: "ผู้ชายหลายคนเหลือเกินคิดว่าฉันเป็นสัญลักษณ์ ว่าฉันจะเติมเต็มพวกเขา หรือว่าฉันจะทำให้เขามีชีวิตชีวา แต่ฉันก็เป็นแค่ผู้หญิงแย่ ๆ คนหนึ่งที่อยากจะหาความสงบเป็นของตัวเอง อย่าเอาปัญหาของตัวเองมาไว้ที่ฉันเลย"[10] แอนนี่ ฮอลล์ จากภาพยนตร์ แอนนี่ ฮอลล์ (Annie Hall) ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นตัวละคร MPDG หรือไม่ แม้ว่าจะมีเป้าหมายเป็นของตนเอง โดยไม่ผูกติดกับตัวละครนำชาย[11]

แม้ว่า ซัมเมอร์ (แสดงโดย โซอี้ เดส์ชาแนล) มักจะถูกมองว่าเป็นตัวละคร MPDG ตัวภาพยนตร์เองอาจสามารถตีความได้ว่าเป็นการทำลายโครงสร้างของขนบดังกล่าว ด้วยการแสดงให้เห็นถึงอันตรายจากการเทิดทูนผู้หญิงในฐานะสัญลักษณ์สิ่งของ มากกว่าการให้เกียรติอย่างบุคคลจริงที่มีมุมมองที่ซับซ้อนเป็นของตนเอง ผู้กำกับ มาร์ค เว็บบ์ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า "ใช่ ซัมเมอร์มีองค์ประกอบของมานิก พิกซี ดรีม เกิร์ล - เธอเป็นมุมมองที่แสดงถึงผู้หญิงที่ยังไม่โต เธอคือมุมมองที่ทอมมองผู้หญิง เขามองไม่เห็นความซับซ้อนของเธอ และผลที่ตามมาสำหรับเขาก็คือความผิดหวัง ในสายตาของทอม ซัมเมอร์คือความสมบูรณ์แบบ แต่ความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีมิติตื้นลึกหนาบาง ซัมเมอร์จึงไม่ได้เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง เธอเป็นแค่สิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป"[12]

ข้อวิจารณ์[แก้]

จากบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร วัลเจอร์ (Vulture) เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่อง รูบี้ สปาร์คส (Ruby Sparks) โซอี้ คาซาน นักเขียนบทภาพยนตร์และนักแสดงได้กล่าวถึง MPDG ว่า เป็นการดูถูกดูแคลนและเหยียดเพศหญิง โดยไม่เห็นด้วยว่าตัวละครของเฮปเบิร์นใน บริงกิ้ง อัพ เบบี้ เป็น MPDG: "ฉันคิดว่าการเหมารวมผู้หญิงทุกคนที่มีความแปลกประหลาดทุกคนไปอยู่ใต้กล่องพฤติกรรมเดียวกัน เป็นการลบล้างความแตกต่างของตัวบุคคล"[13]

ในวิดิโอเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 นักวิจารณ์จากเว็บไซต์ ออลมูฟวี่ (AllMovie) แคมมิลลา คอลลาร์เปิดรับคำจำกัดความดังกล่าวในฐานะคำอธิบายที่ดีของตัวละครหญิงมิติเดียวที่มีหน้าที่เพียงแค่มอบความสุขให้กับตัวละครเอกชาย และไม่มีปัญหาหรือความซับซ้อนเป็นของตนเอง ดังนั้น คำวิจารณ์ในแง่ลบเกี่ยวกับคำจำกัดความนี้จึงมุ่งตรงไปที่นักเขียนที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ตัวละครหญิงมากไปกว่าการเป็นไม้ค้ำให้กับตัวละครชาย[14]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Rabin, Nathan (January 25, 2007). "My Year Of Flops, Case File 1: Elizabethtown: The Bataan Death March of Whimsy". en:The A.V. Club. The Onion. สืบค้นเมื่อ January 5, 2010.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Welker, Holly (Spring 2010). "Forever Your Girl". Bitch Magazine (46) :26–30.
  3. 3.0 3.1 3.2 Gillette, Amelie (August 4, 2008). "Wild things: 16 films featuring Manic Pixie Dream Girls". The A.V. Club. สืบค้นเมื่อ April 16, 2009.
  4. Berman, Judy (August 7, 2008). "The Natalie Portman problem". Salon. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-10-08. สืบค้นเมื่อ January 5, 2010.
  5. Ebert, Roger (August 6, 2004). "Garden State". Rogerebert.com.
  6. 6.0 6.1 Ulaby, Neda (October 9, 2008). "Manic Pixie Dream Girls: A Cinematic Scourge?". All Things Considered. NPR. สืบค้นเมื่อ January 5, 2010.
  7. Douthat, Ross (August 24, 2009). "True Love". National Review. 61 (15) :50.
  8. "Indie Dream Girls", The Daily Beast, July 20, 2009.
  9. Poniewozik, James (October 6, 2011). "Women Watch TV Like This, But Men Watch TV Like This". Time. สืบค้นเมื่อ October 6, 2011.
  10. 10.0 10.1 "Top Five Manic Pixie Dream Girls". Filmspotting. November 19, 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-17. สืบค้นเมื่อ 2014-06-23.
  11. 11.0 11.1 "Manic Pixie Dream Girls". The Guardian. Clip Joint. January 9, 2013. สืบค้นเมื่อ January 14, 2013.
  12. Wiseman, Eva (August 16, 2009). ""'Is there such a thing as "the one" - and what happens if you lose her?"". The Guardian.
  13. Greco, Patti (July 23, 2012). "Zoe Kazan on Writing Ruby Sparks and Why You Should Never Call Her a 'Manic Pixie Dream Girl'". Vulture.
  14. Semantic Breakdown: The Manic Pixie Dream Bitch, YouTube, December 29, 2012

แหล่งที่มาอื่น ๆ[แก้]

แม่แบบ:Stock characters