มอริส ฟาร์ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มอริส ฟาร์ก
มอริส ฟาร์ก ก่อนการดำน้ำครั้งสุดท้ายของเขา
เกิด23 เมษายน ค.ศ. 1913
อาวีญง, ประเทศฝรั่งเศส
เสียชีวิต17 กันยายน ค.ศ. 1947 (อายุ 34 ปี)
ตูลง, ประเทศฝรั่งเศส

มอริส ฟาร์ก (ฝรั่งเศส: Maurice Fargues; 23 เมษายน ค.ศ. 1913 — 17 กันยายน ค.ศ. 1947) เป็นนักดำน้ำในสังกัดกองทัพเรือฝรั่งเศส และเป็นเพื่อนสนิทของฌัก กุสโต[1] ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1946 ฟาร์กได้ช่วยชีวิตกุสโต และเฟรเดริก ดูว์มา ในขณะที่พวกเขากำลังดำน้ำเข้าไปในฟงแตนเดอโวกลูซ เมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1947 ในความพยายามที่จะบันทึกสถิติความลึกใหม่ ฟาร์กเป็นนักดำน้ำคนแรกที่เสียชีวิตขณะใช้ถังออกซิเจน[2]

GERS กับฟงแตนเดอโวกลูซ[แก้]

ใน ค.ศ. 1945 [ต้องการอ้างอิง] เจ้าหน้าที่ฟาร์กได้เข้าร่วมกลุ่มการศึกษาและการวิจัยใต้น้ำ (GERS) ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยได้รับคำสั่งจากฟีลิป ตาเย พร้อมด้วยกุสโต ในฐานะรองผู้บัญชาการ กับเฟรเดริก ดูว์มา ในฐานะที่ปรึกษาพลเรือนและหัวหน้านักดำน้ำ ดูว์มาได้ฝึกฟาร์กรวมถึงสองสมาชิกที่รับเข้ามาใหม่ของ GERS ซึ่งได้แก่เจ้าหน้าที่ ฌ็อง ปีนาร์ และกีย์ โมร็องดีแยร์ ในฐานะนักประดาน้ำ[2] ฟาร์กกลายมาเป็นผู้บังคับบัญชาของหน่วยดำน้ำ VP 8 [3]

ในวันที่ 27 สิงหาคม ค.ศ. 1946 กุสโตและดูว์มาได้ดำน้ำเข้าไปในฟงแตนเดอโวกลูซ ซึ่งเป็นบ่อน้ำพุลึกลับในหมู่บ้านของจังหวัดโวกลูซ โดยหวังว่าจะค้นพบความลับของการที่เกิดน้ำพุพวยพุ่งขึ้นมาในแต่ละช่วงปี ฟาร์กเป็นผู้บัญชาการภาคพื้นดินของการดำเนินการในการหย่อนเชือกนำ โดยให้กุสโตและดูว์มาสามารถใช้ติดต่อภาคพื้นดินได้ เมื่อกุสโตและดูว์มาได้รับผลกระทบจากคาร์บอนมอนอกไซด์ในถังอากาศของพวกเขา ฟาร์กได้ช่วยชีวิตพวกเขาโดยการดึงพวกเขากลับขึ้นมาสู่ภาคพื้นดิน[2][3]

การเสียชีวิต[แก้]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1947 GERS ได้วางแผนที่จะใช้ชุดของการดำน้ำเพื่อตรวจสอบระดับความลึกสูงสุดที่นักดำน้ำลึกสามารถเข้าถึงได้ วันที่ 17 กันยายน ฟาร์กทำการดำน้ำครั้งแรกใกล้กับฐานทัพเรือฝรั่งเศสที่ตูลง[4] เขาลงสายสมอโดยทำเครื่องหมายตามระยะห่าง โดยได้เซ็นชื่อของเขาเพื่อรับรองความลึกที่เขาสามารถไปถึงได้ และระยะลากจูงในระดับที่ปลอดภัยซึ่งแนบไปกับเข็มขัดของเขา เพื่อให้เพื่อนที่อยู่ภาคพื้นดินได้รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่ หลังจากนั้นสามนาที ที่การบันทึกระดับความลึก 385 ฟุต ฟาร์กได้หยุดการส่งสัญญาณ ตาเยจึงได้สั่งให้ดึงเขาขึ้นมา ส่วนฌ็อง ปีนาร์ ได้ดำน้ำลงไปเพื่อหาเขา ซึ่งนั่นได้พบกับฟาร์กที่อยู่ในสภาพหมดสติ โดยหลอดปิดปากแขวนอยู่บนหน้าอกของเขา ความพยายามในการช่วยเหลือชีวิตเป็นไปอย่างต่อเนื่องถึงสิบสองชั่วโมง แต่ฟาร์กก็ได้เสียชีวิตลง อาการเมาไนโตรเจนเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเขาโดยหลอดปิดปากได้หลุดออกและจมน้ำตาย[2][3][4]

ลายเซ็นลวก ๆ ของฟาร์กบนกระดานชนวนที่ระดับ 385 ฟุต ได้เป็นเครื่องยืนยันการบันทึกระดับความลึกของเขา กุสโตและกลุ่มของเขาได้สรุปว่าที่ระดับ 300 ฟุต คือความลึกสูงสุดของนักดำน้ำที่ใช้เครื่องอัดอากาศสามารถเข้าถึงได้[2][3] ฌัก กุสโต ยังกล่าวอีกด้วยว่า: "ดูว์มาและผมต่างเป็นหนี้ชีวิตของมอริส ฟาร์ก ผู้ซึ่งได้ช่วยชีวิตพวกเราให้พ้นความตายจากถ้ำที่โวกลูซ เราไม่สามารถเรียกขวัญกลับคืนมาได้ เนื่องด้วยเราไม่สามารถเป็นฝ่ายช่วยเหลือเขาไว้ได้เลย"[3]

สิ่งสืบเนื่อง[แก้]

วันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 2007 ซึ่งเป็นการครบรอบหกสิบปีการจากไปของฟาร์ก ได้มีการจัดห้องสำหรับการอุทิศเพื่อเป็นเกียรติแก่เขาในชื่อ "ห้องมอริส ฟาร์ก" ที่พิพิธภัณฑ์นานาชาติแห่งการดำน้ำเฟรเดริก ดูว์มา ในซานารี-ซูร์-แมร์ ประเทศฝรั่งเศส ลูก ๆ ของฟาร์ก ซึ่งได้แก่ ร็อซลีนและหลุยส์ ฟาร์ก ต่างได้รับการเสนอตัวในพิธี[1][5] ที่ห้องนี้มีภาพถ่ายของฟาร์กก่อนการดำน้ำครั้งสุดท้าย และสำเนาลายเซ็นครั้งสุดท้าย[1][5][6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "INAUGURATION DE LA SALLE MAURICE FARGUES" เก็บถาวร 2012-03-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน scuba-museum.com (Retrieved on June 16, 2011)
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Matsen, Brad (2009). Jacques Cousteau: The Sea King. New York: Pantheon Books. pp. 73, 76–79, 85. ISBN 978-0-375-42413-7.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Cousteau, J. Y., with Dumas, Frédéric (1953). The Silent World, New York: Harper & Brothers Publishers. Library of Congress 52-5431
  4. 4.0 4.1 Ecott, Tim (2001). Neutral Buoyancy: Adventures in a Liquid World. New York: Atlantic Monthly Press. pp. 124–125. ISBN 0-87113-794-1.
  5. 5.0 5.1 "Nouvelle salle au Musée International de la Plongée Frédéric Dumas » plongee sous-marine" plongeur.com (Retrieved on June 23, 2011)
  6. "Philippe.Tailliez.net - Naissance du GERS et des premiers plongeurs démineurs" philippe.tailliez.net (Retrieved on June 23, 2011)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]