มณฑล (แบบจำลองทางรัฐศาสตร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขตอำนาจมณฑลที่สำคัญในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนยุคอาณานิคม: พุกาม, อยุธยา, จามปา, เขมร, ศรีวิชัย และมัชปาหิต

มณฑล (สันสกฤต: मण्डल (Maṇḍala)) มีความหมายตามรากศัพท์ว่า "วงกลม" นักรัฐศาสตร์เลือกใช้คำว่ามณฑลเพื่ออธิบายลักษณะของอำนาจทางรัฐศาสตร์ในประวัติศาสตร์โบราณบนพื้นที่อุษาคเนย์ในยุคสมัยที่อำนาจท้องถิ่นมีความสำคัญหลักในการปกครอง ซึ่งมีจุดศูนย์กลางของอำนาจอยู่ที่เมืองหรือเกอดาตวน และแผ่กระจายสู่บริเวณโดยรอบ ทั้งนี้เพื่อให้ต่างออกไปจากกรอบคิดของคนในยุคปัจจุบันซึ่งให้ความสำคัญกับความเป็นเอกภาพของรัฐอย่างเช่นการปกครองแบบราชอาณาจักรรวมศูนย์ หรือรัฐสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากเทคโนโลยีแผนที่ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 แนวคิดเรื่องมณฑลได้รับความสนใจจากวอลเตอร์ (1982) ซึ่งได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

The map of earlier Southeast Asia which evolved from the prehistoric networks of small settlements and reveals itself in historical records was a patchwork of often overlapping mandalas.[1]

แนวคิดนี้ถูกริเริ่มขึ้นมาเพื่อทำความเข้าใจกับรูปแบบการสร้างรัฐอำนาจบนดินแดนอุษาคเนย์ ตัวอย่างเช่น รูปแบบของสหพันธราชอาณาจักรอันมีอำนาจหลัก ณ ศูนย์กลางการปกครอง แนวคิดนี้พัฒนาขึ้นจากแนวคิดด้านการปกครองของอินเดียเพื่อเลี่ยงการใช้คำว่ารัฐในความหมายของรัฐสมัยใหม่ซึ่งมีพื้นฐานจากขนบการปกครองของจีนหรือยุโรปซึ่งมองว่าแผ่นดินเป็นจุดกำหนดรัฐและมีอาณาบริเวณที่กำหนดแน่นอนตายตัวโดยที่ทุกเขตการปกครองขึ้นตรงต่อส่วนกลาง ต่างจากแนวคิดของมณฑลที่มองว่าอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นถูกกำหนดโดยศูนย์กลางหลักเป็นสำคัญ ขอบเขตของอธิปไตยอาจครอบคลุมอาณาเขตของเมืองประเทศราชอื่นในลักษณะของการแผ่อำนาจ แต่จะไม่เข้าไปควบคุมดูแลกิจการภายในของเมืองประเทศราชนั้น

ระบบอำนาจแบบมณฑลอาจเทียบได้กับระบบเจ้าขุนมูลนายของยุโรปในลักษณะของความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านครกับเมืองประเทศราช อย่างไรก็ดี หัวเมืองประเทศราชภายใต้ระบบอำนาจแบบมณฑลมีความเป็นเอกเทศมากกว่าในระบบเจ้าขุนมูลนาย ความสัมพันธ์เป็นไปในลักษณะส่วนตัวมากกว่าทางการ หัวเมืองที่เป็นประเทศราชหนึ่ง ๆ อาจอยู่ใต้อำนาจของหลายขั้วอำนาจใหญ่ในเวลาเดียวกันได้

เชิงอรรถ[แก้]

  1. O.W. Wolters, 1999, p. 27