พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์)
เกิด23 สิงหาคม พ.ศ. 2412[1]
พลิมัท[2] ประเทศอังกฤษ
เสียชีวิต31 ตุลาคม พ.ศ. 2494 (82 ปี)[2][3]
อาชีพข้าราชการ
บุตรธิดาอย่างน้อย 1 คน[3]

พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (23 สิงหาคม พ.ศ. 2412[1] – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2494)[2][3] นามเดิม ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์[หมายเหตุ ก] (อังกฤษ: Francis Henry Giles) เป็นชาวอังกฤษซึ่งรับราชการในประเทศสยามจนได้เป็นอธิบดีกรมสรรพากรคนแรก[2] และวางระบบสรรพากรสมัยใหม่ในประเทศสยาม[4]

ต้นชีวิต[แก้]

ฟรานซิสเป็นชาวอังกฤษ[2] เกิดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ. 1869 (พ.ศ. 2412)[1] เกิดที่พลิมัท ในตระกูลทหารเรือ[2] ไม่ปรากฏประวัติการศึกษา[2] พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงระบุว่า ฟรานซิสเคยกล่าวว่า "ไม่เคยได้เข้าโรงเรียนหรูหราอันใด"[5]

ครั้นอายุได้ 18 ปี ฟรานซิสเข้ารับราชการกับรัฐบาลอังกฤษในพม่า ได้ทำงานในหน่วยงานปกครองท้องที่หลายแห่ง และพูดภาษาท้องถิ่นได้หลายภาษา[2] หลังรับราชการได้ 10 ปี ฟรานซิสได้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่าปลัดจังหวัด[5] ในรัฐฉาน[1]

การทำงานในสยาม[แก้]

ใน พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงขอยืมตัวฟรานซิสจากรัฐบาลอินเดีย (ซึ่งปกครองพม่า) ให้เข้ามารับราชการในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เพราะรัฐบาลสยามกำลังริเริ่มทำงบประมาณแผ่นดิน[5] เมื่อเข้ามาแล้ว ฟรานซิสมีหน้าที่ตรวจสอบบัญชีรายจ่ายทุกกระทรวง[5] และยังได้เป็นข้าหลวงคลังพิเศษ มณฑลปราจิณบุรี[5] (ราชกิจจานุเบกษาเรียก ข้าหลวงสรรพากร มณฑลปาจิณบุรี)[6] ฟรานซิสไปตรวจการคลังในมณฑลดังกล่าวแล้ว รายงานกลับมายังกระทรวงพระคลังมหาสมบัติถึงสภาพการเก็บภาษีที่สับสนวุ่นวายและการถือครองที่ดินที่ไม่เป็นระเบียบ เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติจึงเรียกตัวฟรานซิสกลับเข้ามารับตำแหน่งเจ้ากรมสรรพากรนอก มีหน้าที่จัดระบบการเก็บภาษีทั่วสยาม ยกเว้นในกรุงเทพฯ และบางเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ[5] โดยมีประกาศเรียกตัวเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ร.ศ. 118 (พ.ศ. 2442)[6]

ภายหลัง รัชกาลที่ 5 ทรงโอนกรมสรรพากรนอกไปสังกัดกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากการเก็บภาษีในครั้งนั้นต้องอาศัยหน่วยงานปกครองท้องที่ ฟรานซิสจึงต้องย้ายไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยด้วย[7] เมื่อฟรานซิสรับราชการในสยามครบ 5 ปีตามสัญญาแล้ว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นควรรั้งตัวไว้เพื่อประโยชน์ของกิจการสรรพากร รัฐบาลสยามจึงชวนให้ฟรานซิสลาออกจากราชการกับอังกฤษมารับราชการกับสยาม และฟรานซิสปฏิบัติตาม[4] บางแห่งว่า ฟรานซิสได้เปลี่ยนสัญชาติมาเป็นสยามด้วย[2] แต่บางแห่งว่า ภายหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ฟรานซิสก็ยังมีสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษอยู่[8]

ฟรานซิสทำงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยจนถึง พ.ศ. 2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ทรงให้ปรับปรุงหน่วยงานราชการเสียใหม่ในโอกาสที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ ทรงลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยรัชกาลที่ 6 ทรงให้รวมกรมสรรพากรนอก กระทรวงมหาดไทย และกรมสรรพากรใน กระทรวงพระนครบาล เข้าเป็นกรมสรรพากร กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ และให้ฟรานซิสเป็นอธิบดีกรมใหม่นี้[9] ฟรานซิสจึงเป็นอธิบดีคนแรกของกรมสรรพากร[2] โดยเริ่มดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2458[10] และได้รับเงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท เท่าอัตราขั้นต่ำของเสนาบดี พร้อมเงินพิเศษเป็นการเฉพาะตัวอีกเดือนละ 500 บาท รวมเป็นเดือนละ 2,500 บาท[9]

ใน พ.ศ. 2457 รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ฟรานซิสเป็นพระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร[11] โดยทรงนำบรรดาศักดิ์ดังกล่าวมาจากทำเนียบบรรดาศักดิ์โบราณแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา[9] นอกจากนี้ รัชกาลที่ 6 ยังพระราชทานนามสกุล "จิลลานนท์" ให้แก่ฟรานซิส[2]

นอกจากตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ใน พ.ศ. 2460 รัชกาลที่ 6 ยังทรงแต่งตั้งฟรานซิสเป็นกรรมการควบคุมการส่งข้าวออกนอกประเทศ[12] และเป็นกรรมการกำกับตรวจตราข้าวเมื่อ พ.ศ. 2462[13]

ฟรานซิสดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพากรมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ฟรานซิสก็ล้มป่วยด้วย "นัยน์ตาพิการ"[9] บางแห่งว่า "จักษุถึงมืด"[14] แต่แม้จะป่วยดังกล่าว รัฐบาลสยามก็ประสงค์ให้ฟรานซิสทำงานต่อไป[14] โดยรัชกาลที่ 7 ทรงแต่งตั้งฟรานซิสเป็นกรรมการพิจารณาลดค่าเงินบาทเนื่องจากเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ฟรานซิส และกรรมการอีกผู้หนึ่ง คือ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร เห็นควรที่สยามจะลดค่าเงินบาทเป็น 13 บาทต่อ 1 ปอนด์ แต่รัฐบาลสยามเห็นควรลดเป็น 11 บาทต่อ 1 ปอนด์ ที่สุดแล้ว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิบัติตามความเห็นของรัฐบาล[15]

อาการเกี่ยวกับนัยน์ตาของฟรานซิสนั้นเป็นแล้วหาย หายแล้วกลับเป็นอีกหลายครั้ง[9] ฟรานซิสได้ลาไปรักษาในยุโรปหลายคราว แต่การรักษาก็ไม่เป็นผล จนฟรานซิสไม่สามารถมองเห็นได้อีก[2] ฟรานซิสจึงลาออกจากราชการใน พ.ศ. 2473[2][3] แต่บางแห่งว่า เป็นวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2472[10]

บั้นปลายชีวิต[แก้]

หลังออกราชการแล้ว ฟรานซิสยังพำนักอยู่ในสยาม[2] โดยอาศัยอยู่กับครอบครัว ณ บ้านใกล้สถานีรถไฟมักกะสัน[12] และได้รับบำเหน็จพิเศษจำนวนหนึ่งจากรัฐบาลสยาม[3]

ในยามว่างนั้น ฟรานซิสเขียนและอ่านหนังสือ โดยให้ธิดาหรือผู้อื่นเขียนตามคำบอกกล่าวของตน หรืออ่านให้ตนฟัง[3] และฟรานซิสยังออกท่องเที่ยว แม้นัยน์ตาจะมองไม่เห็นแล้วก็ตาม ครั้งหนึ่ง ไปเที่ยวถึงปราสาทพระวิหาร และให้เจ้าหน้าที่คอยบรรยายสภาพโบราณสถานให้ตนฟัง[16]

นอกจากนี้ ก่อนออกราชการ ฟรานซิสได้เป็นสมาชิกของสยามสมาคมมาตั้งแต่แรกก่อตั้งใน พ.ศ. 2447 โดยดำรงตำแหน่งอุปนายกของสมาคมตั้งแต่ปีนั้นมาจนถึง พ.ศ. 2473 จึงได้เป็นนายกของสมาคม[2] เมื่อออกราชการแล้ว ฟรานซิสเป็นนายกของสมาคมนี้ต่อมาจนถึง พ.ศ. 2480 จึงลาออก แต่ยังคงเป็นสมาชิกของสมาคม และเขียนบทความหลายเรื่องลงพิมพ์ในวารสารของสมาคม เช่น เรื่องเกี่ยวกับน้ำมันพราย ตำนานเกาะหลัก ประวัติเขาตาม่องล่าย และการล่าวัวแดงบนหลังม้าที่อุบลราชธานีและกาฬสินธุ์[2] หลังสิ้นสงครามมหาเอเชียบูรพา (ใน พ.ศ. 2488) ฟรานซิสมีสุขภาพทรุดโทรมลง ไม่อาจช่วยงานสมาคมได้อีก สมาคมจึงยกย่องฟรานซิสเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคม[2]

การถึงแก่อนิจกรรม[แก้]

ฟรานซิสถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2494[2][3] 7 วันหลังจากได้รับบาดเจ็บหนักเพราะหกล้ม[17]

ฟรานซิสได้รับพระราชทานโกศแปดเหลี่ยมตามบรรดาศักดิ์พระยา[18] และศพของฟรานซิสได้รับพระราชทานเพลิงตามพิธีพุทธศาสนา[18]

ยศและบรรดาศักดิ์[แก้]

  • 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 – พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร ถือศักดินา 2,400[11]
  • 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2457 – มหาอำมาตย์ตรี[11]
  • 12 มกราคม 2461 – มหาอำมาตย์โท[19]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[แก้]

หมายเหตุ[แก้]

หมายเหตุ ก ในเอกสารไทยมีการออกนามหลายแบบ เช่น "ฟรานซิส เฮนรี ไจลส์"[2] "มิสเตอร์ฟรานซิส ไจลส์"[22] "มีสเตอรแฟรนซีสใยลส์"[4] "เอ๊ฟ. เอช. ใยลส"[11] "พระยาอินทรมนตรี (ฟรานซิน เฮนรี ไยลส์)"[21] "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (แฟรงซิส เฮนรี ไยลส์)"[20] "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (แฟรนซิส เฮนรี่ ไยลส์ จิลลานนท์)"[23] "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (แอฟ. เอช. ไยลส์ จิลลานนท์)"[3] และ "พระยาอินทรมนตรีศรีจันทรกุมาร (เอฟ.เอช.ไยล์)"[24]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Seidenfaden (1952, p. 222)
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 โรม บุนนาค (2019)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 อนุมานราชธนฯ (1978, p. 16)
  4. 4.0 4.1 4.2 อนุมานราชธนฯ (1978, p. 14)
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ก)
  6. 6.0 6.1 แจ้งความกระทรวงมหาดไทยฯ (1889, p. 462)
  7. พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ก–ข)
  8. Seidenfaden (1952, p. 226)
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ข)
  10. 10.0 10.1 ไพจิตร โพธิ์หอม (2015)
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ (1914, p. 465)
  12. 12.0 12.1 พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ค)
  13. ประกาศตั้งเจ้าพนักงานฯ (1919, p. 105)
  14. 14.0 14.1 อนุมานราชธนฯ (1978, p. 15)
  15. อนุสรณ์ ธรรมใจ (2022)
  16. พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. ค–ง)
  17. พิทยลาภพฤฒิยากร (1951, p. จ)
  18. 18.0 18.1 Seidenfaden (1952, p. 226)
  19. พระราชทานยศ (1919, p. 2871)
  20. 20.0 20.1 พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ (1919, p. 2849)
  21. 21.0 21.1 ส่งเหรียญรัตนาภรณ์ไปพระราชทานฯ (1932, p. 541)
  22. ส. ศิวรักษ์ (1983, p. 13)
  23. อนุมานราชธนฯ (1978, p. 12)
  24. กรมสรรพากร (2014)

บรรณานุกรม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]