ข้ามไปเนื้อหา

พระธาตุไจที่โย่

พิกัด: 17°28′54″N 97°05′53″E / 17.481682°N 97.098118°E / 17.481682; 97.098118
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พระธาตุอินทร์แขวน)
พระธาตุไจที่โย่
ကျိုက်ထီးရိုးဘုရား
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
สถานะเปิด
ที่ตั้ง
ที่ตั้งจังหวัดไจโท รัฐมอญ พม่า
พระธาตุไจที่โย่ตั้งอยู่ในประเทศพม่า
พระธาตุไจที่โย่
ที่ตั้งในประเทศพม่า
พิกัดภูมิศาสตร์17°28′54″N 97°05′53″E / 17.481682°N 97.098118°E / 17.481682; 97.098118
ลักษณะจำเพาะ
ความสูงยอดแหลม15 เมตร (49 ฟุต)
ระดับความสูง1,100 m (3,609 ft)

พระธาตุไจที่โย่ (พม่า: ကျိုက်ထီးရိုးဘုရား, ออกเสียง: [t͡ɕaɪ̯ʔ.tʰí.jó pʰə.já]; มอญ: ကျာ်သိယဵု, ออกเสียง: [tɕaiʔ sɔeʔ jɜ̀]) หรือที่คนไทยเรียกว่า พระธาตุอินทร์แขวน เป็นเจดีย์ที่จาริกแสวงบุญของพุทธศาสนิกชน ตั้งอยู่ในรัฐมอญ ประเทศพม่า เป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก (7.3 เมตร (24 ฟุต)) สร้างขึ้นบนก้อนหินแกรนิตที่ปิดด้วยทองคำเปลวโดยผู้ที่นับถือศรัทธา

เชื่อว่าพระธาตุไจที่โย่เป็นที่ประดิษฐานพระเกศาธาตุของพระโคตมพุทธเจ้า ตั้งอยู่บริเวณหน้าผาสูงชันบนยอดเขาไจที่โย่อย่างหมิ่นเหม่ เหมือนจะหล่นและท้าทายแรงดึงดูดของโลกโดยไม่ตกลงมา ตามตำนานระบุว่าฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้าและนำมาไว้ในมวยผม ตั้งใจจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของฤๅษี ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทรและนำมาวางไว้บนภูเขา พระธาตุไจที่โย่นับเป็น 1 ใน 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของชาวพม่า[1][2][3][4]

ปัจจุบันผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านในบริเวณพระธาตุ ซึ่งดูแลโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเฝ้าประตูรั้วรอบขอบชิด ผู้หญิงสามารถเข้าออกได้ที่ระเบียงด้านนอกและลานด้านล่างของก้อนหิน

ศัพทมูลวิทยา

[แก้]

ในภาษามอญ คำว่า ไจก์ (ကျာ်) แปลว่า "พระเจดีย์" และ เหย่อ (ယဵု) แปลว่า "ทูนไว้ข้างบน" ส่วนคำว่า อิซอย (ဣသိ มาจากคำว่า ริซิ ရိသိ ในภาษาบาลี) ในภาษามอญแปลว่า "ฤๅษี" ดังนั้น ไจที่โย่ จึงหมายถึง "พระเจดีย์บนศีรษะฤๅษี"[5][6]

ตำนาน

[แก้]

ตำนานที่เกี่ยวข้องกับเจดีย์กล่าวว่า ฤๅษีติสสะได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า และมัดซ่อนไว้ในจุกผมเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางกลับเพื่อถวายกษัตริย์ ด้วยความปรารถนาที่จะประดิษฐานพระเกศาไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างเหมือนศีรษะของฤๅษี กษัตริย์มีพระมารดาเป็นธิดาของพญานาค พบหินที่ด้านล่างของทะเล และได้รับความช่วยเหลือจากพระอินทร์ ในการหาสถานที่วางหินเพื่อสร้างพระเจดีย์ เรือที่ใช้ในการขนส่งก้อนหินกลายเป็นหิน และเป็นที่เคารพบูชาโดยผู้จาริกแสวงบุญ โดยอยู่ห่างจากพระธาตุไจที่โย่ประมาณ 300 เมตร (980 ฟุต) รู้จักกันในชื่อ พระเจดีย์เจาะตานบาน (Kyaukthanban Pagoda) แปลว่า "พระเจดีย์เรือหิน"[1][6][7]

ตำนานอีกตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล ฤๅษีติสสะเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระเกศาจากพระพุทธเจ้า เมื่อครั้นได้มาแสดงธรรมเทศนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ ผู้ที่ได้รับมอบพระเกศาต่างก็นำไปบรรจุในสถูปเจดีย์ ส่วนฤๅษีติสสะกลับนำไปซ่อนไว้ในมวยผม เมื่อเวลาล่วงเลยถึงคราวที่ฤๅษีติสสะจะต้องละสังขารเต็มที เขาตั้งใจไว้ว่าจะนำพระเกศาไปบรรจุไว้ในก้อนหินที่มีรูปร่างคล้ายกับศีรษะของเขา พระอินทร์จึงช่วยเสาะหาก้อนหินดังกล่าวจากใต้ท้องมหาสมุทรและนำมาวางไว้บนภูเขาหิน บางตำนานก็เล่าว่า มีฤๅษีองค์หนึ่งซ่อนพระเกศาที่ได้รับมาจากพระพุทธเจ้าเมื่อครั้นมาโปรดสัตว์ในถ้ำไว้ในมวยผมมาเป็นเวลานาน เมื่อใกล้ถึงวาระที่จะต้องละสังขารจึงตัดสินใจมอบพระเกศาให้กับพระเจ้าติสสะ กษัตริย์ผู้ครองนครแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรของลูกศิษย์ที่นำมาฝากให้ฤๅษีช่วยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็ก แต่ก่อนอื่นพระเจ้าติสสะต้องหาก้อนหินที่มีลักษณะคล้ายศีรษะของฤๅษี โดยมีพระอินทร์เป็นผู้ช่วยค้นหาจากใต้สมุทรนำมาวางไว้ที่หน้าผา[8][9]

ในความเชื่อ ผู้จาริกแสวงบุญโดยการเดินป่าจากฐานค่ายกีนมู่นมายังพระธาตุ สามครั้งติดต่อกันในหนึ่งปีจะมีความมั่งคั่งและได้รับคำสรรเสริญ[10]

ซ้าย: ระบบภาพสามมิติ ในปี ค.ศ. 1900 ขวา: ทิวทัศน์เวลากลางคืนปี ค.ศ. 2007 ซ้าย: ระบบภาพสามมิติ ในปี ค.ศ. 1900 ขวา: ทิวทัศน์เวลากลางคืนปี ค.ศ. 2007
ซ้าย: ระบบภาพสามมิติ ในปี ค.ศ. 1900 ขวา: ทิวทัศน์เวลากลางคืนปี ค.ศ. 2007

ภูมิศาสตร์

[แก้]

พระธาตุไจที่โย่ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างอำเภอไจโท จังหวัดสะเทิม รัฐมอญ กับอำเภอชเวจีน จังหวัดพะโค ภาคพะโค ใกล้ชายฝั่งตะนาวศรีตอนเหนือ ตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 1,100 เมตร (3,609 ฟุต) เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางบนยอดเขาไจที่โย่ (ยังเป็นที่รู้จักกันในนามเนินเขาเคลาซาหรือทิวเขาโยมาตะวันออก) อยู่บนสันเขาปองลองของทิวเขาโยมาตะวันออก ห่างจากนครย่างกุ้งประมาณ 210 กิโลเมตร (130 ไมล์) และห่างขึ้นมาทางเหนือจากเมาะลำเลิง เมืองหลักของรัฐมอญ 140 กิโลเมตร (86 ไมล์)[11][12] หมู่บ้านกีนมู่น 16 กิโลเมตร (10 ไมล์) ตั้งอยู่ที่ฐานของภูเขาไจที่โย่ เป็นเส้นทางเริ่มต้นในการเดินทางขึ้นไปพระธาตุไจที่โย่ ตลอดเส้นทางมีก้อนหินแกรนิตบนภูเขาหลายแห่งที่ตั้งอยู่ในสภาพหมิ่นเหม่ สถานีสุดท้ายรู้จักในชื่อ ยาเตตอง เป็นจุดสุดท้ายสำหรับการจราจรยานพาหนะ จากนั้นผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวจะต้องขึ้นไปพระธาตุด้วยการเดินเท้าหรือขึ้นเสลี่ยง จากจุดหยุดรถยาเตตองขึ้นไปบริเวณพระธาตุ มีร้านค้าขนาดเล็กตามทางริมสองฝั่ง ด้านบนของภูเขามีรูปปั้นชินเตคล้ายสิงโตขนาดใหญ่สองตัวคอยเฝ้าประตูทางเข้าพระธาตุ[1][3][7][13] เส้นทางถนนบนภูเขาสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542[1] จากฐานที่หมู่บ้านกีนมู่นมายังพระธาตุมีระยะทางทั้งหมดประมาณ 11 กิโลเมตร (6.8 ไมล์) และเป็นส่วนหนึ่งของการจาริกแสวงบุญ[14] นอกจากนี้ยังมีวัดและเจดีย์หลายแห่งที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ บนเนินเขาบริเวณใกล้เคียงกับพระธาตุไจที่โย่ ผู้แสวงบุญและนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาโดยการเดินป่าตามเส้นทางการเดินเท้า[10]

โครงสร้าง

[แก้]

ก้อนหินสีทองที่มีการสร้างพระเจดีย์ขนาดเล็กไว้ด้านบน มีความสูงประมาณ 25 ฟุต (7.6 เมตร) และมีเส้นรอบวง 50 ฟุต (15 เมตร) พระเจดีย์เหนือหินมีความสูงประมาณ 7.3 เมตร (24 ฟุต) ก้อนหินตั้งอยู่บนแท่นหินธรรมชาติที่ดูเหมือนเป็นฐานของพระธาตุ ตั้งอยู่บนระนาบที่เอียงและบริเวณที่สัมผัสมีขนาดเล็กมาก ก้อนหินและฐานหินเป็นอิสระจากกัน ก้อนหินสีทองมีส่วนที่ยื่นออกไปครึ่งหนึ่งของความยาว และตั้งอยู่ที่ปลายสุดของพื้นผิวที่ลาดเอียงของฐานหินที่ชันดิ่งลงไปในหุบเขาเบื้องล่าง มีรูปประดับกลีบบัวสีทองล้อมรอบฐานหิน ก้อนหินดูลักษณะเหมือนจะล้มลงมาทุกขณะ บันไดสู่พระธาตุมีอาคารซับซ้อนหลายรูปแบบเช่น ลาดดาดฟ้าชมทิวทัศน์, เจดีย์ต่าง ๆ, วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปและศาลนะ (วิญญาณ) เป็นต้น อย่างไรก็ตามพระธาตุไจที่โย่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักสำหรับผู้แสวงบุญที่สวดมนต์และปิดทองบนพระธาตุด้วยความศรัทธา ห่างออกไปเล็กน้อยมีฆ้องตั้งอยู่ บริเวณกลางลานเป็นเสาหงส์มีระฆังและรูปปั้นเทวดากับนะทั้งสี่ทิศล้อมรอบเสา[1][3][4][7][10][13][14]

ลานหลักใกล้กับพระธาตุมีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและถวายเครื่องบูชาของผู้แสวงบุญ ที่อยู่ติดกับลานคือหมู่บ้านที่มีร้านอาหาร ร้านขายของกระจุกกระจิกและเกสต์เฮาส์ มีการทำระเบียงขึ้นใหม่ตามชั้นของเนินเขาซึ่งผู้เข้าชมสามารถมองเห็นทัศนียภาพของพระธาตุ[1]

การจาริกแสวงบุญ

[แก้]

พระธาตุไจที่โย่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในเทศกาลจาริกแสวงบุญช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม บรรยากาศของความศรัทธาจะเห็นได้ทั่วบริเวณพระธาตุ ขณะที่พระธาตุส่องประกายระยิบระยับในเฉดสีที่แตกต่างจากรุ่งอรุณถึงค่ำ (เวลารุ่งอรุณและตอนพระอาทิตย์ตกดินเป็นเอกลักษณ์) การสวดมนต์ของผู้แสวงบุญจะดังขึ้นในบริเวณพระวิหาร แสงเทียนและการทำสมาธิถวายเป็นพุทธบูชามีต่อเนื่องตลอดทั้งคืน ผู้ชายสามารถเข้าไปปิดทองบนองค์พระธาตุได้ อย่างไรก็ตามผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยังองค์พระธาตุ ผู้แสวงบุญที่มายังพระธาตุไจที่โย่มาจากทุกภูมิภาคของประเทศพม่า นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพียงไม่กี่คนก็แวะไปที่พระธาตุ แม้แต่ผู้พิการที่เคร่งศาสนาก็ขึ้นบันไดมายังพระธาตุด้วยไม้ค้ำ ผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินขึ้นไปจะถูกยกขึ้นบนแคร่หามเพื่อพาไปยังพระธาตุ[2][4][15] ช่วงจันทร์เพ็ญ เดือนดะบ้อง ในปฏิทินพม่าหรือตรงกับช่วงเดือนมีนาคม เป็นโอกาสพิเศษสำหรับผู้แสวงบุญที่มาเยี่ยมชมพระธาตุ ในวันนี้จะมีการจุดเทียนกว่าเก้าหมื่นชิ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ผู้ที่ไปเยี่ยมชมพระธาตุยังมีการถวายอาหารผลไม้และธูปเทียน[6][16]

ปัจจุบันผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปด้านในบริเวณพระธาตุ ซึ่งดูแลโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเฝ้าประตูรั้วรอบขอบชิด ผู้หญิงสามารถเข้าออกได้ที่ระเบียงด้านนอกและลานด้านล่างของก้อนหิน ความเชื่อเกิดขึ้นจากข้อปฏิบัติที่ผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อทางกายกับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งพระธาตุเปรียบเสมือนเป็นตัวแทนศีรษะพระภิกษุสงฆ์

คลังภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 Reid, Robert; Michael Grosberg (2005). Myanmar (Burma). Lonely Planet. pp. 147–149. ISBN 1740596951. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  2. 2.0 2.1 Edwards, Morgan; Steve Goodman (2009). To Myanmar with Love: A Travel Guide for the Connoisseur. hingsAsian Press. pp. 57–59. ISBN 1934159069. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  3. 3.0 3.1 3.2 "The Golden Rock with the Kyaik-htiyo-Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-07. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  4. 4.0 4.1 4.2 Manieri, Ruth A. (2006). The Myanmar Maneuver. AuthorHouse. pp. 175–176. ISBN 1425932320. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  5. "The Golden Rock with the Kyaik-htiyo-Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-21. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  6. 6.0 6.1 6.2 "Kyaik Hti Yo Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-24. สืบค้นเมื่อ 2010-03-26. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  7. 7.0 7.1 7.2 "Kyaiktiyo:The Golden Rock That Balances on a Hair". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-02-14. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  8. "นมัสการพระธาตุประจำปีเกิด 12 ปีนักษัตร ตามความเชื่อของชาวล้านนา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-25. สืบค้นเมื่อ 2012-05-15.
  9. เที่ยวพม่า ตามรอยเจ้าจันทร์ผมหอม นมัสการพระธาตุอินทร์แขวน
  10. 10.0 10.1 10.2 "Kyaikhtiyo - The Golden Rock Stupa". News Finder; A Literary favour to world culture. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-04. สืบค้นเมื่อ 2010-03-26.
  11. "The Kyaiktiyo or golden Rock Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-23. สืบค้นเมื่อ 2010-03-26.
  12. Political situation of Myanmar and its role in the region. Office of Strategic Studies, Ministry of Defence, Union of Myanmar. 2000. p. 87. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25. Kyaiktiyo pagoda, now known as Golden Rock, is located on top of Kyaiktiyo hill at about 1100 meters (3600 feet) above sea level, 210 km from Yangon. The pagoda was built over a hair relic
  13. 13.0 13.1 "Kyaiktiyo:The Golden Rock That Balances on a Hair". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-04-08. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  14. 14.0 14.1 "Myanmar - Kyaiktiyo Pagoda (Golden Rock)". สืบค้นเมื่อ 2010-03-26.
  15. Reid p.150
  16. "Kyaikhtiyo Pagoda". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 3, 2009. สืบค้นเมื่อ 2010-03-26.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]