พรรคกรรมกร (พ.ศ. 2498)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พรรคกรรมกร
(พ.ศ. 2498)
หัวหน้าประกอบ โตลักษณ์ล้ำ
เลขาธิการใคล ชุณหะจันทน์
ก่อตั้ง4 ตุลาคม พ.ศ. 2498
ถูกยุบ20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 (3 ปี 16 วัน)
การเมืองไทย
รายชื่อพรรคการเมือง
การเลือกตั้ง

พรรคกรรมกร (อังกฤษ: Labor Party) เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนต่อสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 ทะเบียนเลขที่ 4/2498 ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2498[1]หัวหน้าพรรคคือ นายประกอบ โตลักษณ์ล้ำ เลขาธิการพรรคคือ นางใคล ชุณหะจันทน

นโยบาย[แก้]

นโยบายด้านการต่างประเทศ[แก้]

พรรคกรรมกรจะมุ่งส่งเสริมและผดุงสัมพันธภาพกับนานาประเทศ และวงการสังคมประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อดำรงไว้ซึ่งเสรีภาพและสันติภาพของโลก โดยยึดหลักปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

นโยบายด้านเศรษฐกิจ[แก้]

พรรคกรรมกรจะมุ่งส่งเสริมการเศรษฐกิจและสังคมสงเคราะห์ เพื่ออำนวยความผาสุกแก่ประชาชน ส่งเสริมการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในประเทศ จัดระบบอาชีพให้ประชาชนมีงานทำโดยทั่วกัน และป้องกันการว่างงานของประชาชน ส่งเสริมการจัดตั้งสหบาลอาชีพให้เป็นปึกแผ่นทั่วประเทศ ตลอดจนส่งเสริมและขยายให้มีการสหกรณ์ทั่วประเทศ

นโยบายด้านการคลัง[แก้]

พรรคกรรมกรจะมุ่งจะรักษาเสถียรภาพทางการคลังให้เข้าสู่ดุลยภาพ โดยจัดงบประมาณให้เป็นไปในทางประหยัด เพื่อให้บังเกิดผลแก่ประชาชนมากที่สุด จัดระบบภาษีอากรให้เป็นธรรมต่อสังคม เพื่อยังความผาสุกแก่ประชาชน จะรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน

นโยบายด้านการศึกษา[แก้]

พรรคกรรมกรจะมุ่งส่งเสริมและยกระดับการศึกษาของประชาชนให้อยู่ในมาตรฐานเท่าเทียมกันกันทั่วประเทศ ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการศึกษา และขยายการศึกษาโดยทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสได้รับการศึกษาตามความสามารถและความต้องการ

นโยบายด้านการปกครอง[แก้]

พรรคกรรมกรจะกระจายอำนาจการปกครองไปสู่ประชาชนให้มากที่สุด จะส่งเสริมความเจริญของท้องถิ่น และขยายการสาธารณสุขให้ทั่วถึง จะรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และให้การเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้หลักประกันโดยการคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชนในการประกอบอาชีพด้วยความเป็นธรรม

นโยบายด้านความเป็นเอกราช[แก้]

พรรคกรรมกรจะดำรงไว้ซึ่งความเป็นเอกราชของชาติ โดยจะป้องกันและรักษาความเป็นเอกราชของชาติทุกกรณี และนโยบายด้านการศาล จะแยกอำนาจตุลาการออกจากอำนาจบริหารโดยเด็ดขาด เพื่อให้ศาลมีอิสระในการพิจารณาอรรถคดีตามตัวบทกฎหมาย

การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[แก้]

พรรคกรรมกร ถือเป็นหนึ่งในพรรคขนาดเล็กในจำนวนมาก ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2498 และพยายามเสนอนโยบายของต่อตนประชาชนในการส่งผู้สมัครของพรรคลงแข่งขันรับเลือกตั้ง แต่ผลการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ปรากฏว่าผู้สมัครจากบรรดาพรรคขนาดเล็กเหล่านี้ไม่ได้รับการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียว กล่าวคือ ในจำนวนพรรคการเมือง 20 กว่าพรรคนั้น มีเพียง 8 พรรคเท่านั้นที่สมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคธรรมาธิปัตย์ พรรคเศรษฐกร พรรคชาตินิยม พรรคขบวนการไฮด์ปาร์ค พรรคอิสระ และไม่สังกัดพรรค

ยุบพรรค[แก้]

พรรคกรรมกรถูกยุบเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ตามคำสั่งคณะปฏิวัติ ที่มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ[2]

อ้างอิง[แก้]

  1. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การจดทะเบียนพรรคการเมืองกรรมกร
  2. "ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๘ (มีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติ ยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๔๙๘ ให้บรรดาพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลงไป)" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-14. สืบค้นเมื่อ 2018-10-24.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • สมุทร สุรักขกะ, 26 การปฏิวัติไทยและรัฐประหาร สมัย 2489 ถึง 2507, พระนคร: โรงพิมพ์สื่อการพิมพ์, 2507
  • ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, การเมืองและพรรคการเมืองไทยนับแต่ยุคแรกถึงปัจจุบัน, พระนคร: สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2511