ฝ้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฝ้า

ฝ้า เป็นสภาพผิวหนังของใบหน้าที่มีปื้นเป็นสีคล้ำ เกิดจากการเพิ่มจำนวนเม็ดสีที่ผิวหนังซึ่งถูกกระตุ้นด้วยแสงแดด ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะเป็นฝ้าแต่ผู้ชายก็เป็นฝ้าได้หากตากแดดมากเกินไป

วัยที่เริ่มเป็นฝ้า ได้แก่ วัยกลางคน พบเป็นกันมากในประเทศเขตร้อนเพราะได้รับแสงแดดมากกว่าที่อื่น ยังมีปัจจัยทางพันธุกรรมและฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สำหรับฝ้าที่เกิดจากฮอร์โมน คือฝ้าที่เกิดระหว่างการตั้งครรภ์หรือในช่วงที่กินยาคุมกำเนิด เมื่อหมดการกระตุ้นจากฮอร์โมนตามที่กล่าวมาฝ้าที่เป็นอยู่ก็จะหายขาดไปเอง รวมถึงการแพ้เครื่องสำอางบางอย่างอาจทำให้เกิดฝ้าดำขึ้นได้

ฝ้าที่เกิดใหม่มักเป็นชนิดตื้น เกิดจากการที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้ามีจำนวนเม็ดสีเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเป็นไปนาน ๆ ก็มีโอกาสกลายเป็นฝ้าลึก ซึ่งเกิดจากการเพิ่มของเม็ดสีในชั้นหนังแท้ สีฝ้าจะคล้ำเข้มมากขึ้น และรักษาให้หายยาก

ชนิดของฝ้า[แก้]

  1. ฝ้าตื้น (Epidermal type) เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี สร้างเม็ดสีและลำเลียงเม็ดสีขึ้นสู่ผิวหนังชั้นบนสุด (ชั้นหนังกำพร้า) จึงทำให้ฝ้าชนิดนี้มีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ และ มักมีขอบเขตชัดเจน
  2. ฝ้าลึก (Dermal type) จะมีอาการผิดปกติ อยู่ในชั้นที่ลึกกว่าชนิดแรก โดยจะเกิดฝ้าในระดับที่ลึกกว่าผิวหนังกำพร้า จะเกิดความผิดปกติในระดับชั้นผิวหนังแท้ มีขอบเขตไม่ชัด ลักษณะเป็นสีม่วงอมน้ำเงิน วิธีรักษาฝ้าทำได้ยากกว่าฝ้าชนิดตื้น และหายขาดได้ยาก การใช้ยาทาฝ้าอ่อนๆ และ ครีมกันแดด เพียงแต่ช่วยให้ดีขึ้นเท่านั้น
  3. ฝ้าผสม (Mixed type) คือมีการผสมกันทั้งฝ้าแบบตื้น และฝ้าแบบลึก ฝ้าชนิดนี้เป็นชนิดที่พบมากที่สุดในคนทั่วไป
  4. ฝ้าที่ไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่าเป็นฝ้าชนิดใด (Indeterminate type) มักพบในผู้ที่สีผิวเข้มมาก หรือ คล้ำมาก เช่น ในชนชาติแอฟริกัน เป็นต้น

การรักษา[แก้]

การทายาที่มีตัวยาไฮโดรควิโนน หรือกรดวิตามินเอ พวกนี้จะไปยับยั้งการสร้างเม็ดสี สารในกลุ่มไวเทนนิ่ง เช่น กรดโคจิก ชาเขียว ชาขาว ซึ่งจะมีพิษน้อยกว่าในกลุ่มที่เป็นยา แต่ประสิทธิภาพในการรักษายังไม่แน่นอน เพราะไม่มีหลักฐานวิชาการสนับสนุนชัดเจน

การรักษาด้วยเทคโนโลยี เช่น การทำเลเซอร์ด้วย คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ต้องระวัง เพราะมีผลข้างเคียงสูงบางคนทำแล้วหายก็จริง แต่ผิวที่ขึ้นใหม่จะคล้ำเป็นรอยดำ ซึ่งเกิดจากรอยแผลของการทำเลเซอร์ ส่วนการรักษาฝ้าด้วยวิธีไอออนโตหรือโฟโตนั้นยังไม่เป็นการรักษาที่ยอมรับในระดับสากล หากจะใช้วิธีการักษาดังกล่าวต้องใช้ควบคู่กับการทายาด้วยจึงจะได้ผล

การรักษาฝ้าแบบวิธีธรรมชาติด้วยสมุนไพร เช่น การใช้น้ำมะนาว ใบกะเพราะ ว่านหางจระเข้ ไข่ขาว หัวไชเท้า มะละกอสุก หัวหอม ใบบัวบก น้ำส้มสายชูจากแอปเปิ้ล  

อ้างอิง[แก้]

  • นิตยสารชีวจิต ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2550

ดูเพิ่ม[แก้]