ผู้ใช้:Thanyaluk Chaikumharn/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส

ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการปกครองประเทศฝรั่งเศส[แก้]

ประเทศฝรั่งเศส เป็นรัฐเดี่ยว มีการปกครองแบบประชาธิปไตยกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นประมุขของประเทศบริหารร่วมกับนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ประเทศฝรั่งเศสมีพื้นที่ 543,965 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 60 ล้านคน มีการปกครองท้องถิ่น 3 รูปแบบ คือ เทศบาลประมาณ 36,000 เทศบาล จังหวัด 100 จังหวัด และภาค 26 แห่ง เมืองหลวงของฝรั่งเศสคือปารีส ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษ[1]

แนวคิดการกระจายอำนาจ[แก้]

กระจายอำนาจ คือ การไม่รวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง และการมอบอำนาจให้แก่หน่วยการปกครองท้องถิ่น แนวคิดการกระจายอำนาจคือการมอบอำนาจไปสู่หน่วยงานระดับล่าง เป็นการแบ่งพื้นที่ของรัฐเป็นพื้นที่ย่อยๆ เพื่อสร้างองค์กรทางการเมือง และบริหารพื้นที่นั้น การแบ่งการปกครองเป็นหน่วยย่อยมี 2 รูปแบบ คือ รัฐเดี่ยว และสหพันธรัฐ การกระจายอำนาจมีหลายรูปแบบ ประกอบด้วยองค์กรที่มีหน้าที่ต่างกัน สามารถมอบอำนาจให้หน่วยงานปกครองที่ต่ำลงไป และหน่วยงานปกครองที่ต่ำลงไปนั้นก็สามารถกระจายอำนาจภายในองค์กรของตนได้[2]

หลักทั่วไปเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น[แก้]

การปกครองท้องถิ่นเป็นรูปแบบการปกครองที่สำคัญ เพราะพื้นที่ต่างๆของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน เช่น เศรษฐกิจ สภาพสังคม สภาพการเมือง เมื่อแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย รัฐบาลจึงไม่สามารถตอบสนองความต้องการให้เหมาะสมได้ องค์กรปกครองท้องถิ่นจึงให้ประชาชนมีโอกาสเลือกตัวแทนท้องถิ่นมากำหนดนโยบายและแนวทางการบริหารของแต่ละท้องถิ่น ประชาชนจึงได้เป็นผู้กำหนดทิศทางการบริหารงานให้ตรงกับความต้องการในท้องถิ่นของตน และท้องถิ่นนั้นจะต้องมีอำนาจอิสระจากรัฐบาลกลางในหลายด้าน จึงนำหลักการกระจายอำนาจ มาใช้ในการปกครองท้องถิ่น[3]

หลักความเป็นอิสระในการบริหารงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

หลักความเป็นอิสระในการบริหารงานจำกัดไว้ 3 หลักคือ

  • 1. หลักว่าด้วยการแบ่งแยกมิได้ของรัฐ บัญญัติไว้ในมาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าฝรั่งเศสเป็นสาธารณรัฐที่แบ่งแยกมิได้
  • 2. หลักว่าด้วยความเสมอภาค ถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่แม้จะมีอิสระในการบริหารงาน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักว่าด้วยความเสมอภาค
  • 3. หลักว่าด้วยความชอบด้วยกฎหมาย เป็นข้อจำกัดความเป็นอิสระ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย[4]

ประชาธิปไตยท้องถิ่น (การมีส่วนร่วมของประชาชน)[แก้]

ประชาธิปไตยในปัจจุบันกลายเป็นเพียงประชาธิปไตยเพื่อประชาชนคือเป็นรูปแบบของการออกเสียงลงคะแนน แต่แรกเริ่มนั้นเป็นการปกครองโดยประชาชนและของประชาชนเอง ไม่อาศัยผู้แทน[5] แต่ถึงแม้จะมีผู้บริหารเข้ามาเป็นผู้แทน ประชาชนก็ยังสามารถร่วมกันดูแลบ้านเมืองได้เหมือนกับประชาธิปไตยท้องถิ่น ที่ประชาชนในท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองท้องถิ่น และบริหารท้องถิ่นเองได้โดยการรับทราบการดำเนินการต่างๆและการตัดสินใจของผู้บริหาร[6]

รัฐธรรมนูญกับการปกครองท้องถิ่น[แก้]

รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปัจจุบัน คือ ฉบับลงวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 บัญญัติไว้ในหมวด 12 มาตรา 72 เกี่ยวกับการที่องค์กรปกครองท้องถิ่นมีอำนาจบริหารตนเองได้อย่างอิสระโดยสภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง มาตรา72 กล่าวไว้อย่างชัดเจนมี 2 รูปแบบคือ จังหวัด และเทศบาล จังหวัดและดินแดนต่าง ๆ ผู้แทนรัฐบาลดูแลผลประโยชน์ของชาติ การบริหารงานและให้มีการเคารพกฎหมาย[7]

กฎหมายเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่น[แก้]

องค์กรปกครองรูปแบบอื่นนอกจากจังหวัดและเทศบาล สามารถจัดตั้งได้โดยกฎหมาย กฎหมายปกครองท้องถิ่นที่รัฐสภาออกได้ ได้แก่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หลักพื้นฐานของการบริหารงานตนเองอย่างอิสระ อำนาจหน้าที่และรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โครงสร้างการบริหารงานไม่สามารถกำหนดไว้ในกฎหมายได้เนื่องจากมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญมิได้ให้อำนาจไว้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะกำหนดกฎหมายของฝ่ายบริหาร กระทรวงอื่นสามารถออกกฎกระทรวงของตนเองมาใช้ในเขตเทศบาลได้ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตร กระทรวงศึกษา เป็นต้น[8]

โครงสร้างขององค์กรปกครองท้องถิ่น[แก้]

เทศบาล[แก้]

เป็นองค์กรกระจายอำนาจ มีการพัฒนาแนวทางในการกระจายอำนาจจนถึงปัจจุบัน อำนาจหน้าที่ของเทศบาลโดยทั่วไป จะดูแลเรื่องการศึกษาก่อนวัยเรียน ถนน เศรษฐกิจท้องถิ่น สุขอนามัย ฯ และยังมีการปฏิบัติหน้าที่ประจำวันต่างๆเช่นเก็บขยะมูลฝอย น้ำประปา เป็นต้น ประเทศฝรั่งเศสมีเทศบาลประมาณ 36,000 แห่ง โดยเทศบาลจะมีสภาเทศบาล และฝ่ายบริหารคือคณะเทศมนตรีประกอบไปด้วยนายกเทศมนตรีและเทศมนตรี โดยสภาเทศบาล สมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีวาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี และภายใน 8 วันหลังจากเลือกตั้งสภาเทศบาล จะต้องจัดประชุมครั้งแรกเพื่อเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและเทศมนตรีตามจำนวนที่สภาเทศบาลกำหนดแต่ละเทศบาลต้องมี เทศมนตรีอย่างน้อย 1 คน[9]

จังหวัด[แก้]

เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1789 มีการจัดระบบจังหวัดใหม่ให้มีฐานะเป็นนิติบุคคล กำหนดให้มีผู้ว่าการจังหวัด จากส่วนกลางทำหน้าที่เป็นฝ่ายบริหารของจังหวัด ต่อมากฎหมายลงวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1982 ได้โอนอำนาจให้เป็นของสภาจังหวัด ปัจจุบันประเทศฝรั่งเศสมี 100 จังหวัด โครงสร้างจังหวัดประกอบด้วย สภาจังหวัด มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งของประชากรในเขตจังหวัด สภาจังหวัดมีการประชุมอย่างน้อย 1 ครั้งต่อ 3 เดือนประชาชนสามารถเข้าฟังการประชุมได้ สภาจังหวัดมีหน้าที่สำคัญด้านงบประมาณ บริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล ทรัพย์สินจังหวัด และด้านเศรษฐกิจ[10]

ภาครัฐหรือมณฑล[แก้]

จัดตั้งขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระของส่วนกลาง ไม่มีสถานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่มีสถานะเป็นองค์การมหาชนอิสระ มีหน้าที่พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขององค์กรที่อยู่ในเขตภาค ปัจจุบันฝรั่งเศสประกอบด้วย 26 ภาค แต่ละภาคประกอบด้วย 3 องค์กร คือสภาภาคทำหน้าที่ฝ่ายสภา ประธานสภาภาค ทำหน้าที่ฝ่ายบริหารและคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ปรึกษา[11]

การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ[แก้]

การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เกิดจากเหตุผลหลายประการทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ หรือภูมิศาสตร์ ได้แก่ เมืองขนาดใหญ่ คือ เมือง Paris เมือง Lyon เมือง Marseille เกาะ Corse จังหวัดโพ้นทะเล[12]

อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น[แก้]

เดิมประเทศฝรั่งเศสมีท้องถิ่น 2 รูปแบบคือ เทศบาลและจังหวัด แต่การให้บริการต่างๆไม่ทั่วถึงจึงเกิดเป็น ภาค และได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นแต่ละประเภทไว้ชัดเจนดังนี้คือ การฝึกฝนวิชาชีพ ที่อยู่อาศัย การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและการจัดการพื้นที่ การผังเมือง ท่าเรื่อและทางน้ำ การศึกษา การขนส่งนักเรียน กิจกรรมทางสังคมสุขภาพอนามัย และวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อม[13]

การคลังท้องถิ่น[แก้]

รายได้[แก้]

รายได้จากภาษี ถือเป็นรายได้ที่ท้องถิ่นหามาได้เอง ไม่ได้มาจากส่วนกลาง โดยมีภาษี 4 ประเภท คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีเพื่อการอยู่อาศัย และภาษีเพื่อการประกอบวิชาชีพ[14] รายได้อื่นๆ นอกจากภาษีอากร เป็นรายได้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีทรัพย์สินบางประเภทอยู่แล้ว และนำทรัพย์สินนั้นไปหารายได้ด้วยการขาย หรือให้บริการเช่น ค่าผ่านทาง ค่าน้ำประปา ฯลฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักมีทรัพย์สินค่อนข้างน้อย เงินอุดหนุนจากรัฐบาลจึงเป็นรายได้นอกเหนือจากภาษี แยกเป็น 3 ประเภทคือ เงินอุดหนุนเพื่อการดำเนินงาน เงินอุดหนุนเพื่อการลงทุน เงินอุดหนุนเพื่อการกระจายอำนาจ และเงินกู้ก็เป็นแหล่งรายได้อีกชนิดหนึ่ง[15]

รายจ่าย[แก้]

รายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ ของรายจ่ายของรัฐ รายจ่ายจำนวนนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี รายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาได้เป็น 2 แง่มุมคือ 1. การแบ่งแยกรายจ่ายตามลักษณะทางเศรษฐกิจคือ รายจ่ายเพื่อการดำเนินงาน และรายจ่ายเพื่อการลงทุน 2. การแบ่งแยกรายจ่ายตามลักษณะทางกฎหมายคือ รายจ่ายที่จำเป็น และ รายจ่ายที่ต้องห้าม[16]

  1. รศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์, การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิมพ์อักษร, 2543), หน้า 2
  2. การกระจายอำนาจสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น (Decentralization : The Territorial Dimension of the State) กรุงเทพฯ:สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ, 2552, หน้า 1-3
  3. อีพีเอ ปริทัศน์, การปกครองท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมของประชาชน(กรุงเทพฯ:โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545), หน้า 5-6
  4. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 25-27
  5. ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์, แปรถิ่น เปลี่ยนฐาน: สร้างการปกครองท้องถิ่นให้เป็นรากฐานของประชาธิปไตย(กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2554), หน้า 24
  6. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 27-28
  7. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 31
  8. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 32-34
  9. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 46-52
  10. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 53-57
  11. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 58-62
  12. รศ. ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์, การปกครองท้องถิ่นฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:บริษัท สุขุมและบุตร จำกัด, 2554), หน้า 62
  13. รศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์, การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิมพ์อักษร, 2543), หน้า 15-17
  14. รศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์, การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิมพ์อักษร, 2543), หน้า 18-19
  15. รศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์, การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิมพ์อักษร, 2543), หน้า 20-21
  16. รศ. ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์, การปกครองท้องถิ่นประเทศฝรั่งเศส(กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์พิมพ์อักษร, 2543), หน้า 22-23