ผู้ใช้:Chattip Sanpao/กระบะทราย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

จรรยาบรรณข้าราชการ คือ ประมวลมาตรฐานความประพฤติที่ผู้ประกอบวิชาชีพได้ร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อรักษาซึ่งศักดิ์ศรีและส่งเสริมชื่อเสียงเกียรติคุณ เกียรติฐานะของข้าราชการอันจะยังผลให้ผู้ประพฤติเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาและยกย่องของบุคคลทั่วไป[1]

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุธศักราช 2540 ได้บัญญัติในมาตรา 77 ว่า “รัฐต้องจัดให้มีแผนพัฒนาการเมืองจัดทำมาตรฐานทางคุณธรรม และจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการและพนักงาน หรือลูกจ้างอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่” จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ นับเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้กำหนดให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยการจัดวางระเบียบพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานขึ้นใหม่ที่มีความเป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อเป็นกรอบแห่งความประพฤติปฏิบัติร่วมกัน[2]

ที่มา[แก้]

แนวทางป้องกันการฝ่าฝืนจริยธรรมได้ผสมผสานจากแนวทางการจัดการและแนวทางการเมืองเข้าด้วยกัน โดยพัฒนาไปสู่แนวทางการสร้างจรรยาบรรณ ซึ่งมุ่งตรงในการสร้างจิตสำนึก เพื่อให้ข้าราชการมีค่านิยมและความประพฤติที่เหมาะสม

  • ศตวรรษที่19 จนถึงต้นทศวรรษ 1930 ฝ่ายที่ใช้แนวทางการจัดการพยายามสร้างราชการให้มีพันธะต่อวิชาชีพ โดยการกำหนดค่านิยม และค่านิยมถูกนำไปเพิ่มเติมโดยกลุ่มวิชาชีพที่เป็นข้าราชการ เช่น นักกฎหมาย นักบัญชี วิศวกรและแพทย์
  • ทศวรรษที่ 1940 ผู้บริหารภาครัฐมีส่วนเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น จึงกำหนดค่านิยมใหม่เข้าไป
  • ทศวรรษที่ 1970 ศาลสูงสหรัฐอเมริกาได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับภาระทางกฎหมาย ซึ่งทำให้ผู้บริหารภาครัฐต้องใช้ค่านิยมตามรัฐธรรมนูญ นอกจากกฎหมายผู้บริหารภาครัฐอาจใช้ทฤษฎีรัฐประศาสนศาสตร์ที่กล่าวถึงจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสาธารณะเป็นแนวทางการกำกับจริยธรรม
  • ปัจจุบันจึงพัฒนาเป็นจรรยาบรรณข้าราชการขึ้น แต่จรรยาบรรณข้าราชการแต่ละวิชาชีพนั้นมีลักษณะเฉพาะของแต่ละวิชาชีพ[3]

ความสำคัญจรรยาบรรณข้าราชการ[แก้]

ประเทศไทยได้มีการจัดทำจรรยาบรรณออกมาในรูปแบบข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่น ประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ประมวลจรรยาบรรณของสัตวแพทย์ ระเบียบคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณครูพ.ศ.2539 ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ จรรยาบรรณนักวิจัยสภาแห่งชาติ ข้อบังคับสำนักงาน ก.พ. ว่าด้วยจรรยาข้าราชการสำนักงาน ก.พ. พ.ศ. 2552 ส่วนราชการที่ได้จัดทำมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณแบ่งเป็น ส่วนราชการ 81 แห่ง และจรรยาบรรณวิชาชีพ 17 วิชาชีพ โดยรวมสามารถแบ่งจรรยาบรรณข้าราชการออกเป็น 4 ส่วนคือ จรรยาบรรณต่อตนเอง จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงาน จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม [4]

คุณลักษณะจรรยาบรรณข้าราชการ[แก้]

จรรยาบรรณต่อตนเอง[แก้]

1.มีศีลธรรม ประพฤติตนเหมาะสม

2.ใช้วิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์และปฏิบัติตามจรรยาวิชาชีพที่กำหนดไว้โดยเฉพาะ

3.มีทัศนคติที่ดี และพัฒนาตนเอง

ผู้ปฏิบัติตามจรรยาบรรณต่อตนเองต้องอยู่ในศีล 5 ละอบายมุข 6 วางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นข้าราชการ คือ มีความสามารถในวิชาชีพที่ประกอบอยู่ ขยันหมั่นเพียร ฉลาด มีไหวพริบ รู้เท่าทันเหตุการณ์ต่างๆ ซื่อตรง รู้จักนิสัยคน ยืดหยุ่นได้ มีหลักฐานและจงรักภักดีต่อหน่วยงานหรือต่อผู้มีพระคุณ เป็นต้น และที่สำคัญก็คือ ข้าราชการต้องไม่อาศัยหรือยินยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น นอกจากนั้นข้าราชการพลเรือนควรรู้จักพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และมีคุณธรรม-จริยธรรม ทั้งนี้ เพื่อความก้าวหน้าของตนเองและเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน[5]

จรรยาบรรณต่อหน่วยงาน[แก้]

4. สุจริต เสมอภาค ปราศจากอคติ

5. ปฏิบัติหน้าที่เต็มกำลังความสามารถ รวมเร็ว ขยันหมั่นเพียร ถูกต้อง สมเหตุผล

6. ตรงต่อเวลา ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์แก่ราชการ

7. ดูแลรักษา และใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า

ข้าราชการพึงปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยการประพฤติชอบ ด้วยกายสุจริต วาจาสุจริต และใจสุจริต ในด้านกายสุจริต หมายถึง การไม่ทำให้ผู้อื่นล่วงลงไป การไม่ทรมานร่างกายผู้อื่น วาจาสุจริต หมายถึง ประพฤติชอบด้วยวาจา 4 อย่าง คือ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเหลวไหลไร้สาระ ใจสุจริต คือ ไม่โลภอยากได้ของเขา ไม่พยาบาทปองร้าย และเห็นชอบตามคลองธรรม ข้าราชการควรปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเสมอภาค ไม่มีอคติ มีความเที่ยงธรรม คำนึงถึงประโยชน์ของราชการและของประชาชนเป็นสำคัญ พึงประพฤติตนให้ตรงต่อเวลาและใช้เวลาปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ พึงดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัดคุ้มค่าโดยระมัดระวังมิให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชนจะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง[6]

จรรยาบรรณต่อผู้บังคับบัญชา ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา และผู้ร่วมงาน[แก้]

8. ร่วมมือ ช่วยเหลือ แนะนำ ทำงานเป็นทีม

9. เอาใจใส่ดูแลลูกน้อง

10. สร้างความสามัคคีในการปฏิบัติหน้าที่

11. สุภาพ มีน้ำใจ มีมนุษยสัมพันธ์

12. ละเว้นการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน

ข้าราชการพึงดูแลเอาใจใส่ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญกำลังใจ สวัสดิการ และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ใต้บังคับบัญชา ตลอดจนปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยหลักธรรมาภิบาล พึงปฏิบัติต่อผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องด้วยความสุภาพ มีนํ้าใจไมตรี เอื้ออาทร และมนุษยสัมพันธ์อันดี พึงมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน การให้ความร่วมมือช่วยเหลือกลุ่มงานของตนและส่วนรวม ทั้งในด้านการให้ความคิดเห็น การช่วยทำงานและแก้ปัญหาร่วมกัน รวมทั้งการเสนอแนะในสิ่งที่เห็นว่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนางานในความรับผิดชอบด้วย พึงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทางที่ชอบรวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุน ให้เกิดความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจในบรรดาผู้ร่วมงานในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม พึงละเว้นจากการนำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน

จรรยาบรรณต่อประชาชนและสังคม[แก้]

13. ให้ความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ สุภาพอ่อนโยน

14. ประพฤติตนให้เป็นที่เชื่อถือแก่บุคคลทั่วไป

15. ละเว้นการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด ซึ่งมีมูลค่าเกินปกติวิสัยจากผู้มาติดต่อราชการ

ข้าราชการพึงให้บริการผู้มาติดต่องานอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความเสมอภาค โปร่งใส และเป็นธรรม พึงปฏิบัติต่อผู้มาใช้บริการด้วยความเอื้อเฟื้อมีนํ้าใจใช้กิริยาวาจาที่สุภาพอ่อนโยน และปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถือของบุคคลทั่วไป พึงละเว้นการรับทรัพย์สินในมูลค่าเกินปกติวิสัย และการแสวงหาประโยชน์ให้กับตนเองหรือผู้อื่น ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในกรณีที่รับทรัพย์สินมีมูลค่าเกินปกติวิสัยให้รายงานผู้บังคับบัญชาทราบโดยเร็ว[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. ปราชญา กล้าผจัญ. คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณวิชาชีพ. กรุงเทพมหานคร : บริษัท แอล.ที.เพรส จำกัด, 2548, หน้า 182-183.
  2. ธัญญารัตน์ พฤนท์พิตรทาน. พันธะแห่งภาระกิจ : แนวทางเพื่อปฏิบัติ (ประมวลมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่รัฐ). กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน, 2545, หน้า 2.
  3. เรืองวิทย์ เกษสุวรรณ. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับรัฐประศาสนศาสตร์. กรุงเทพมหานคร : บพิธการพิมพ์, 2554, หน้า 274-276.
  4. ธัญญารัตน์ พฤนท์พิตรทาน. พันธะแห่งภาระกิจ : แนวทางเพื่อปฏิบัติ (ประมวลมาตรฐานทางคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของเจ้าหน้าที่รัฐ). กรุงเทพมหานคร : ศูนย์ส่งเสริมจริยธรรมสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน, 2545, หน้า 157-158.
  5. ดำรงค์ ชลสุข. คู่มือการเรียนรู้ด้วยตนเอง เรื่อง จรรยาบรรณของข้าราชการพลเรือน. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2542, หน้า 32-36.
  6. จิระภา รัตนวิบูลย์. คุณค่าใหม่ของข้าราชการ การปรับเปลี่ยนทัศนคติและค่านิยม. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2542, หน้า 37-42.
  7. อุดม มุ่งเกษม. Good Governance กับ การพัฒนาข้าราชการ. กรุงเพทมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน, 2545, หน้า 10.