ข้ามไปเนื้อหา

ป้อมฮวาซ็อง

พิกัด: 37°17′19″N 127°00′51″E / 37.288611°N 127.014167°E / 37.288611; 127.014167
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ป้อมฮวาซอง)
ป้อมฮวาซ็อง *
  แหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก
ป้อมฮวาซ็อง
พิกัด37°16′20″N 127°0′30″E / 37.27222°N 127.00833°E / 37.27222; 127.00833
ประเทศเมืองซูว็อน  เกาหลีใต้
ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม
เกณฑ์พิจารณา(ii) (iii)
อ้างอิง817
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน1997 (คณะกรรมการสมัยที่ 21)
ป้อมฮวาซ็องตั้งอยู่ในเกาหลีใต้
ป้อมฮวาซ็อง
ที่ตั้งของป้อมฮวาซ็อง ในเกาหลีใต้
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีแหล่งมรดกโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

ป้อมฮวาซ็อง[1] (เกาหลี: 수원 화성; อังกฤษ: Hwaseong Fortress) ตั้งอยู่ที่เมืองซูว็อน ทางตอนใต้ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ สร้างขึ้นในช่วง ค.ศ. 1794–1796 โดยพระเจ้าช็องโจ พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 22 แห่งราชอาณาจักรโชซ็อน เพื่อใช้เป็นที่ประทับและเป็นที่ฝังพระศพของเจ้าชายรัชทายาทชังฮ็อน (เจ้าชายซาโด) ที่ถูกพระอัยกาของพระองค์ (พระเจ้าย็องโจ) ลงโทษโดยการขังองค์ชายไว้ในถังข้าวและให้อดข้าวอดน้ำ พอผ่านไป 7 วันจึงสิ้นพระชนม์ภายในถังข้าว

มรดกโลก

[แก้]

ป้อมฮวาซ็องได้รับจดทะเบียนให้เป็นมรดกโลกในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 เมื่อ พ.ศ. 2528 ที่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี โดยผ่านข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลก ดังนี้

  • (ii) - เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลยิ่ง ผลักดันให้เกิดการพัฒนาสืบต่อมาในด้านการออกแบบทางสถาปัตยกรรม อนุสรณ์สถาน ประติมากรรม สวน และภูมิทัศน์ ตลอดจนการพัฒนาศิลปกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือบนพื้นที่ใด ๆ ของโลกซึ่งทรงไว้ซึ่งวัฒนธรรม
  • (iii) - เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว

ประวัติการก่อสร้าง

[แก้]

ป้อมฮวาซ็องสร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1794 ถึง 1796 ด้วยพระราชดำริของพระเจ้าช็องโจที่จะย้ายเมืองหลวงจากฮันยัง (กรุงโซลในปัจจุบัน) มายังเมืองซูว็อน จึงโปรดให้ ช็อง ยัก-ย็อง ขุนนางผู้นำกลุ่มปฏิรูปชิลฮัก ทำการออกแบบป้อมปราการเป็นกำแพงเมือง โอบล้อมตัวเมืองซูว็อนขึ้น[2][3]

การก่อสร้างป้อมฮวาซ็องนี้ ได้มีการใช้ระบบการจ้างแรงงานก่อสร้างแทนการเกณฑ์แรงงานอย่างที่เคยใช้เป็นครั้งแรกในเกาหลี รวมถึงมีการใช้วัสดุที่ทันสมัยในสมัยนั้นอย่าง อิฐดินเผา หินแกรนิต เป็นต้น ทั้งยังมีการสร้างหอรบและปราการชนิดต่าง ๆ เพื่อใช้ปกป้องเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในเกาหลีอีกด้วย โดยราชสำนักโชซอนใช้งบประมาณทั้งสิ้นกว่า 873,517 นยัง[4] แบ่งเป็นค่าวัสดุก่อสร้างประมาณ 320,000 นยัง[5] และค่าจ้างประมาณ 280,000 นยัง[6] และข้าวสารกว่า 1,500 กระสอบ[7]เป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง

ทั้งยังให้มีการเขียนบันทึกการสร้างป้อมอย่างละเอียด ลงรายละเอียดถึงวัสดุก่อสร้าง จำนวน แรงงาน จนถึงแผนผังและขนาดสัดส่วนต่าง ๆ ชื่อว่า Hwaseong Seongyeok Uigwe เผยแพร่ในปี 1801[8]

โครงสร้างป้อมปราการ

[แก้]
กำแพงป้อมฮวาซอง หรือกำแพงเมืองซูวอน

กำแพง

[แก้]

กำแพงป้อมฮวาซ็อง ก่อสร้างขึ้นจากหินแกรนิตและอิฐดินเผา มีความยาวทั้งสิ้น 5.74 กิโลเมตร สูงระหว่าง 4-6 เมตร ทอดผ่านที่ราบ แม่น้ำซูว็อนซ็อน และภูเขาพัลดัลซัน โอบล้อมพื้นที่ตัวเมืองเก่าซูวอนขนาด 1.3 ตารางกิโลเมตร บนกำแพงมีใบสอสูง 1.2 เมตร มีเชิงเทินบนกำแพงตลอดแนว

ประตูใหญ่

[แก้]

ป้อมฮวาซอง มีประตูใหญ่ 4 ประตู ตั้งอยู่ในทิศทั้ง 4 ทิศ สร้างด้วยหินแกรนิต โดยประตูเหนือและประตูใต้จะมีขนาดใหญ่ เหนือประตูหลักมีอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักทหารและสังเกตการณ์ ด้านหน้าประตูจะมีเชิงเทินอิฐยื่นออกจากตัวประตูเพื่อเสริมการป้องกัน เรียกว่า อ็องซ็อง และมีประตูรองตรงกับช่องประตูหลัก ส่วนประตูตะวันออกและตะวันตกจะมีขนาดย่อมกว่า พร้อมกับมีอาคารไม้ชั้นเดียว และเชิงเทินยื่นออกมาล้อมช่องประตู แต่เปิดทางเข้าขนาดเล็กไว้ต้านข้างแทน

ประตูเล็ก

[แก้]

ประตูเล็กหรือประตูลับ (암문) มีทั้งหมด 5 ประตู สร้างขึ้นระหว่างกำแพง เพื่อใช้เป็นทางสัญจรของประชาชน และขนส่งเสบียงอาวุธขณะมีสงคราม โดยจะสามารถถมดินด้านหลังประตูเพื่ออุดทางเข้าออกได้ขณะถูกข้าศึกล้อม

ประตูน้ำ

[แก้]

ประตูน้ำ (수문) มี 2 ประตู เป็นปราการที่สร้างคร่อมบนแม่น้ำซูวอนช็อน ใช้เพื่อป้องกันข้าศึกที่โจมตีทางแม่น้ำในขณะที่ยังคงปล่อยให้น้ำไหลเข้าเมือง และภายในใช้เป็นสะพานได้

หอคอยสังเกตการณ์

[แก้]

หอคอยสังเกตการณ์ (공심돈) มีทั้งหมด 3 หอ เป็นหอคอยที่ถูกสร้างขึ้นในเกาหลีครั้งแรกที่ป้อมฮวาซอง

ป้อมปืน

[แก้]

ป้อมปืน (포루) เขียนด้วยอักษรฮันจาได้ว่า 砲樓 เป็นป้อมก่ออิฐยื่นออกจากกำแพง มีความสูง 3 ชั้นจากพื้นดิน สร้างขึ้นเพื่อใช้ยิงปืนสกัดข้าศึกที่โจมตีกำแพง ด้านบนมีหลังคาไม้ หร้อมหน้าต่างเจาะช่องธนูปิดระหว่างใบสอ[9] โดยป้อมปืนจะใช้อักษรฮันกึลแบบเดียวกับแท่นรักษาการณ์ (포루) มีทั้งสิ้น 5 ป้อม

แท่นรักษาการณ์

[แก้]

แท่นรักษาการณ์ (포루) เขียนด้วยอักษรฮันจาได้ว่า 鋪樓 เป็นเชิงเทินหอรบที่สร้างยื่นออกจากกำแพง ด้านบนตั้งศาลาไม้ยกพื้น มีทั้งแบบติดตั้งหน้าต่างและเปิดโล่ง สร้างขึ้นเพื่อใช้เฝ้ายามและเป็นแท่นยิงธนูสกัดข้าศึก[10] โดยแท่นรักษาการณ์จะใช้อักษรฮันกึลร่วมกับป้อมปืน (포루) มีทั้งสิ้น 5 แท่น

หอรบ

[แก้]

หอรบ (치) เป็นเชิงเทินขนาดเล็กยื่นออกจากกำแพง ก่อด้วยหินแกรนิตเจาะช่องยิง สร้างขึ้นเพื่อใช้เสริมการป้องกันกำแพงและสนับสนุนปราการอื่น มีทั้งสิ้น 10 หอรบ

หอรบติดตั้งปืนใหญ่

[แก้]

หอรบติดตั้งปืนใหญ่ (적대) มี 4 หอ เป็นหอรบขนาดใหญ่สร้างด้วยหินแกรนิต ก่อเชิงเทินอิฐสีดำ ติดตั้งปืนใหญ่ 1 กระบอก สร้างขึ้นขนาบข้างประตูใหญ่ทิศเหนือและใต้ เพื่อเสริมการป้องกันประตู

ศาลาบัญชาการ

[แก้]

ศาลาบัญชาการ (장대) มี 2 จุด ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกและตะวันตก เป็นศูนย์บัญชาการของแม่ทัพ ที่ฝึกซ้อมทหาร และที่พักทหาร

ศาลา

[แก้]

ศาลา (각루) มี 4 จุด ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ 4 ทิศ ใช้เป็นที่สังเกตการณ์และที่พักทหาร หากถูกปิดล้อมเมืองสามารถใช้เป็นหอบัญชาการย่อยได้

แท่นธนู

[แก้]

แท่นธนู (노대) มี 2 แท่น ใช้เป็นแท่นยิงธนูเพื่อสนับสนุนการป้องกันบริเวณจุดสำคัญ

หอสัญญาณควัน

[แก้]

หอสัญญาณควัน (봉돈) มีเพียง 1 หอ เป็นหอส่งสัญญาณในระบบเครือข่ายป้อมปราการของเกาหลี ใช้ส่งสัญญาณระหว่างเมืองและป้อมต่างๆ เพื่อแจ้งข่าวภัยพิบัติหรือสงคราม

ปราการบนกำแพง

[แก้]

ป้อมฮวาซอง มีสิ่งก่อสร้างบนกำแพง 48 สิ่ง เป็นประตูใหญ่ ประตูเล็ก ประตูน้ำ หอรบต่างๆ เรียงตามลำดับแบบตามเข็มนาฬิกาเริ่มจากประตูทิศใต้ได้ดังนี้

แผนผังกำแพงเมืองซูวอน (ป้อมฮวาซอง)


นัมดงจ็อกแด

[แก้]

นัมดงจ็อกแด (남동적대) เป็นหอรบติดตั้งปืนใหญ่ สร้างยื่นออกจากกำแพงทางทิศตะวันออกของประตูพัลดัลมุน สร้างขึ้นเพื่อเสริมการคุ้มกันประตูพัลดัลมุน คู่กับนัมซอจ็อกแด โดยมีลักษณะแตกต่างจากจ็อกแดของประตูจางอันมุน คือมีช่องทิ้งหิน 2 ช่อง และมีใบสอด้านหน้า 3 ใบ ต่างจากจ็อกแดของประตูจางอันมุน ที่มี 3 ช่อง กับใบสอด้านหน้า 4 ใบ


ประตูพัลดัลมุน

ประตูพัลดัลมุน

[แก้]

พัลดัลมุน (팔달문) เป็นประตูใหญ่ทางทิศใต้ของป้อมฮวาซอง ตัวประตูก่อขึ้นจากหินแกรนิตเหนือประตูเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ด้านหน้าโอบล้อมด้วยกำแพงม่าน (อ็องซ็อง) เป็นเชิงเทินก่อด้วยอิฐสีดำ ใช้สำหรับเสริมการป้องกันประตู มีช่องประตูเล็กด้านหน้าพร้อมศาลาไม้ด้านบน ช่องประตูอ็องซ็องของประตูพับดัลมุน ก่อซุ้มโค้งด้วยอิฐสีดำทั้งสิ้นเว้นแต่ฐานซุ้มหินแกรนิต ต่างจากช่องประตูอ็องซ็องของประตูจางอันมุน ที่ก่อซุ้มโค้งด้วยหินแกรนิตทั้งโค้ง

นัมซอจ็อกแด

[แก้]

นัมซอจ็อกแด (남서적대) เป็นหอรบติดตั้งปืนใหญ่ สร้างยื่นออกจากกำแพงทางทิศตะวันตกของประตูพัลดัลมุน สร้างขึ้นเพื่อเสริมการคุ้มกันประตูพัลดัลมุน คู่กับนัมดงจ็อดแด โดยมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ

นัมชิ

นัมชิ

[แก้]

นัมชิ (남치) เป็นหอรบประจำทิศใต้ สร้างยื่นออกจากกำแพง อยู่บริเวณลาดเชิงเขาพัลดัลซาน โดยเป็นหอรบที่มีขนาดเล็กเนื่องจากสร้างบนพื้นที่ลาดชัน และเป็นหอรบเดียวที่มีบันไดภายใน

ป้อมปืนนัมโพรู

นัมโพรู

[แก้]

นัมโพรู (남포루) เป็นป้อมปืนประจำทิศใต้ สร้างด้วยอิฐดินเผาสีดำสูง 3 ชั้น ยื่นออกจากกำแพง ชั้นบนมีหลังคาและหน้าต่างมีช่องธนู ใช้เป็นหอยิงปืนและธนู ป้องกันข้าศึกที่เข้าตีกำแพง

ประตูซอนัมอุมมุน

ประตูซอนัมอัมมุน

[แก้]

ซอนัมอัมมุน (서남암문) เป็นประตูเล็กที่เปิดออกสู่ย็องโด (용도) ซึ่งเป็นเชิงเทินบนสันเขาพัลดัลซานทางทิศใต้ ประตูก่อด้วยอิฐสีดำ เหนือประตูมีอาคารพร้อมหน้าต่างไม้เจาะช่องธนู ใช้ในการส่งสัญญาณให้กับทหารที่ประจำอยู่ในจุดต่าง ๆ

ย็องโด มองจากศาลาซอนัมกังนู

ย็องโด

[แก้]

ย็องโด (용도) เป็นเชิงเทินที่ยื่นออกนอกตัวกำแพงหลัก ทอดอยู่บนสันเขาพัลดัลซานบนทิศใต้ เพื่อเสริมการป้องกันตัวเมือง และเป็นจุดสังเกตการณ์ข้าศึกจากทิศใต้

ย็องโดดงชิ

ย็องโดดงชิ

[แก้]

ย็องโดดงชิ (용도동치) เป็นหอรบขนาดเล็กที่ยื่นออกจากทิศตะวันออกของย็องโด (용도)

ศาลาซอนัมกังนู

ศาลาซอนัมกังนู

[แก้]

ซอนัมกังนู (서남각루) หรือศาลาฮวายังนู (화양루) เป็นศาลาประจำทิศตะวันตกเฉียงใต้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นหอบัญชาการย่อย ที่สังเกตการณ์ และเป็นที่พักของทหารที่ประจำการในทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บริเวณปลายสุดของย็องโด (용도) เดิมติดตั้งประตูและหน้าต่างเจาะช่องธนู[11]

ย็องโดซอชิ

ย็องโดซอชิ

[แก้]

ย็องโดซอชิ (용도서치) เป็นหอรบขนาดเล็กที่ยื่นออกจากทิศตะวันตกของย็องโด (용도)

ซอซัมชิ

ซอซัมชิ

[แก้]

ซอซัมชิ (서삼치) เป็นหอรบที่ 3 ของทิศตะวันตก สร้างยื่นออกจากตัวกำแพงบนสันเขาพัลดัลซาน

แท่นซอโพรู

ซอโพรู

[แก้]

ซอโพรู (서포루) เป็นแท่นรักษาการณ์ประจำทิศตะวันตก สร้างยื่นออกจากกำแพง ตั้งศาลายกพื้นมีหน้าต่างเจาะช่องธนู ใช้เป็นหอรักษาการณ์และเป็นหอธนู

ประตูซออัมมุน

ประตูซออัมมุน

[แก้]

ซออัมมุน (서암문) เป็นประตูเล็กทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนสันเขาพัลดัลซาน ใช้เป็นทางเข้าออกลับและใช้ขนส่งเสบียงอาวุธ ลักษณะประตูสร้างขึ้นด้วยอิฐสีดำ โดยมีกำแพงอิฐสีดำมีเชิงเทิน สร้างยื่นออกไปเพื่อบดบังทางเข้า พร้อมกับตัวประตูซ่อนอยู่ด้านใน ในกรณีที่ถูกปิดล้อมเมือง สามารถนำดินถมปิดประตูได้

ศาลาบัญชาการซอจังแด

ศาลาบัญชาการซอจังแด

[แก้]

ซอจังแด (서장대) หรือศาลาฮวาซองจังแด (화성장대) เป็นศาลาบัญชาการฝั่งตะวันตก มีลักษณะเป็นศาลาไม้ 2 ชั้น เป็น 1 ใน 2 ที่ประจำการของแม่ทัพในป้อมฮวาซอง เดิมด้านข้างเคยมีอาคารที่พักสำหรับทหาร ติดกับแท่นธนูซอโนแด (서노대)

แท่นธนูซอโนแด

แท่นธนูซอโนแด

[แก้]

ซอโนแด (서노대) เป็นหอแท่นธนูทิศตะวันตก เป็นแท่นยกสูงรูปแปดเหลี่ยมสร้างด้วยอิฐสีดำ เพื่อให้พลธนูใช้ยิงข้าศึกและสังเกตการณ์รอบบริเวณทิศตะวันตกของเมือง[12] โดยแท่นนี้ตั้งอยู่ริมกำแพงติดกับศาลาบัญชาการซอจังแด (서장대)

ซออีชิ

ซออีชิ

[แก้]

ซออีชิ (서이치) เป็นหอรบที่ 2 ของทิศตะวันตก สร้างยื่นออกจากตัวกำแพงบนสันเขาพัลดัลซาน ฝั่งลาดลงทิศเหนือ

ป้อมปืนซอโพรู

ซอโพรู

[แก้]

ซอโพรู (서포루) เป็นป้อมปืนประจำทิศตะวันตก สร้างด้วยอิฐดินเผาสีดำสูง 3 ชั้น ยื่นออกจากกำแพง บริเวณเชิงเขาพัลดัลซานฝั่งเหนือ ชั้นบนมีหลังคามีหน้าต่างเจาะช่องธนู ใช้เป็นหอยิงปืนและธนู ป้องกันข้าศึกที่เข้าตีกำแพง

ซออิลชิ

ซออิลชิ

[แก้]

ซออิลชิ (서일치) เป็นหอรบที่ 1 ของทิศตะวันตก สร้างยื่นออกจากตัวกำแพงบริเวณเขาพัลดัลซาน ฝั่งเหนือ

ศาลาซอบักกังนู

ศาลาซอบักกังนู

[แก้]

ซอบักกังนู (서북각루) เป็นศาลาประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างขึ้นเพื่อเป็นหอบัญชาการย่อย ที่พักทหาร และที่สังเกตการณ์บริเวณทุ่งหน้าภูเขาซุกจิซาน นอกเมืองซูวอน และประตูฮวาซอมุน มีพื้นทำความร้อนและเดิมติดตั้งหน้าต่างเจาะช่องธนู

ประตูฮวาซอมุน

ประตูฮวาซอมุน

[แก้]

ฮวาซอมุน (화서문) เป็นประตูใหญ่ทิศตะวันตกของป้อมฮวาซอง เหนือประตูมีอาคารไม้ชั้นเดียว ด้านหน้ามีแท่นกำแพงม่าน (อ็องซ็อง) ก่อด้วยอิฐสีดำมีเชิงเทินเจาะช่องยิงโอบปิดด้านหน้าประตู โดยเปิดเป็นช่องขนาดเล็กทางใต้สำหรับผ่านเข้าออก

หอคอยซอบักกงซิมด็อน

หอคอยซอบักกงซิมด็อน

[แก้]

ซอบักกงซิมด็อน (서북공심돈) เป็นหอคอยสูงสังเกตการณ์ประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อด้วยอิฐสีดำสูง 3 ชั้น สร้างเสมอแนวกำแพง ส่วนที่ยื่นออกมา เจาะช่องยิงรอบหอ ชั้นบนสุดมีศาลาไม้ติดตั้งหน้าต่างเจาะช่องธนู โดยหอคอยซอบักกงซิมด็อนนี้ ถือเป็นหอคอยกงซิมด็อนแห่งแรกในเกาหลี และเป็น 1 ใน 3 หอคอยของป้อมฮวาซอง[13]

แท่นบักโพรู

บักโพรู

[แก้]

บักโพรู (북포루) เป็นแท่นรักษาการณ์ประจำทิศเหนือ สร้างยื่นออกจากกำแพง ตั้งศาลายกพื้นมีหน้าต่างเจาะช่องธนู ใช้เป็นหอรักษาการณ์และเป็นหอธนู

ป้อมปืนบักซอโพรู

บักซอโพรู

[แก้]

บักซอโพรู (북서포루) เป็นป้อมปืนประจำทิศตะวันตกเฉียงเหนือ สร้างด้วยอิฐดินเผาสีดำสูง 3 ชั้น ยื่นออกจากกำแพง บริเวณกึ่งกลางระหว่างประตูฮวาซอมุนและประตูจางอันมุน ชั้นบนมีหลังคามีหน้าต่างเจาะช่องธนู ใช้เป็นหอยิงปืนและธนู ป้องกันข้าศึกที่เข้าตีกำแพง

บักซอจ็อกแด

บักซอจ็อกแด

[แก้]

บักซอจ็อกแด (북서적대) เป็นหอรบติดตั้งปืนใหญ่ สร้างยื่นออกจากกำแพงทางทิศตะวันตกของประตูจางอันมุน สร้างขึ้นเพื่อเสริมการคุ้มกันประตูจางอันมุน คู่กับบักดงจ็อกแด โดยมีลักษณะแตกต่างจากจ็อกแดของประตูพัลดัลมุน คือมีช่องทิ้งหิน 3 ช่อง และมีใบสอด้านหน้า 4 ใบ ต่างจากจ็อกแดของประตูพัลดัลมุน ที่มี 2 ช่อง กับใบสอด้านหน้า 3 ใบ

ประตูจางอันมุน

ประตูจางอันมุน

[แก้]

จางอันมุน (장안문) เป็นประตูใหญ่ทางทิศเหนือของป้อมฮวาซอง เป็นประตูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของเมืองซูวอน เพราะเป็นทางเสด็จของพระเจ้าจองโจขณะเสด็จแปรพระราชฐานมาประทับยังเมืองซูวอน ตัวประตูก่อขึ้นจากหินแกรนิตเหนือประตูเป็นอาคารไม้ 2 ชั้น ด้านหน้าโอบล้อมด้วยกำแพงม่าน (อ็องซ็อง) เป็นเชิงเทินก่อด้วยอิฐสีดำ ใช้สำหรับเสริมการป้องกันประตู มีช่องประตูเล็กด้านหน้าพร้อมศาลาไม้ด้านบน โดยช่องประตูอ็องซ็องของประตูจางอันมุน จะก่อซุ้มโค้งด้วยหินแกรนิตทั้งโค้ง ต่างจากช่องประตูอ็องซ็องของประตูพัลดัลมุน ที่ก่อด้วยอิฐสีดำทั้งโค้ง

ด้านบน บักดงจ็อกแด

บักดงจ็อกแด

[แก้]

บักดงจ็อกแด (북동적대) เป็นหอรบติดตั้งปืนใหญ่ สร้างยื่นออกจากกำแพงทางทิศตะวันออกของประตูจางอันมุน สร้างขึ้นเพื่อเสริมการคุ้มกันประตูจางอันมุน คู่กับบักซอจ็อกแดโดยมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ

บักดงชิ

บักดงชิ

[แก้]

บักดงชิ (북동치) เป็นหอรบด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างยื่นออกจากตัวกำแพง เข้ามุมติดกับบักดงจ็อกแด โดยเป็นหอรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในป้อมฮวาซอง

ป้อมปืนบักดงโพรู

บักดงโพรู

[แก้]

บักดงโพรู (북동포루) เป็นป้อมปืนประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างด้วยอิฐดินเผาสีดำสูง 3 ชั้น ยื่นออกจากกำแพง บริเวณกึ่งกลางระหว่างประตูจางอันมุนและประตูน้ำบักซูมุน ชั้นบนมีหลังคาแต่ไม่มีหน้าต่าง ใช้เป็นหอยิงปืนและธนู ป้องกันข้าศึกที่เข้าตีกำแพง

ประตูน้ำบักซูมุน

ประตูน้ำบักซูมุน

[แก้]

บักซูมุน (동수문) หรือประตูฮวาฮงมุน (화홍문) เป็นประตูน้ำทิศเหนือของป้อมฮวาซอง สร้างบนแม่น้ำซูวอนช็อน โดยทำเป็นช่องซุ้มโค้ง 7 ช่อง เดิมมีประตูลูกกรงให้น้ำไหลผ่าน ด้านบนสร้างเชิงเทินอิฐสีดำเจาะช่องยิง มีศาลาไม้ติดตั้งประตู-หน้าต่าง พร้อมเชิงเทินไม้มีหน้าต่างเจาะช่องธนู โดยประตูสร้างขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่จะไหลเข้าตัวเมืองและคุ้มกันทางน้ำจากข้าศึก รวมถึงเป็นสะพานสำหรับชาวเมืองด้วย

ศาลาดงบักกังนู

ศาลาดงบักกังนู

[แก้]

ดงบักกังนู (동북각루) หรือศาลาบังฮวาซูริวจอง (방화수류정) เป็นศาลาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศาลาไม้รูปตัว L ตั้งอยู่บนยอดเนินเหนือบึงยงย็อน สร้างขึ้นเพื่อเป็น หอบัญชาการย่อย ที่พักทหาร และที่สังเกตการณ์รวมถึงเป็นที่ชมทัศนียภาพมีพื้นทำความร้อนและเดิมติดตั้งประตูหน้าต่าง มีบันไดขึ้นบนศาลา 2 ข้าง ประตูเข้าชั้นล่างใต้ศาลา พร้อมเชิงเทินหน้าต่างไม้เจาะช่องธนู[14]

ประตูบักอัมมุน

ประตูบักอัมมุน

[แก้]

บักอัมมุน (북암문) เป็นประตูเล็กประจำทิศเหนือ ใช้เป็นทางเข้าออกและขนส่งเสบียงอาวุธข้างบึงยงย็อน ด้านหลังประตูสามารถถมดินอุดประตูได้ในกรณีถูกข้าศึกล้อม ลักษณะประตูก่อด้วยอิฐสีดำเป็นซุ้มโค้ง โดยกำแพงสองข้างประตูใช้อิฐสีดำทำโค้งเว้าเข้าไป เพื่อให้เกิดเงาบดบังประตูจากสายตาข้าศึก

แท่นดงบักโพรู

ดงบักโพรู

[แก้]

ดงบักโพรู (동북포루) เป็นแท่นรักษาการณ์ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สร้างยื่นออกจากกำแพง ตั้งศาลายกพื้นมีหน้าต่างเจาะช่องธนู ใช้เป็นหอรักษาการณ์และเป็นหอธนู ตั้งอยู่บนยอดเนินระหว่างประตูบักอัมมุนและประตูดงอัมมุน

ประตูดงอัมมุน

ประตูดงอัมมุน

[แก้]

ดงอัมมุน (동암문) เป็นประตูเล็กประจำทิศตะวันออก ใช้เป็นทางเข้าออกและขนส่งเสบียงอาวุธ โดยประตูสร้างด้วยอิฐสีดำทำเป็นซุ้มโค้ง กำแพงในส่วนนี้เว้าลึกเข้าไปเพื่อบดบังประตูจากข้าศึกเช่นเดียวกับประตูบักอัมมุน ด้านหลังประตูสามารถถมดินอุดประตูในกรณีถูกปิดล้อมเมืองได้

ศาลาบัญชาการดงจังแด

ศาลาบัญชาการดงจังแด

[แก้]

ดงจังแด (동장대) หรือศาลายอนมูแด (연무대) เป็นศาลาบัญชาการฝั่งตะวันออก มีลักษณะเป็นศาลาไม้ชั้นเดียว เดิมด้านในติดตั้งประตู-หน้าต่าง รอบบริเวณมีรั้วล้อม พื้นที่ภายในรั้วแบ่งเป็น 3 ชั้น โดยมีศาลาดงจังแดตั้งอยู่ชั้นบนสุดริมกำแพง ชั้นกลางเป็นพื้นที่โล่ง ชั้นล่างใช้เป็นที่ฝึกทหารและมีโรงพักทหาร เป็น 1 ใน 2 ที่ประจำการของแม่ทัพในป้อมฮวาซอง รวมถึงเป็นที่ซึ่งพระเจ้าจองโจใช้เสด็จทอดพระเนตรการฝึกทหารและพระราชทานเลี้ยงนายช่างผู้ร่วมในการก่อสร้างป้อมฮวาซองอีกด้วย[15]

หอคอยดงบักกงซิมด็อน

หอคอยดงบักกงซิมด็อน

[แก้]

ดงบักกงซิมด็อน (동북공심돈) เป็นหอคอยสูงสังเกตการณ์ประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ รูปแบบเป็นหอคอยกลมก่อด้วยอิฐสีดำสูง 3 ชั้น สร้างขึ้นบนเชิงเทินหลังกำแพงเพื่อลดจุดบอดในการยิงต่อสู้ข้าศึก[16]เจาะช่องยิงรอบหอ ชั้นบนสุดมีศาลาไม้เปิดโล่งใช้เป็นที่สังเกตการณ์ ภายในเป็นบันไดเวียนวนขึ้นไปบนยอด

แท่นธนูดงบักโนแด

แท่นธนูดงบักโนแด

[แก้]

ดงบักโนแด (동북노대) เป็นแท่นยิงธนูฝั่งตะวันออก สร้างยกสูงกว่ากำแพงด้วยอิฐสีดำยื่นออกจากตัวกำแพงเป็นรูปเหลี่ยมมุมโค้ง บนแท่นมีใบสอสูงเจาะช่องยิงสำหรับบังการโจมตีจากข้าศึก [17] สร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการป้องกันประตูชางรยองมุนร่วมกับดงบักกงซิมด็อน

ประตูชางรยองมุน

ประตูชางรยองมุน

[แก้]

ชางรยองมุน (창룡문) เป็นประตูใหญ่ทิศตะวันออกของป้อมฮวาซอง เหนือประตูมีอาคารไม้ชั้นเดียว ด้านหน้ามีแท่นกำแพงม่าน (อ็องซ็อง) ก่อด้วยอิฐสีดำพร้อมเชิงเทินมีใบสอ โอบปิดด้านหน้าประตู โดยเปิดเป็นช่องขนาดเล็กทางเหนือสำหรับผ่านเข้าออก

แท่นดงอิลโพรู

ดงอิลโพรู

[แก้]

ดงอิลโพรู (동일포루) เป็นแท่นรักษาการณ์ลำดับที่ 1 ประจำทิศตะวันออก สร้างยื่นออกจากกำแพง ตั้งศาลายกพื้นเปิดโล่ง ใช้เป็นหอรักษาการณ์และเป็นหอธนู โดยเป็นแท่นรักษาการณ์ที่ยื่นออกจากกำแพงมากกว่าแท่นอื่น เพื่อใช้ช่วยคุ้มกันบงด็อน (봉돈)

ดงอิลชิ

ดงอิลชิ

[แก้]

ดงอิลชิ (동일치) เป็นหอรบที่ 1 ของทิศตะวันออก สร้างยื่นออกจากตัวกำแพง

ป้อมปืนดงโพรู

ดงโพรู

[แก้]

ดงโพรู (동포루) ป้อมปืนประจำทิศตะวันออก สร้างด้วยอิฐดินเผาสีดำสูง 3 ชั้น ยื่นออกจากกำแพง ชั้นบนมีหลังคามีหน้าต่างเจาะช่องธนู ใช้เป็นหอยิงปืนและธนู ป้องกันข้าศึกที่เข้าตีกำแพง

ดงอีชิ

ดงอีชิ

[แก้]

ดงอีชิ (동이치) เป็นหอรบที่ 2 ของทิศตะวันออก สร้างยื่นออกจากตัวกำแพง

หอสัญญาณควันบงด็อน

หอสัญญาณควันบงด็อน

[แก้]

บงด็อน (봉돈) เป็นหอสัญญาณควันประจำป้อมฮวาซอง ใช้รับ-ส่งสัญญาณควันจากป้อมอื่นๆในเกาหลี เพื่อแจ้งข่าวภัยพิบัติหรือสงคราม โดยมีปล่องไฟจำนวน 5 ปล่อง โดนในสภาวะปกติปล่องใต้สุด 1 ปล่องจะปล่อยควันตลอดเวลา และจะเพิ่มจำนวนตามความรุนแรงของภัยพิบัติ[18] สร้างด้วยอิฐสีดำก่อเป็นชั้น ใต้ปล่องควันเจาะช่องยิง มีที่พักทหารเฝ้าปล่องควันและที่เก็บเชื้อเพลิง

แท่นดงอีโพรู

ดงอีโพรู

[แก้]

ดงอีโพรู (동이포루) เป็นแท่นรักษาการณ์ลำดับที่ 2 ประจำทิศตะวันออก สร้างยื่นออกจากกำแพง ตั้งศาลายกพื้นเปิดโล่ง ใช้เป็นหอรักษาการณ์และเป็นหอธนู

ดงซัมชิ

ดงซัมชิ

[แก้]

ดงซัมชิ (동삼치) เป็นหอรบที่ 3 ของทิศตะวันออก สร้างยื่นออกจากตัวกำแพง โดยดงซัมชิเป็นหอรบที่มีความกว้างมากที่สุดในป้อมฮวาซอง แต่มีความสั้นกว่าหอรบอื่น เนื่องจากสร้างบนพื้นที่มีความลาดชันสูง

ศาลาดงนัมกังนู

ศาลาดงนัมกังนู

[แก้]

ดงนัมกังนู (동남각루) เป็นศาลาประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นหอบัญชาการย่อย รวมถึงเป็นที่พักทหารและสังเกตการณ์บนยอดเนินริมแม่น้ำซูวอนช็อนและประตูน้ำนัมซูมุน มีพื้นทำความร้อนและหน้าต่างเจาะช่องธนู

ประตูน้ำนัมซูมุน

ประตูน้ำนัมซูมุน

[แก้]

นัมซูมุน (남수문) เป็นประตูน้ำทางทิศใต้ของป้อมฮวาซอง สร้างบนแม่น้ำซูวอนช็อน โดยทำเป็นซุ้มโค้ง 9 ช่อง เดิมมีประตูลูกกรงให้น้ำไหลผ่าน เหนือประตูก่อด้วยอิฐสีดำสูง 2 ชั้นเจาะช่องยิง ด้านบนมีเชิงเทินพร้อมใบสอ โดยสร้างขึ้นเพื่อป้องกันข้าศึกและควบคุมน้ำที่ไหลออกจากเมืองซูวอน รวมถึงเป็นสะพานให้ชาวเมือง โดยประตูนัมซูมุนเสียหายโดยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในแม่น้ำซูวอนช็อนถึง 2 ครั้ง ก่อนได้รับการบูรณะขึ้นใหม่

ภาพวาด หอคอยนัมกงซิมด็อน

หอคอยนัมกงซิมด็อน

[แก้]

นัมกงซิมด็อน (남공심돈) เป็นหอคอยสูงสังเกตการณ์ประจำทิศใต้ ก่อด้วยอิฐสีดำเป็นทรงเหลี่ยมสูง 3 ชั้น สร้างบนเชิงเทินมีใบสอที่ยื่นออกจากกำแพง เจาะช่องยิงรอบหอ ชั้นบนสุดมีศาลาไม้เปิดโล่ง ใช้เป็นหอสังเกตการณ์และคุ้มกันบริเวณทิศใต้ของป้อมฮวาซอง รวมถึงแม่น้ำซูวอนช็อน[19]

ภาพวาด ประตูนัมอัมมุน

ประตูนัมอัมมุน

[แก้]

นัมอัมมุน (남암문) เป็นประตูเล็กทางทิศใต้ ใช้สำหรับสัญจรเข้าออกและขนส่งเสบียงอาวุธ รวมถึงใช้นำร่างของผู้เสียชีวิตในเมืองซูวอนออกจากเมือง บานประตูจึงกว้างกว่าประตูเล็กอื่น ด้านบนเป็นใบสอก่ออิฐสีดำ มีศาลาไม้เปิดโล่ง

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ป้อมฮวาซ็อง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-19. สืบค้นเมื่อ 2012-05-02.
  2. UNESCO
  3. Roh, 2001, p.186
  4. Roh, 2001, p.200
  5. Roh, 2001, p.200
  6. Roh, 2001, p.200
  7. Doo, 2010, p.15
  8. Doo, 2010, p.30
  9. Doo, 2010, p.142
  10. Doo, 2010, p.145-146
  11. Doo, 2010, p.139
  12. Roh, 2001, p.188
  13. Doo, 2010, p.124-125
  14. Doo, 2010, p.134-135
  15. Roh, 2001, p.202
  16. Doo, 2010, p.128-129
  17. Roh, 2001, p.188
  18. Doo, 2010, p.130-131
  19. Doo, 2010, p.127

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Doo Won Cho (2010). The Korean fortress City Suwon: History; Conservation Heritage; Documentation "Hwaseong Seongyeok Uigwe"; National and International Relations (in German). University of Bamberg, Inaugural Dissertation.
  • Young Koo Roh. The Construction and Characteristics of Hwaseong Fortress in the Era of King Jeongjo, 한국학중앙연구원 THE ACADEMY OF KOREAN STUDIES, 2001, 41(1), p.166-212.


แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

37°17′19″N 127°00′51″E / 37.288611°N 127.014167°E / 37.288611; 127.014167{{#coordinates:}}: ไม่สามารถมีป้ายกำกับหลักมากกว่าหนึ่งป้ายต่อหน้าได้