ป็องเตอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภายนอกป็องเตอง
ภายในป็องเตอง

ป็องเตอง (ฝรั่งเศส: Panthéon) เป็นอนุสรณ์สถานในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งอยู่ห่างจากหอไอเฟลไปทางตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร ตึกใหญ่สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1758 ถึง 1790 ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อฌัก-แฌร์แม็ง ซูโฟล (Jacques-Germain Soufflot) ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ในตอนแรกพระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างเป็นวิหารเพื่ออุทิศแด่นักบุญเฌอแนฟว์ นักบุญองค์อุปถัมภ์ของกรุงปารีส

อย่างไรก็ตาม สถาปนิกและองค์กษัตริย์กลับไม่ได้มีชีวิตอยู่จนเห็นอาคารหลังนี้สร้างเสร็จ โดยสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1790 ในช่วงต้นของการปฏิวัติฝรั่งเศส สภาร่างรัฐธรรมนูญแห่งชาติลงมติให้ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสุสานของชาวฝรั่งเศสผู้ทำคุณประโยชน์อันโดดเด่น แนวคิดดังกล่าวรับเอามาจากวิหารแพนธีอันในกรุงโรมซึ่งเคยมีการใช้งานในลักษณะนี้เช่นกัน วีรชนคนแรกที่ได้รับการบรรจุไว้ที่นี่คือออนอเร มีราโบ แต่ศพของเขาก็ถูกย้ายไปที่อื่นในอีกไม่กี่ปีถัดมา

ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาคารแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นโบสถ์สองครั้ง จนในที่สุด สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ก็ออกกฤษฎีกาเมื่อ ค.ศ. 1881 ให้ใช้อาคารหลังนี้เป็นสุสานวีรชนโดยเฉพาะ ศพแรกในรอบกว่าห้าสิบปีที่ถูกนำมาตั้งไว้ที่นี่ คือศพของวิกตอร์ อูว์โก กวีผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส บุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่นที่ถูกตั้งศพไว้ที่นี่มีวอลแตร์, ฌ็อง-ปอล มารา, ฌ็อง-ฌัก รูโซ, โฌแซ็ฟ-หลุยส์ ลากร็องฌ์, ฌ็อง แปแร็ง และปอล แป็งเลอเว เป็นต้น

อาคารหลังนี้ใช้สถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก มีความยาว 110 เมตร ความกว้าง 84 เมตร และความสูง 83 เมตร ปัจจุบันมีศพของบุคคล 80 ท่าน (ชาย 75 และหญิง 5) ถูกตั้งอยู่ที่นี่[1] กว่าครึ่งของศพทั้งหมดถูกย้ายมาในช่วงจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1

อ้างอิง[แก้]