ปิโตรเลียมเจลลี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปิโตรเลียมเจลลี

ปิโตรเลียมเจลลี (อังกฤษ: petroleum jelly) หรือ ปิโตรลาทัม (petrolatum) เป็นเนื้อสารไฮโดรคาร์บอนกึ่งแข็ง มีเลขคาร์บอนสูงกว่า 25[1] ลักษณะไม่มีสีถึงสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลิ่นและรส มีจุดหลอมเหลวระหว่าง 40–70 องศาเซลเซียส (105–160 องศาฟาเรนไฮต์)[2] ติดไฟเมื่อเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลว ส่วนที่ติดไฟคือไอระเหยไม่ใช่ตัวของเหลว ปิโตรเลียมเจลลีไม่ละลายน้ำ แต่ละลายในตัวทำละลายอินทรีย์ เช่น ไดคลอโรมีเทน คลอโรฟอร์ม เบนซีน และน้ำมันสน[3] มีเลขอีคือ E905b[4]

วัตถุดิบของปิโตรเลียมเจลลีได้รับการค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1859 ที่แท่นขุดเจาะน้ำมันในเมืองไททัสวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐ คนงานแท่นขุดเจาะใช้สารนี้ทาแผลเพราะเชื่อว่าช่วยสมานแผลเร็วขึ้น[5] ต่อมารอเบิร์ต ชีสโบรห์ นักเคมีผู้เคยมีผลงานกลั่นเชื้อเพลิงจากน้ำมันจากวาฬหัวทุย มาที่เมืองนี้เพื่อศึกษาสารชนิดนี้ เขาเก็บตัวอย่างสารไปสกัดและกลั่นจนได้เจลสีอ่อนที่มีคุณสมบัติในการรักษาบาดแผล ในปี ค.ศ. 1870 ชีสโบรห์ตั้งโรงงานผลิตปิโตรเลียมเจลลีในชื่อวาสลีน และจดสิทธิบัตรวิธีการผลิตในปี ค.ศ. 1872[5]

เดิมปิโตรเลียมเจลลีได้รับการวางตลาดในฐานะขี้ผึ้งสำหรับใช้เฉพาะจุด แต่ต่อมาใช้เป็นส่วนผสมผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผมและผิวหนัง[6] นอกจากนี้ยังใช้ในการเคลือบผิว หล่อลื่น ป้องกันสนิม และเป็นตัวรักษาสภาพในวัตถุระเบิด[7][8] ปิโตรเลียมเจลลีเป็นที่ยอมรับทั่วไปว่าปลอดภัย แต่อาจส่งผลข้างเคียงในรายที่มีอาการแพ้[9][10] ขณะที่สำนักงานเคมีภัณฑ์ยุโรป (European Chemicals Agency หรือ ECHA) ระบุว่าสารนี้อาจก่อมะเร็ง เนื่องจากในกระบวนการสกัดปิโตรเลียมเจลลีมีสารก่อมะเร็งผสมอยู่ และสารมีระดับความบริสุทธิ์แตกต่างกัน[11][12]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Petrolatum (white)". inchem.org. International Programme on Chemical Safety and the Commission of the European Communities. March 2002. สืบค้นเมื่อ August 5, 2011.
  2. Robert Leach (6 December 2012). The Printing Ink Manual. Springer Science & Business Media. pp. 254–. ISBN 978-94-011-7097-0.
  3. Vaseline (Petroleum Jelly) Material Safety Data Sheet (MSDS) เก็บถาวร 2008-09-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (June 15, 2007). MakingCosmetics.com Inc. Retrieved August 5, 2011.
  4. "E905b - Petroleum jelly". Open Food Facts. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  5. 5.0 5.1 The History of Vaseline Petroleum Jelly began in the Pennsylvania Oil Fields!, Drake Well Museum pamphlet, copyright 1996 by Holigan Group Ltd, Dallas, Texas.
  6. Villines, Zawn (December 20, 2018). "6 Uses and Benefits of Petroleum Jelly". Medical News Today. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  7. "Petroleum jelly". Britannica. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  8. "Cordite". Britannica. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  9. Ginta, Daniela (March 7, 2019). "Everything You Need to Know About Petroleum Jelly". Healthline. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  10. "Petroleum Jelly Topical". WebMD. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  11. "Petrolatum - Substance Information". European Chemicals Agency. July 8, 2020. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.
  12. Adams, Rebecca (September 1, 2016). "Petroleum Jelly May Not Be As Harmless As You Think". HuffPost. สืบค้นเมื่อ August 20, 2020.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]