ปรากฏการณ์บูบา/กิกี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คุณคิดว่ารูปซ้ายหรือรูปขวามีชื่อว่า "บูบา" และรูปไหนชื่อว่า "กิกี" รูปนี้ใช้สำหรับทดลองว่า การจับคู่เสียง ๆ หนึ่งกับรูป ๆ หนึ่ง อาจจะไม่ใช่โดยความบังเอิญ นักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอเมริกันและผู้พูดภาษาทมิฬในประเทศอินเดีย เรียกรูปซ้ายว่า กิกี และรูปขวาว่า บูบา

ปรากฏการณ์บูบา/กิกี (อังกฤษ: bouba/kiki effect) เป็นการจับคู่เสียงพูดกับรูปร่างที่เห็นทางตาอย่างไม่บังเอิญ โวลฟ์แกง โคฮ์เรอร์ ผู้เป็นนักจิตวิทยาชาวเยอรมัน-อเมริกัน สังเกตพบปรากฏการณ์นี้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1929[1] คือ ในการทดลองทางจิตวิทยาที่เกาะเตเนรีเฟ ที่ซึ่งภาษาหลักเป็นภาษาสเปน โคฮ์เรอร์แสดงรูปร่างคล้ายกับรูปที่แสดงด้านบน แล้วถามผู้ที่เข้าร่วมการทดลองว่า รูปไหนเป็น "ตาเก็ตตี" และรูปไหนเป็น "บาลูบา" (เรียกว่า "มาลูมา" ในการทดลองปี ค.ศ. 1947) ข้อมูลของเขาแสดงแนวโน้มสำคัญในการจับคู่รูปร่างหยัก ๆ กับคำว่า "ตาเก็ตตี" และรูปร่างโค้ง ๆ กับคำว่า "บาลูบา"[2]

ในปี ค.ศ. 2001 รามจันทรันและฮับบาร์ด ทำการทดลองของโคฮ์เรอร์ซ้ำโดยใช้คำว่า "กิกี" และ "บูบา" แล้วถามนักศึกษาชั้นปริญญาตรีชาวอเมริกันและผู้พูดภาษาทมิฬในประเทศอินเดียว่า "รูปร่างไหนเป็นบูบา และรูปร่างไหนเป็นกิกี" ในผู้รับการทดลองทั้งสองพวกตามลำดับ 95% และ 98% เลือกรูปร่างมีเส้นโค้งว่า เป็นบูบา และรูปร่างเป็นหยัก ๆ ว่า เป็นกิกี ซึ่งบอกเป็นนัยว่า สมองมนุษย์สามารถดึงคุณสมบัติทางนามธรรม (abstract properties) จากรูปร่างและเสียงได้อย่างคงเส้นคงวา[3] งานวิจัยเร็ว ๆ นี้ของดาฟน์ มอเรอร์ และคณะ แสดงว่า แม้แต่เด็กมีอายุตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง ซึ่งเด็กเกินไปที่จะอ่านหนังสือได้ ก็อาจจะประสบกับปรากฏการณ์นี้ด้วย[4]

รามจันทรันและฮับบาร์ดเสนอว่า ปรากฏการณ์กิกี/บูบาอาจจะบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับวิวัฒนาการของภาษา เพราะว่า การบัญญัติชื่อวัตถุต่าง ๆ ไม่ใช่เป็นไปโดยบังเอิญตามอำเภอใจ[3][ต้องการเลขหน้า] รูปโค้ง ๆ อาจจะควรเรียกว่า "บูบา" เพราะต้องทำปากเป็นรูปกลม ๆ เพื่อจะกล่าวคำนั้น และรูปหยัก ๆ อาจจะควรเรียกว่า "กิกี" เพราะต้องทำปากให้ตึงประกอบเป็นมุม เพื่อจะกล่าวคำนั้น นอกจากนั้นแล้ว เสียง "ก" แข็งกว่า ต้องกล่าวด้วยกำลังที่เหนือกว่าเสียง "บ" ปรากฏการณ์นี้ซึ่งคล้ายกับภาวะวิถีประสาทเจือกัน (synesthesia) คือการที่เสียงซึ่งมาจากทางประสาทหนึ่งคือหู แปลไปเป็นรูปร่างซึ่งเกี่ยวข้องกับอีกทางประสาทหนึ่งคือตา อย่างไม่บังเอิญ บอกเป็นนัยว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะเป็นมูลฐานในระบบประสาทของการใช้เสียงสื่อความ (sound symbolism) ซึ่งเสียงหนึ่ง ๆ แปลไปเป็นวัตถุและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกอย่างเฉพาะเจาะจง

งานวิจัยเร็ว ๆ นี้แสดงว่า ปรากฏการณ์นี้อาจจะเป็นกรณีหนึ่งของ ideasthesia[5][6]

ผู้มีโรคออทิซึมไม่แสดงแนวโน้มในการจับคู่เสียงและรูปในระดับที่เท่ากับบุคคลปกติ แม้ว่า ประมาณ 88% ของเด็กที่ยังเจริญวัยอยู่ประสบกับปรากฏการณ์นี้ แต่ว่าผู้มีโรคออทิซึมกลับประสบเพียงแค่ 56%[7]

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. Köhler, W (1929). Gestalt Psychology. New York: Liveright.
  2. Köhler, W (1947). Gestalt Psychology, 2nd Ed. New York: Liveright.
  3. 3.0 3.1 Ramachandran, VS & Hubbard, EM (2001b). "Synaesthesia: A window into perception, thought and language" (PDF). Journal of Consciousness Studies. 8 (12): 3–34. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-08-13. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Maurer D, Pathman T & Mondloch CJ (2006). "The shape of boubas: Sound-shape correspondences in toddlers and adults" (PDF). Developmental Science. 9 (3): 316–322. doi:10.1111/j.1467-7687.2006.00495.x. PMID 16669803. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-23. สืบค้นเมื่อ 2013-10-22.
  5. ideasthesia (การรับรู้ความคิด) มีนิยามว่า เป็นปรากฏการณ์ที่การเกิดความคิดซึ่งเรียกว่า inducer ก่อให้เกิดประสบการณ์เหมือนกับการรับรู้ความรู้สึกทางตาเป็นต้น (ซึ่งเรียกว่า concurrents) คือ การคิดถึงเหตุการณ์หนึ่งทำให้เกิดประสบการณ์ทางสมองที่คล้ายกับบเหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขึ้นอยู่จริง ๆ คำว่า ideasthesia มาจากคำในภาษากรีกคือ "idea" + "aisthesis" แปลว่า การรับรู้ความคิด หรือการรับรู้ไอเดีย
  6. Gómez Milán, E., Iborra, O., de Córdoba, M.J., Juárez-Ramos V., Rodríguez Artacho, M.A., Rubio, J.L. (2013) The Kiki-Bouba effect: A case of personification and ideaesthesia. The Journal of Consciousness Studies. 20(1-2) : pp. 84-102.
  7. Oberman LM & Ramachandran VS. (2008). "Preliminary evidence for deficits in multisensory integration in autism spectrum disorders: the mirror neuron hypothesis". Social Neuroscience. 3 (3–4): 348–55. doi:10.1080/17470910701563681. PMID 18979385.