นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เป็นวิชาชีพทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เป็นผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับงานด้านการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย ครอบคลุมทั้งด้านการตรวจ วินิจฉัย รักษา แก้ไขและฟื้นฟู สร้างเสริมสมรรถภาพ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคแก่ผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยินและการทรงตัวและผู้ที่มีปัญหาทางด้านภาษาและการพูด โดยวิธีการ เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ทางการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายเพื่อใหผู้ใช้บริการมีคณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถสื่อความหมายได้เต็มความสามารถ

โดยแบ่งนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายเป็น 2 ประเภท

  1. นักแก้ไขการพูด (speech language pathologist)
  2. นักแก้ไขการได้ยิน (audiologist)

ประวัติความเป็นมา[แก้]

วิชาชีพการแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมายประกอบด้วย การแก้ไขการพูดและการแก้ไขการได้ยิน ได้เข้าร่วมมีบทบาทในการบริการทางด้านสาธารณสุขนานกว่า 30 ปีโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์พูนพิศ อมาตยกุล และรองศาสตราจารย์ ดร.รจนา ทรรทรานนท์ ได้วางรากฐานงานทางด้านโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517 หลังจากที่อาจารย์ทั้งสองท่านสำเร็จการศึกษาด้านโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูด ตามลำดับ จาก Temple University ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย ตั้งแต่ปีพ.ศ.2519 นับเป็นสถาบันแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ทำให้มีบุคลากรที่สำเร็จการศึกษามารับใช้สังคมในการวินิจฉัยความผิดปกติของการสื่อความหมาย ให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยที่มีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถสื่อความหมายได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปโดยไม่ต้องเป็นภาระของสังคม

การศึกษา[แก้]

ปัจจุบันหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาบัณฑิตในประเทศไทย ใช้เวลาศึกษา 4 ปี โดยทางภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายขึ้นเพื่อผลิตนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย เป็นหลักสูตรปริญญาตรีหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวในประเทศไทย ณ ขณะนี้

โดยหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตนี้ได้เริ่มเปิดสอน นักศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2547 เพื่อผลิตบุคลากรที่ชำนาญด้านแก้ไขการได้ยินและแก้ไขการพูดแก่ผู้ป่วย โดยทำงานร่วมกับแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆในสถาบันทางการ แพทย์และโรงพยาบาลทั้ง ภาครัฐและเอกชน