นกการเวก (เทพปกรณัม)
นกการเวก หรือ ปักษาวายุภักษ์ (แปลว่า "นกกินลม"[1]; สันสกฤต: कलविङ्क, อักษรโรมัน: kalaviṅka) เป็นนกในเทพปกรณัมของตะวันออก ปรากฏในป่าหิมพานต์ เรียกกันอีกชื่อหนึ่งในวรรณคดีเรื่อง ไตรภูมิพระร่วงว่า นกกรวิค อธิบายว่า บินได้สูงเหนือเมฆ มีเสียงไพเราะยิ่งนัก สัตว์ทุกชนิดเมื่อได้ยินแล้วจะต้องหยุดฟัง[2] นอกจากนี้ยังปรากฏมีมาในพระบาลีว่าเสียงของพระพุทธเจ้านั้นเหมือนเสียงพรหม แจ่มใสชัดเจน อ่อนหวาน สำเนียงเสนาะ ไม่แตก ลึกซึ้ง มีกังวาลไพเราะและเหมือนเสียงนกการเวก ส่วนอาหารของนกการเวกนั้น มีกล่าวไว้ในคัมภีร์ปัญจสุทนีว่า นกการเวก กินน้ำมะม่วงสุกเป็นอาหาร แต่โดยที่นกชนิดนี้หายากหลงเข้าใจกันแต่ว่าอยู่บนท้องฟ้ากินลมเป็นอาหาร ตามวรรณคดีไตรภูมิพระร่วงนั้น กล่าวว่าขนนกการเวกนั้นเป็นที่ต้องการเพราะกลายเป็นทองคำได้[3]
ตราปักษาวายุภักษ์
[แก้]นกการเวก หรือ ปักษาวายุภักษ์ ถูกใช้เป็นตราสัญลักษณ์ของกระทรวงการคลังของไทย โดยใช้มาตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีที่มาจากขนหางของนกปักษาสวรรค์จากอินโดนีเซีย ที่ประดับบนพระมาลา ที่ได้มาจากชาวอังกฤษที่ทูลเกล้าถวายตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 4 และถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน[1]
นกการเวกแบบเอเชียตะวันออก
[แก้]ในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน หรือ ญี่ปุ่น ก็มีความเชื่อเรื่องนกการเวกเช่นเดียวกัน โดยนกการเวกในความเชื่อของประเทศภูมิภาคแถบนี้ คือ เป็นสัตว์อมตะไม่มีวันตาย ปรากฏในตำนานพุทธศาสนา มีศีรษะเป็นมนุษย์ แต่มีลำตัว ปีก และขนหางเป็นนก คล้ายกับกินรี[4]
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ตราประจำกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร". กระทรวงการคลัง. 28 February 2014. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
- ↑ "การเวก ๑". พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
- ↑ "นกการเวก". สนุกดอตคอม. 26 November 2013. สืบค้นเมื่อ 27 September 2014.
- ↑ Shinchosha (1985). 新潮世界美術事典 (Shincho Encyclopedia of World Art). Shinchosha. ISBN 4-10-730206-7.