ธงชาติแองกวิลลา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ธงชาติแองกวิลลา
การใช้ ธงชาติและธงเรือรัฐบาล
สัดส่วนธง 1:2
ประกาศใช้ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 (โดยนิตินัย)
ลักษณะ ธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงิน ที่ด้านปลายธงมีภาพตราแผ่นดินของแองกวิลลา
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
การใช้ historical
สัดส่วนธง 1:2
ประกาศใช้ พ.ศ. 2510 - 2512 (โดยพฤตินัย)
ลักษณะ ธงพื้นสีขาวมีรูปปลาโลมาสามตัวขดกัน ตอนล่างของธงเป็นแถบสีฟ้า
ธงชาติฯในรูปแบบอื่น
สัดส่วนธง 1:2
ลักษณะ ธงชาติสหราชอาณาจักร กลางธงมีภาพตราแผ่นดินประจำดินแดน

ธงชาติแองกวิลลา เป็นธงแสดงสัญชาติสีน้ำเงิน กว้าง 1 ส่วน ยาว 2 ส่วน ที่ด้านปลายธงมีภาพตราแผ่นดินของแองกวิลลา ซึ่งเป็นรูปโล่แบ่งพื้นเป็นสีขาวตอนบน สีฟ้าตอนล่าง มีรูปปลาโลมาสีส้ม 3 ตัวขดกันเป็นกงล้อ โดยปลาแต่ละตัวนั้นหันหน้าเข้าหากัน หมายถึง มิตรภาพ ปัญญา และความเข้มแข็ง รูปตราแผ่นดินดังกล่าวนี้มาจากธงชาติของแองกวิลลาในช่วงประกาศแยกตัวเป็นเอกราชในปี พ.ศ. 2510 - 2512

ประวัติ[แก้]

เดิมแองกวิลลาถูกปกครองในฐานะส่วนหนึ่งของเซนต์คริสโตเฟอร์-เนวิส-แองกวิลลา ซึ่งเป็นอาณานิคมโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรในขณะนั้น จึงใช้ธงของเขตการปกครองดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2510 แองกวิลลาได้ประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรและก่อตั้งสาธารณรัฐแองกวิลลาขึ้น สาธารณรัฐเกิดใหม่แห่งนี้ได้ประกาศใช้ธงพื้นสีแดงมีรูปนางเงือกสองตนและข้อความ "Republic of Anguilla" เป็นสัญลักษณ์ แต่ใช้ได้เพียงไม่นาน (23 ก.ค. - 29 ก.ย. 2510) ก็มีการเปลี่ยนแบบธงใหม่เป็นธงพื้นสีขาวมีรูปปลาโลมาสามตัวขดกัน ตอนล่างของธงเป็นแถบสีฟ้า ตามอย่างภาพตราสัญลักษณ์ของอาณานิคม ธงดังกล่าวนี้แม้ภายหลังสหราชอาณาจักรจะทำการปราบปรามจนแองกวิลลากลับมาเป็นอาณานิคมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2512 ก็ตาม แต่ก็ยังพบว่ามีการใช้ธงนี้เป็นสัญลักษณ์ของแองกวิลลาอยู่ทั่วไปจนถึงปัจจุบัน

ความหมาย[แก้]

ความหมายของสัญลักษณ์ของธงรูปปลาโลมาในช่วง พ.ศ. 2510 - 2512 มีดังนี้

  • สีขาว หมายถึงสันติภาพและความสงบ
  • สีฟ้า หมายถึงท้องทะเล ความศรัทธา ความเยาว์วัยและความหวัง
  • ปลาโลมาสีแสดทั้งสามตัว หมายถึง มิตรภาพ ปัญญา และความเข้มแข็ง

เมื่อแองกวิลลากลับมาอยู่ในความปกครองของสหราชอาณาจักรอีกครั้งแล้ว ธงชาติสหราชอาณาจักรจึงได้ใช้เป็นธงสัญลักษณ์ของแองกวิลลาอย่างเป็นทางการอีกครั้ง และต่อมาสหราชอาณาจักรก็ได้แยกแองกวิลลาออกมาเป็นเขตการปกครองอีกเขตหนึ่งต่างหากในปี พ.ศ. 2523 แต่ธงชาติสำหรับดินแดนนั้นได้ประกาศใช้ในภายหลังเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ดังลักษณะที่ปรากฏในปัจจุบัน

ดูเพิ่ม[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]