ต้นทุนค่าเสียโอกาส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ต้นทุนค่าเสียโอกาส (อังกฤษ: Opportunity cost) คือมูลค่าของผลตอบแทนจากกิจกรรมที่สูญเสียโอกาสไปในการเลือกทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง[1] ต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นต้นทุนที่ถูกอ้างถึงในวิชาเศรษฐศาสตร์ เพราะมันบ่งบอกถึงการเลือกตัวเลือกที่เป็นที่ต้องการทั้งหมดแต่ไม่สามารถเลือกพร้อมกันได้ และเป็นแนวคิดที่สำคัญในการที่จะใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด[2] ต้นทุนค่าเสียโอกาสไม่ได้หมายถึงมูลค่ารวม แต่หมายถึงเฉพาะมูลค่าที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดในบรรดาตัวเลือกอื่นที่เสียโอกาสไปเท่านั้น

การคำนึงถึงต้นทุนค่าเสียโอกาสเป็นความแตกต่างที่สำคัญที่สุดของต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และต้นทุนทางบัญชี ต้นทุนค่าเสียโอกาสนับว่าเป็นต้นทุนที่แท้จริงในการทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตาม เพราะมันทำให้เห็นถึงโอกาสซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกซ่อนอยู่ (และไม่สามารถมองเห็นหากคำนวณทางบัญชี)

อย่างไรก็ตาม การคำนวณหาต้นทุนค่าเสียโอกาสนั้นส่วนใหญ่ทำได้ยาก เพราะเป็นการคำนวณจากการคาดคะเนเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง

ตัวอย่าง[แก้]

ต้นทุนค่าเสียโอกาสของการเรียนต่อในระดับปริญญาเอกไม่ใช่เพียงค่าเล่าเรียนที่เสียไป แต่หมายถึงรายได้ที่คาดว่าจะได้รับหากไม่เรียนต่อแต่ไปทำงานแทนด้วย

ผู้ที่นำเงินไปลงทุนในหุ้นสูญเสียโอกาสที่เขาจะได้รับดอกเบี้ยจากการฝากธนาคาร ดังนั้นต้นทุนค่าเสียโอกาสในการลงทุนนี้จึงหมายถึงดอกเบี้ยที่ควรจะได้รับ (หรือหมายถึงผลตอบแทนใด ๆ ที่จะได้รับ หากสามารถนำเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยธนาคาร)

หากรัฐตัดสินใจจะสร้างโรงพยาบาลในที่ว่างที่เป็นของรัฐ ต้นทุนค่าเสียโอกาสจะหมายถึงมูลค่าที่สูงที่สุดของกำไรในการนำที่ดินนี้และเงินค่าก่อสร้างไปทำประโยชน์อย่างอื่น เช่น ในการสร้างโรงพยาบาลนี้ รัฐเสียโอกาสที่จะสร้างโรงเรียน หรือห้องสมุด หรือโอกาสที่จะขายที่ดินนี้เพื่อลดหนี้ของรัฐ

อ้างอิง[แก้]

  1. David Besanko, David Dranove and Mark Shanley. Economics of Strategy, Second Edition, pg. 20
  2. "The Economist's definition of Opportunity Cost". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-09. สืบค้นเมื่อ 2008-08-11.