ตี่ละฉิ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตี่ละฉิ่นขณะบิณฑบาตในย่างกุ้ง
ตี่ละฉิ่นเชื้อสายกะฉิ่นในพะโม
ตี่ละฉิ่นในสำนักเรียนแห่งหนึ่งในสะกาย

ตี่ละฉิ่น (พม่า: သီလရှင်, ออกเสียง: [θìla̰ʃɪ̀ɰ̃]; "ผู้ทรงศีล" – มาจากคำบาลีว่า สีล)[1] เป็นนักพรตหญิงในศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในประเทศพม่า ลักษณะเดียวกับแม่ชีในประเทศไทย และทสสีลมาตาในประเทศศรีลังกา ทั้งนี้ตี่ละฉิ่นมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นภิกษุณีแต่ตี่ละฉิ่นจะมีลักษณะใกล้เคียงกับสามเณรีมากกว่า

ประวัติ[แก้]

การบวชของเพศหญิงในพม่าเกิดขึ้นมาเป็นเวลานานตั้งแต่ยุคอาณาจักรศรีเกษตร ดังปรากฏในเอกสารสมัยราชวงศ์ถังช่วงศตวรรษที่ 9 ความว่า "เมื่อย่างถึงวัย 7 ขวบ เด็กทั้งชายหญิงจะปลงผมและพำนักอยู่ในวัดเพื่อใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ต่อเมื่ออายุถึงวัย 20 ปี หากไม่อาจมีสุขอยู่ในแนวทางนั้นได้ก็จะสึกจากสมณเพศ ปล่อยผมยาวคืนสู่ภาวะสามัญชนดังเดิม" และคงมีการบวชเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ตี่ละฉิ่นจำนวนไม่น้อยได้รับการยกย่อง เช่น ซะหย่ากีง ได้รับนิมนต์จากพระเจ้ามินดงให้ไปถวายพระอักษรเจ้านายฝ่ายใน ครั้นในช่วงที่พม่าตกเป็นอาณานิคมตี่ละฉิ่นได้ลดจำนวนลง แต่หลังจากพม่าได้รับเอกราชตี่ละฉิ่นก็กลับมาเพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ[1]

จำเดิมตี่ละฉิ่นครองผ้าสีขาวเช่นเดียวกับแม่ชีในไทย ต่อมาช่วงปี 2438-62 พระวัดคันธาโยงเมืองอมรปุระขึ้นไปจำพรรษบนเขาสะกาย ท่านให้ข้อคิดว่าตี่ละฉิ่นนั้นควรนุ่งห่มด้วยผ้าคล้ำเพราะผ้าขาวดูคล้ายฆราวาสไม่น่าเลื่อมใส ตี่ละฉิ่นจึงเปลี่ยนสีผ้าที่ครองเป็นสีดินเมืองปะกัน สีดินแดงแบบย่างกุ้ง และสีชมพูตามลำดับ[2]

ตี่ละฉิ่นอยู่กึ่งกลางระหว่างเพศนักบวชกับฆราวาส ตี่ละฉิ่นที่ถือศีลแปดจะครองผ้าสีชมพูส่วนที่ถือศีลสิบจะครองผ้าสีน้ำตาล[2] โกนศีรษะแต่ไม่โกนคิ้ว ห่มสังฆาฏิสีน้ำตาล แต่จะได้รับการเคารพยกย่องมากกว่าแม่ชีของไทย โดยตี่ละฉิ่นสามารถเข้าอบรมทางศาสนา ปฏิบัติศาสนกิจ บิณฑบาต มีวัดหรือสำนักชีเป็นเอกเทศ และมีการสอบนักธรรมเช่นภิกษุสงฆ์ ฆราวาสจะเรียกตี่ละฉิ่นด้วยความเคารพว่า ซะหย่าเล (พม่า: ဆရာလေး, [sʰəjàlé]; "อาจารย์น้อย") หรือ ด่อ (ဒေါ်, [dɔ̀]) หากบวชมานานจะเรียกว่า ซะหย่าจี แปลว่า "อาจารย์ใหญ่" และมีคำลงท้ายว่า พะยา แปลว่า ขอรับหรือเจ้าค่ะ เช่นเดียวกับพระสงฆ์[1]

ตี่ละฉิ่นมีสองประเภทคือแบบมีวัดเป็นเอกเทศ และอยู่ร่วมวัดกับภิกษุ โดยแบบแรกมีจำนวนมากสุด[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 รศ.สมบูรณ์ บุญฤทธิ์, บุญหนา จิมานัง และไฉไลฤดี ยุวนะศิริ. "ตีละฉิ่น : ชีแห่งเมืองสกาย ประเทศสหภาพเมียนมาร์". มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-05-09. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 พงศกร เบ็ญจขันธ์. "ชีวิตแม่ชีในสังคมพม่า". Go To Know. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2559. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)