ตะขาบน้ำตก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตะขาบน้ำตก
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์ขาปล้อง
ชั้น: Chilopoda
อันดับ: Scolopendromorpha
วงศ์: Scolopendridae
สกุล: Scolopendra
Siriwut, Edgecombe & Panha, 2016
สปีชีส์: Scolopendra cataracta
ชื่อทวินาม
Scolopendra cataracta
Siriwut, Edgecombe & Panha, 2016

ตะขาบน้ำตก หรือเรียกว่า Scolopendra cataracta เป็นตะขาบสปีชีส์หนึ่งในวงศ์ Scolopendridae [1][2] เป็นตะขาบสะเทินน้ำสะเทินบกชนิดแรกของโลกที่ถูกค้นพบ สามารถเติบโตได้ยาวถึง 20 เซนติเมตร (0.66 ฟุต)[2] [3]

การค้นพบ[แก้]

นายจอร์จ เบคคาโลนี นักกีฏวิทยาและภัณฑารักษ์ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน[4] ค้นพบตะขาบน้ำตกครั้งแรกที่อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี [5] เมื่อ พ.ศ. 2544 ขณะที่เขามาพักผ่อนในประเทศไทย นายเบคคาโลนีบรรยายลักษณะของตะขาบว่า "มันดูน่าสยดสยอง มันมีขายาวมากและมีสีดำแกมเขียว" เขาพบตะขาบสายพันธุ์นี้เมื่อเขาไปพลิกหินก้อนหนึ่งริมลำธาร[2] โดยสิ่งที่เขาสังเกตได้ก็คือ ตะขาบตัวนี้รีบวิ่งหนีไปยังลำธาร แทนที่จะวิ่งเข้าป่า ซึ่งพฤติกรรมนี้ถือว่าผิดปกติ เนื่องจากตะขาบทั่วไปนั้นจะพยายามหลีกเลี่ยงน้ำ[3] จากนั้น ตะขาบตัวนี้ก็ว่ายน้ำเข้าไปหลบซ่อนอยู่ใต้ก้อนหินในลำธาร[2] หลังจับตะขาบตัวนี้ได้ นายเบคคาโลนีก็พบว่า มันมีลักษณะการว่ายน้ำคล้ายกับปลาไหล[3] นายเบคคาโลนีจึงได้เก็บตะขาบตัวนั้นกลับไปที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน เพื่อนำไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านตะขาบคนหนึ่งที่พิพิธภัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญคนนั้นมีข้อกังขาเกี่ยวกับการค้นพบของนายเบคคาโลนี เพราะตะขาบในกลุ่ม Scolopendra มักจะอาศัยอยู่ตามที่แห้ง และจนถึงตอนนั้นยังไม่เคยมีการค้นพบตะขาบสะเทินน้ำสะเทินบกมาก่อนเลย[2]

ตัวอย่างตะขาบของนายเบคคาโลนีถูกจัดเก็บอยู่ในพิพิธภัณฑ์หลายปี โดยไม่มีการค้นพบข้อมูลเพิ่มเติม[2] จนกระทั่งนายเกรกอรี เอดจ์คอมบ์ เพื่อนร่วมงานของนายเบคคาโลนี และนายวรุฒ ศิริวุฒิ นักเรียนชาวไทยของเขา ได้เก็บรวบรวมตะขาบอีกสองตัวใกล้น้ำตกในประเทศลาว จากการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ พบว่าตะขาบสองตัวนี้เป็นตะขาบสายพันธุ์ใหม่ พวกเขาจึงได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ว่า Scolopendra cataracta ซึ่งมาจากภาษาละติน แปลว่าน้ำตก [2]

จนถึงปัจจุบัน มีการเก็บตัวอย่างตะขาบน้ำตกไว้ได้เพียงสี่ตัวเท่านั้น ตะขาบตัวแรกถูกเก็บมาจากประเทศเวียดนามเมื่อปี พ.ศ. 2471 แต่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นตะขาบธรรมดา จึงถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอนโดยไม่มีการค้นหาเพิ่มเติม[2] ตะขาบตัวที่สองคือตะขาบที่นายเบคคาโลนีพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่วนตะขาบสองตัวสุดท้ายถูกเก็บได้โดยนายเอดจ์คอมบ์ที่ประเทศลาว[2]

ลักษณะ[แก้]

ตะขาบน้ำตก จัดเป็นตะขาบยักษ์ เติบโตได้ยาวประมาณ 200 มิลลิเมตร (7.9 นิ้ว)[2] มีขายาวและมีสีดำแกมเขียว [3] และเมื่อถูกพบเห็นจะพยายามหลบหนีโดยการไปซ่อนตัวใต้น้ำ มีการพบเห็นตะขาบสายพันธุ์นี้วิ่งอยู่ตามริมลำธาร หรือบางครั้งก็ลงไปว่ายน้ำในท่าทางคล้ายกับปลาไหล เมื่อตะขาบชนิดนี้ขึ้นมาจากน้ำ น้ำบนผิวของมันจะไหลออกไปโดยไม่เกาะตัวอยู่บนผิว[2] เนื่องจากผิวของมันนั้นมีสมบัติไฮโดรโฟบิก ทำให้ผิวของตะขาบชนิดนี้สามารถแห้งได้อย่างรวดเร็ว

ที่อยู่อาศัย[แก้]

ตะขาบน้ำตกมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบได้ในประเทศลาว ประเทศไทย และ ประเทศเวียดนาม [2]

อ้างอิง[แก้]

  1. Bonato L.; และคณะ (2016). "Scolopendra cataracta Siriwut, Edgecombe, Panha, 2016". ChiloBase 2.0 – A World Catalogue of Centipedes (Chilopoda). สืบค้นเมื่อ 27 November 2020.
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 Bates, M. (26 June 2016). "'Horrific' First Amphibious Centipede Discovered". National Geographic. สืบค้นเมื่อ 1 July 2016.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Holmes, O. (1 July 2016). "Giant swimming, venomous centipede discovered by accident in world-first". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 1 July 2016.
  4. "Dr George Beccaloni – Curator, Orthopteroidea and Wallace Collection". Natural History Museum, London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-09-07. สืบค้นเมื่อ 1 July 2016.
  5. Nijhuis, M. (3 July 2016). "It's always a joy to discover a new species. But there is a downside..." The Guardian. สืบค้นเมื่อ 3 July 2016.