ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (อังกฤษ: LiVe Exchange, LiVEx) เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งที่สามของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565[1] จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการระดมทุนในตลาดทุนของกิจการที่อยู่ในชั้นกำลังพัฒนาเช่น วิสาหกิจขนาดกลาง (SME) และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด โดย LiVEx มีแนวทางการกำกับดูแลการจดทะเบียนและการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดที่มีลักษณะผ่อนปรนทั้งในเรื่องคุณสมบัติการเข้าจดทะเบียนและการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน โดยเน้นหลักการเปิดเผยข้อมูลต่อผู้ลงทุน และอัตราค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการเป็นบริษัทจดทะเบียนจะต่ำกว่ากรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) การซื้อขายจะเป็นแบบเจรจาต่อรองกันเอง โดยมี Live Platform เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งทุนและบริษัท ซึ่งจะไม่มีการจับคู่ซื้อขายแบบอัตโนมัติเหมือน SET และ mai[2]

เกณฑ์เกี่ยวกับการซื้อขายบน LiVEx[แก้]

กำหนดให้ทำการซื้อขายผ่านบริษัทสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะผู้ลงทุนที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด ในรูปแบบบัญชีวางเงินล่วงหน้า (prepaid) โดยต้องมีหุ้น หรือเงินเพียงพอสำหรับการซื้อขาย

โดยเปิดให้ซื้อขายแบบประมูล (auction) ด้วยวิธีจับคู่อัตโนมัติ (Automatic Order Matching, AOM) วันละ 1 รอบ ระหว่าง 9.30–11.00 น. พร้อมชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์แบบทีละรายการ (Gross Settlement) ภายในวันเดียวกันกับวันที่ซื้อขาย (วันที่ T) ไม่มีการกำหนดราคาเสนอซื้อ/เสนอขายสูงสุดและต่ำสุดของหลักทรัพย์ (Ceiling/Floor) และไม่มีการหยุดการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (Circuit Breaker)[2]

เกณฑ์การระดมทุนผ่านตลาดสำหรับ SMEs และ Startups[แก้]

ประเภทผู้ระดมทุน[แก้]

วิสาหกิจขนาดกลาง (SME) ตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC) หรือบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารหุ้นนอกตลาด (Private Equity Firm) ร่วมลงทุน[3] โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด

มูลค่าการระดมทุน[แก้]

ตลาดแรก การระดมทุนสาธารณะในรูปแบบการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) มูลค่า 10–500 ล้านบาท และระดมทุนได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80[3]

ประเภทผู้ลงทุน[แก้]

  • ผู้ประกอบอาชีพลงทุน ได้แก่ นักลงทุนสถาบัน, ธุรกิจเงินร่วมลงทุน, บริษัทที่ทำหน้าที่บริหารหุ้นนอกตลาด, ผู้ลงทุนที่มีลักษณะเฉพาะ (angel investor)
  • ผู้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการลงทุน
  • ผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษหรือผู้ลงทุนรายใหญ่ซึ่งมีคุณสมบัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีรายได้ต่อปีไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท หรือมีสินทรัพย์รวมไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และมีประสบการณ์ในการลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ปี[2]
  • ผู้ที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทเช่น กรรมการ, ผู้บริหาร, พนักงาน, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่

หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ระดมทุน[แก้]

ก่อนจดทะเบียนเข้าตลาด[แก้]

เปิดเผยงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (Publicly Accountable Entities, PAEs) 1 ปี และยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และหนังสือชี้ชวน (แบบ filing)

หลังจดทะเบียน[แก้]

รายงานงบการเงินทุก 6 เดือน และแสดงข้อมูลสำคัญตามเหตุการณ์[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ดีเดย์เกณฑ์ "ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์" มีผล 31 มี.ค. 65 สร้างโอกาส SMEs และ Startups เติบโต พร้อมมอบหมาย "ประพันธ์ เจริญประวัติ" เป็นผู้จัดการ". ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย. 15 มีนาคม 2022.
  2. 2.0 2.1 2.2 "รู้จัก "LiVEx" กระดานเทรดหุ้น "SMEs-Startups" ต่างจาก SET และ mai อย่างไร ?". กรุงเทพธุรกิจ. 9 กันยายน 2022.
  3. 3.0 3.1 3.2 "Live Exchange ตลาดหลักทรัพย์ใหม่สำหรับ SME และ Startup". สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย. 8 ธันวาคม 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

  • LiVE Platform. เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์.