การตรวจลงตรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตรวจลงตรา)

การตรวจลงตรา หรือ วีซ่า (อังกฤษ: Visa)[1] (Visa มาจากภาษาละติน หมายถึง เอกสารที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว) เป็นเอกสารซึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งได้ออกให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งภายใต้การพิจารณาของประเทศนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว เพื่อเป็นการแสดงว่าได้อนุญาตให้ต่างด้าวบุคคลนั้นสามารถเดินทางเข้าประเทศผู้ได้ออกตรวจลงตรานั้นได้ ภายในช่วงระยะเวลาและขอบเขตของจุดประสงค์ที่ได้กำหนดไว้ในการยื่นคำร้องขอรับการตรวจลงตรา ใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองขณะเดินทางเข้าประเทศผู้ออกตรวจลงตรา

ปกติแล้วจะมีการประทับตรวจลงตราไว้ในหนังสือเดินทาง อาจเป็นในรูปแบบแผ่นสติ๊กเกอร์ ตราประทับ หรืออาจอยู่ในรูปเอกสารอื่นใดที่ไม่ได้ประทับลงในหนังสือเดินทาง[2] ในปัจจุบันการตรวจลงตราในบางประเทศเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายในระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งจะไม่ปรากฏเครื่องหมายใด ๆ ในหนังสือเดินทาง หรือไม่มีเอกสารที่แสดงถึงการได้รับตรวจลงตราแล้ว การตรวจลงตราอาจเป็นเอกสารที่แสดงว่าบุคคลหนึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าหรือเดินทางออกจากพื้นที่ของประเทศอันเป็นของผู้ออก[3]

การเดินทางในอดีตก่อนสงครามโลก ไม่ต้องใช้การตรวจลงตรา ครั้นมีสงครามเกิดความหวาดกลัวในเรื่องสายลับจึงทำให้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องทำการตรวจสอบบุคคลก่อนที่จะอนุญาตให้เดินทางเข้าสู่ประเทศของตน

ประเภทของวีซ่า[แก้]

  1. วีซ่าเดินทางผ่าน (Transit Visa) ปกติจะมีอายุประมาณ 5 วัน เพื่อเป็นทางผ่านไปยังประเทศอื่นที่เป็นจุดหมายอันไม่ใช่ประเทศที่ได้รับอนุญาตซึ่งวีซ่าเดินทางผ่าน
  2. วีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) เป็นวีซ่าที่มีจุดประสงค์ในการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวหรือสันทนาการ โดยไม่มีกิจกรรมทางธุรกิจมาเกี่ยวข้องระหว่างการเดินทางนั้น ๆ
  3. วีซ่าธุรกิจ (Business Visa) เป็นวีซ่าเพื่อวัตถุประสงค์ในการทำการค้าหรือติดต่อธุรกิจในประเทศผู้ออกวีซ่า หรือกิจกรรมอื่นใดอันเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ในบางประเทศจะมีการรวมเอาการจ้างงานอย่างถาวรไว้ในการอนุญาตนี้ด้วย
  4. วีซ่าทำงาน ชั่วคราว (Temporary Worker Visa) เป็นวีซ่าที่แสดงว่าบุคคลนั้นได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศนั้นได้ชั่วคราวตามเงื่อนไขที่ระบุเอาไว้ในวีซ่า ส่วนใหญ่วีซ่าชนิดนี้ มีขั้นตอนวิธีปฏิบัติมาก การได้มาซึ่งวีซ่าจึงค่อนข้างยาก แต่มีช่วงเวลาการได้รับอนุญาตที่ยาวนานกว่าวีซ่าธุรกิจ
  5. วีซ่า ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (On-Arrival Visa) เป็นวีซ่าที่ได้รับเมื่อเดินทางถึงประเทศที่เป็นจุดหมายการเดินทาง ซึ่งจะได้รับตรงจุดตรวจคนเข้าเมือง[4]
  6. วีซ่าคู่สมรส หรือวีซ่าแต่งงาน (Spouse Visa, Partner Visa, Marriage Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้คู่แต่งงานไม่ว่าชายหรือหญิง ที่เป็นคู่สมรสของผู้ถือสัญชาติของประเทศนั้น ๆ สามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศของอีกฝ่ายหนึ่งและพำนักได้ถาวรตามบุคคลในครอบครัว
  7. วีซ่าคู่หมั้น (Fiancee Visa, Prospective Marriage Visa, settlement Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้คู่แต่งงานไม่ว่าชายหรือหญิง ที่มีความประสงค์จะเดินทางเข้าไปพำนักอยู่ในประเทศตามสัญชาติของอีกฝ่ายและจะต้องทำการสมรสผู้ถือสัญชาติของประเทศดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดตามวีซ่า และสามารถเดินทางเข้าสู่ประเทศของอีกฝ่ายหนึ่งและพำนักได้ถาวรตามบุคคลในครอบครัว
  8. วีซ่านักเรียน (Student Visa) เป็นวีซ่าซึ่งอนุญาตให้ทำการเรียนในประเทศที่ได้รับวีซ่านักเรียนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ในบางประเทศอาจใช้วีซ่าท่องเที่ยวแทน
  9. วีซ่าท่องเที่ยวและทำงาน (Working Holiday Visa) เป็นวีซ่าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศผู้เป็นภาคี มีสาระสำคัญคือ สามารถเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวและทำงานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้
  10. วีซ่าการทูต (Diplomatic Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้แก่ผู้ที่ถือหนังสือเดินทางทางการทูตหรือเพื่อการของรัฐของประเทศนั้น ๆ
  11. วีซ่านักเขียน (Jounalist Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้กับนักเขียนหรือผู้สื่อข่าวจากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ
  12. วีซ่าอพยพ (Immigration Visa) เป็นวีซ่าอนุมัติให้กับผู้ที่ต้องการอพยพไปตั้งถิ่นฐานยังประเทศที่อนุญาต
  13. วีซ่าผู้รับบำนาญ หรือ วีซ่าผู้เกษียณ (Pensioner Visa หรือ Retirement Visa) เป็นวีซ่าซึ่งบางประเทศอนุญาตให้สำหรับผู้ที่สามารถแสดงตนได้ว่ามีรายได้ในต่างประเทศซึ่งไม่ใช่ประเทศที่ออกวีซ่าดังกล่าวให้ แต่ต้องเป็นจำนวนที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่มีความประสงค์ที่จะทำงานแล้ว มักมีการจำกัดอายุของผู้รับอนุญาต
  14. วีซ่าลูกเรือ (Ship Crew Visa) เป็นวีซ่าที่อนุญาตให้กับ ลูกเรือของสายการบินที่ต้องเดินทางเข้ามาพร้อมสายการบิน หรือ ลูกเรือที่ทำงานให้กับเรือเดินสมุทรที่ทำงานบนเรือเดินสมุทรของต่างประเทศที่แล่นอยู่ในบริเวณน่านน้ำภายในไหล่ทวีปนอกชายฝั่ง[5]

รูปแบบวีซ่า[แก้]

  1. แบบเอกสาร เป็นหนังสือซึ่งวีซ่าแบบเอกสารอาจถือได้ว่าเป็นวีซ่าแบบเก่าแก่ เช่น การอนุญาตให้บุคคลเดินทางออกจากดินแดนของตน
  2. ตราประทับ ใช้วิธีการประทับหรือพิมพ์การตรวจลงตราไว้ด้วยหมึก
  3. แบบฉลาก เป็นการพิมพ์การตรวจลงตราไว้บนฉลากจากนั้นนำฉลากนั้นติดลงบนหนังสือเดินทาง
  4. แบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นรูปแบบล่าสุดของออกตรวจลงตรา ซึ่งจะบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ไว้ในส่วนเก็บข้อมูลของหนังสือเดินทาง เมื่อเดินทางเข้าสู่ประเทศผู้อนุญาตข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเรียกขึ้นมาดูผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ในปัจจุบันประเทศนิวซีแลนด์ใช้วีซ่ารูปแบบนี้

อ้างอิง[แก้]

  1. กรมการกงสุล เก็บถาวร 2013-03-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน การตรวจลงตรา (Visa)
  2. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโค เก็บถาวร 2013-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนพาสสปอร์ตและวีซ่า
  3. Educateparkวีซ่า คืออะไร
  4. กรมการกงสุล เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนตรวจลงตรา (VISA) : รายชื่อประเทศที่สามารถขอรับการตรวจลงตรา ณ ช่องทางอนุญาตของด่านตรวจคนเข้าเมือง (VISA ON ARRIVAL) และพำนักอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 15 วัน
  5. studysqr.com วีซ่า และ การลงตราชนิดพิเศษ