สายการบินราคาประหยัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซาท์เวสต์แอร์ไลน์ สายการบินราคาประหยัดที่ใหญ่สุดในโลก
เครื่องบินแอร์บัส เอ319 ของอีซี่ย์เจ็ตที่ท่าอากาศยานอัมสเตอร์ดัมสคิปโฮล

สายการบินราคาประหยัด หรือสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจด้านการบิน ด้วยการลดค่าใช้จ่ายของการบิน เช่น ไม่มีการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มฟรี ไม่มีระบบความบันเทิงให้บริการผู้โดยสาร เป็นต้น ทำให้สามารถขายตั๋วโดยสารในราคาประหยัดได้ อีกทั้งมีการขายตั๋วล่วงหน้าผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต ทำให้สามารถวางแผนจัดการเที่ยวบินได้ง่าย ลดความเสี่ยงด้านการโดยสารไม่เต็มลำ

ต้นกำเนิด[แก้]

ต้นกำเนิดสายการบินราคาประหยัดนั้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยสายการบิน SouthWest Airlines ในช่วงปี 2513 จากนั้นรูปแบบการดำเนินธุรกิจก็ได้รับการถ่ายทอดไปยังยุโรปโดยในปี 2534 โดยครั้งนั้นได้เปลี่ยนลักษณะการบริการแบบ Traditional Carrier ของสายการบินสัญชาติไอริชอย่าง Ryanair ให้เป็นสายการบินราคาประหยัด จากนั้นแนวคิดได้ถูกนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลายจนกระทั่งปัจจุบัน ยุโรปมีสายการบินราคาประหยัดแพร่รายใหญ่หลายสาย เช่น EasyJet (อังกฤษ), Norwegian Air Shuttle (นอร์เวย์), WizzAir (ฮังการี) สายการบินราคาประหยัดในสหภาพยุโรปจะมีลักษณะพิเศษเพราะอยู่ในระบบตลาดเดียวของสหภาพ กล่าวคือสามารถไปตั้งศูนย์กลางการบินในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้เลยโดยไม่ต้องร่วมหุ้นตั้งสายการบินกับประเทศที่ไปตั้งศูนย์กลางการบิน

บางครั้งมีการแบ่งสายการบินต้นทุนต่ำออกเป็น 2 ประเภทคือ

  • Premium Low-Cost : สายการบินต้นทุนต่ำ ที่ยังคงให้สิทธิ์แก่ผู้โดยสารในการโหลดสัมภาระลงใต้ท้องเครื่องบินได้ฟรีไม่เกิน 10-20 กิโลกรัม, เลือกที่นั่งฟรี และยังมีของว่างและน้ำดื่มในปริมาณที่จำกัด ให้บริการบนเที่ยวบิน โดยสายการบินที่ให้บริการลักษณะนี้เช่น มาลินโดแอร์ (Malindo Air) ของมาเลเซีย, นกแอร์ในช่วง พ.ศ. 2547-2559, ไทยไลอ้อนแอร์ ในช่วง พ.ศ. 2556-2559 (ปัจจุบันนกแอร์ให้เพียงสิทธิ์การเลือกที่นั่งฟรีในช่วง 24-4 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนบิน และไทยไลอ้อนแอร์ได้ยกเลิกแล้วทั้งสิทธิ์เลือกที่นั่งฟรีและสิทธิ์โหลดสัมภาระฟรี จึงนับว่าได้เปลี่ยนเป็น Ultra Low-Cost แล้วนั่นเอง)
  • Ultra Low-Cost : สายการบินต้นทุนต่ำ ที่ยึดหลักว่า "ไม่มีอะไรฟรี อยากได้อะไรเพิ่มก็ต้องซื้อเพิ่ม" ถ้าไม่ซืออะไรเพิ่ม ก็จะได้แค่การเดินทางที่ปลอดภัยจนถึงจุดหมายปลายทางเท่านั้น ถ้ามีสัมภาระใหญ่เกินกำหนดก็ไม่อนุญาตให้ถือขึ้นไปบนเครื่องบิน ต้องเสียค่าระวางโหลดสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน (แต่บางสายการบินหรือบางระดับของตั๋วก็ให้สิทธิ์โหลดสัมภาระฟรี), อยากนั่งตรงไหนพิเศษก็ต้องจ่ายเพิ่ม, อยากทานอาหารบนเครื่องก็ต้องซื้อเพิ่ม, ตัดบริการทุกสิ่งอย่างออก เหลือแค่การให้บริการการเดินทางด้วยความปลอดภัยและตรงต่อเวลามากที่สุดเท่านั้น สายการบินแบบนี้ตั๋วมักจะมีราคาถูกกว่าของสายการบินแบบ Premium Low-Cost สายการบินในลักษณะนี้เช่น แอร์เอเชีย, ไทเกอร์แอร์, เจ๊ตสตาร์, สกู๊ต, เซบูแปซิฟิค เป็นต้น

รูปแบบการให้บริการของสายการบินราคาประหยัด[แก้]

  • ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินของสายการบินประเภทนี้มักจะต่ำกว่าบัตรโดยสารชั้นประหยัดของสายการบินใหญ่ๆ ประมาณ 40-50 %
  • ให้บริการแบบ Single Economy Class คือมีบริการที่นั่งเฉพาะชั้นประหยัด (สำหรับเส้นทางบินระยะไกลซึ่งใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ อาจมีชั้นธุรกิจให้บริการด้วย)
  • มักใช้เครื่องบินโดยสารเพียงรุ่นเดียวหรือแบบเดียวในการให้บริการ เพื่อความสะดวกและประหยัดค่าบำรุงรักษา ตลอดจนค่าใช้จ่ายฝึกอบรมนักบิน เพราะการใช้เครื่องบินน้อยรุ่นทำให้ประหยัดค่าอะไหล่/อุปกรณ์ และง่ายต่อการดูแลรักษา นอกจากนี้ ยังอาจได้รับส่วนลดในการสั่งซื้อจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินเมื่อเหมาซื้อเครื่องบินแบบและรุ่นเดียวกันทั้งฝูงบิน นอกจากนี้เครื่องบินรุ่นที่เลือกใช้ก็เป็นรุ่นที่ประหยัดนํ้ามันเชื้อเพลิง มีขนาดเครื่องบินที่เหมาะสมกับระยะทางการบินและจำนวนผู้โดยสาร แต่ก็จัดวางที่นั่งให้เต็มลำที่สุด หรือเป็นที่นั่งชั้นประหยัดทั้งลำ เพื่อให้สามารถจุผู้โดยสารได้มากที่สุดในแต่ละเที่ยวบินด้วย (เช่น แอร์บัส เอ320 หรือโบอิง 737 เป็นต้น)
  • ส่วนใหญ่ให้บริการเส้นทางบินไม่ไกลนัก มักใช้เวลาบินไม่เกิน 3-4 ชั่วโมง เพื่อให้เหมาะสมกับพิสัยการบินของเครื่องบินรุ่นที่ประหยัดนํ้ามันเชื้อเพลิงดังกล่าว หรือหากเส้นทางบินไกล 5-12 ชั่วโมงก็จะใช้เครื่องบินลำใหญ่ขึ้น ที่ยังมีความประหยัดน้ำมัน และสามารถบินได้ไกลกว่าเพราะบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่า แต่ก็จำเป็นต้องมีจำนวนผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วที่มากขึ้นตามขนาดของเครื่องบินด้วยเพื่อให้เที่ยวบินนั้นเต็มลำหรือทำกำไรได้มากที่สุด (เช่น โบอิง 777 หรือ

แอร์บัส เอ330 เป็นต้น)

  • ส่วนใหญ่จะไม่มีบริการแจกอาหารและเครื่องดื่มฟรีแก่ผู้โดยสารทุกคนบนเครื่องบิน ซึ่งจะช่วยลดภาระงานและจำนวนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินได้ หากผู้โดยสารต้องการอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเลือกซื้อได้ในกระบวนการจองตั๋วเครื่องบิน หรือแก้ไขข้อมูลตั๋วเพื่อเลือกซื้ออาหารและเครื่องดื่มเพิ่ม หรือซื้อได้โดยตรงจากพนักงานบนเครื่องบิน
  • ส่วนใหญ่จะไม่มีโควตาน้ำหนักสัมภาระบรรทุกใต้ท้องเครื่องบินให้ฟรีแก่ผู้โดยสารทุกคนบนเครื่องบิน หากผู้โดยสารต้องการบรรทุกสัมภาระใต้ท้องเครื่องบิน สามารถเลือกซื้อโควตาน้ำหนักสัมภาระได้ในกระบวนการจองตั๋วเครื่องบิน หรือในการแก้ไขข้อมูลตั๋วภายหลังการซื้อ (มักจะราคาแพงกว่าการซื้อพร้อมกระบวนการจองตั๋ว)
  • มักจะมีความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎที่เกี่ยวกับจำนวน น้ำหนัก และขนาด ของกระเป๋าหรือสัมภาระที่ถือติดตัวขึ้นเครื่องบิน มากกว่าสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (สายการบินระดับพรีเมียม หรือสายการบินฟูลเซอร์วิส) โดยทั่วไป ที่ผู้โดยสารจะได้รับโควตาน้ำหนักสัมภาระบรรทุกฟรี (ผู้โดยสารสายการบินเต็มรูปแบบจึงอาจไม่จำเป็นต้องถือกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ติดตัวขึ้นไปบนเครื่องบิน)
  • เน้นบริการขึ้นและลงจอด ณ สนามบินระดับรอง ไม่ใช่สนามบินที่เป็นศูนย์กลางการบินหลัก ๆ ระหว่างประเทศ (Hub) เช่น การใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือท่าอากาศยานอู่ตะเภาแทนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น ทำให้ต้นทุนค่าใช้สนามบินต่ำกว่า ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมขึ้น–ลงจอด และการใช้พื้นที่จอดเครื่องบิน โดยพยายามบินให้มากที่สุด เพื่อลดต้นทุนให้กับสายการบินได้มากขึ้น และจอดเครื่องให้น้อยที่สุด เช่นไม่เกิน 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง เพื่อที่ค่าธรรมเนียมในการจอดที่สนามบินในเส้นทางนั้น ๆ จะได้มีราคาถูก
  • มีการพัฒนาระบบการจองและการขายบัตรโดยสารของสายการบินเองโดยไม่ผ่านตัวกลางหรือตัวแทนจำหน่าย เพื่อลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าคอมมิสชั่น เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นการขายบัตรโดยสารผ่านทางอินเทอร์เน็ต (e-ticketing) หรือทางโทรศัพท์ (Call Center) นอกจากนี้ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์และค่ากระดาษ บางสายการบินออกบัตรโดยสารโดยใช้กระดาษบางคล้ายกระดาษใบเสร็จรับเงินของห้างสรรพสินค้า แทนการออกบัตรกระดาษแข็งอย่างตั๋วของสายการบินพรีเมียม และบางสายการบินมีการออกบัตรโดยสารแบบ Ticketless คือ ไม่มีการออกบัตรโดยสารเป็นกระดาษให้ แต่จะบอกรหัสบัตรโดยสารให้ผู้โดยสาร เมื่อ Check-in ผู้โดยสารเพียงแต่บอกรหัสและแสดงบัตรประจำตัวประชาชนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเท่านั้น หรือผู้โดยสารสามารถ Check-in ออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตแล้วจึงพิมพ์ (พรินต์) ไฟล์บัตรโดยสารได้โดยไม่ต้องให้พนักงานพิมพ์ให้ หรือสามารถ Check-in ผ่านสมาร์ตโฟนโดยใช้แอปพลิเคชันของสายการบิน แล้วจะได้รับข้อมูลบัตรโดยสารในสมาร์ตโฟนซึ่งใช้แทนบัตรกระดาษได้เลย บางสายการบินยังอาจมีการคิดค่าธรรมเนียมการพิมพ์บัตรโดยสารที่สนามบินกับผู้โดยสารที่ไม่ได้พิมพ์บัตรโดยสารเตรียมมาล่วงหน้า
  • ไม่มีการบริการภาคพื้นดิน เช่น ไม่มีห้องรับรองพิเศษ (VIP Lounge) ไม่มีบริการจัดส่งหรือถ่ายโอนสัมภาระเลยเส้นทางบิน หรือจุดหมายปลายทาง (No Baggage Transferring Service) แต่อาจมีบริการตามความต้องการของผู้โดยสาร เช่น ห้องรับรอง, รถรับส่งจากสนามบินไปยังเมืองปลายทาง โดยผู้โดยสารต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
  • สายการบินราคาประหยัดมีนโยบายให้นักบินต้องเน้นการประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับสายการบิน นักบินจึงอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ในการขับเครื่องบินให้ประหยัดน้ำมัน เช่น การบินไต่ระดับสูงขึ้นหรือบินลดระดับลงจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เป็นต้น อาจทำให้ความสบายในการนั่งโดยสารนั้นมีน้อยกว่าของสายการบินเต็มรูปแบบ แต่อย่างไรก็ตามไม่ได้เป็นการลดความปลอดภัยลงแต่อย่างใด[1]
  • สายการบินราคาประหยัดบางรายยังได้ขายโฆษณาบนลำตัวเครื่องบิน และ/หรือ โฆษณาจำนวนมากภายในห้องโดยสารของเครื่องบินอีกด้วยเพื่อเพิ่มรายได้ แม้อาจทำให้ผู้โดยสารเสียบรรยากาศ

ผลจากการเกิดสายการบินต้นทุนต่ำ[แก้]

ผลดี[แก้]

  1. กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวมีการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น และขยายเส้นทางท่องเที่ยวได้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียซึ่งมักเดินทางเข้าประเทศไทยจากด่านทางบกที่อำเภอหาดใหญ่เป็นหลัก ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่ถูกลงอย่างมากจะเป็นตัวจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น เชียงใหม่และภูเก็ตมากขึ้น แทนที่จะท่องเที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯ เพียงอย่างเดียว จึงเป็นการกระจายนักท่องเที่ยว และทำให้สะดวกสบายในการบินตรงมากขึ้น สายการบินต้นทุนต่ำได้รับความนิยมในการใช้บริการจึงมีศักยภาพในการเปิดเส้นทางบินตรงใหม่ ๆ เช่นเที่ยวบินตรงระหว่างสองภูมิภาคของไทย (เช่น ไปกลับ เชียงใหม่-ขอนแก่น หรือไปกลับ ภูเก็ต-เชียงราย เป็นต้น) ซึ่งช่วยให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลารอเปลี่ยนเครื่องบินที่ท่าอากาศยานดอนเมืองหรือสุวรรณภูมิอีกต่อไป และสำหรับบางเส้นทางนั้นการบินตรงจะบินสั้นกว่าการบินอ้อมไปต่อเครื่องบินที่กรุงเทพฯ (รวมเวลาบินของทั้งสองเที่ยวบิน) อย่างเห็นได้ชัดอีกด้วย เช่น ขอนแก่น-เชียงใหม่ บินสั้นกว่าและใช้เวลานั่งบนเครื่องบินรวมน้อยกว่า ขอนแก่น-ดอนเมือง รวมกับ ดอนเมือง-เชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงบางกรณีอาจช่วยให้ไม่ต้องนั่งรถไกลข้ามจังหวัดเพื่อไปให้ถึงสนามบินหรือจุดหมายปลายทางอีกด้วย (เช่น เส้นทางบินตรงจากอุดรธานีสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาทำให้สามารถนั่งเครื่องบินจากอุดรธานีไปถึงอู่ตะเภาได้โดยตรงภายในเที่ยวบินเดียว จากเดิมที่ต้องลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือดอนเมืองแล้วจึงหารถนั่งโดยสารไปต่อ)
  2. ทำให้เกิดการขยายตัวของนักท่องเที่ยวกลุ่มต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวระดับกลางและระดับล่างที่มีงบจำกัดในการเดินทาง รวมทั้งทำให้มีการขยายตัวในกลุ่มนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นการส่งเสริมให้เมืองหลักในประเทศไทย เช่น เชียงใหม่และภูเก็ต รวมทั้งเมืองใหญ่อื่นๆ เป็นศูนย์กลางทางการบิน และเป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
  3. เพิ่มความถี่ในการเดินทางมากขึ้น โดยนักท่องเที่ยวมีโอกาสเดินทางได้บ่อยขึ้น จากเดิมอาจเดินทางเพียงปีละ 1 ครั้ง ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินที่ถูกลงทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสเลือกเดินทางได้มากกว่า 1 ครั้ง ต่อปี โดยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์สามารถเดินทางมาประเทศไทยในช่วงสุดสัปดาห์ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางเข้าภูเก็ตและเชียงใหม่ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้โดยรวมมากขึ้น แต่วันพักเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวสั้นลง
  4. ส่งผลดีต่อธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น ตัวแทนจำหน่ายบริการทางการท่องเที่ยว บริษัทจัดนำเที่ยว และโรงแรมสามารถเสนอขายรายการนำเที่ยวหรือแพ็กเกจได้หลายรูปแบบในราคาที่ประหยัดหรือถูกลง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวของภาคธุรกิจ เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของการเดินทาง ก็จะมีเงินในการใช้จ่ายเป็นค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าของที่ระลึก และการจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจโรงแรมเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับกระแสการเดินทางของกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง–ล่าง โดยในปีหน้า โรงแรม 1-3 ดาว มีแนวโน้มจะเติบโตมากขึ้น ทั้งด้านอัตราการเข้าพักเฉลี่ยและจำนวนโรงแรม ทั้งนี้ โรงแรมในเครือ ACCOR มีนโยบายที่จะเปิดโรงแรมระดับกลาง–ล่างในเมืองท่องเที่ยวหลักรองรับ เช่น โคราชและขอนแก่น เป็นต้น
  5. ทำให้เกิดการแข่งขันในภาคธุรกิจการบินและภาคการขนส่งอื่นๆ มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นรถไฟหรือรถประจำทางทั้งในด้านราคา คุณภาพ และการบริการ ซึ่งธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น อันจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคในการมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น
  6. อาจเกิดสงครามราคาขึ้นมา โดยสายการบินต้นทุนตํ่าสายต่างๆจะแข่งกันลดราคากันเพื่อดึงลูกค้าให้มาใช้บริการ ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้โดยสารที่ได้เดินทางโดยสารได้ในราคาที่ตํ่าลงมากขึ้น รวมถึงสายการบินที่ไม่ใช่สายการบินต้นทุนต่ำบางรายก็ได้ลดราคาลง หรือจัดโปรโมชัน เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในทางธุรกิจเช่นกัน[2]

ผลลบ[แก้]

  1. ทางเลือกที่มากขึ้นทำให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เคยเดินทางมาประเทศไทยได้ง่าย เช่น มาเลเซีย ซึ่งนิยมเดินทางโดยรถยนต์/รถโดยสารมาไทย ก็สามารถเดินทางไปประเทศอื่นๆ ได้ เช่น บรูไน หรือในเส้นทางอื่นๆ เนื่องจากราคาค่าบัตรโดยสารเครื่องบินถูกลงและมีความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้มีการดึงนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งไปจากประเทศไทยได้
  2. สายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบหรือสายการบินแบบดั้งเดิมบางราย ซึ่งรวมถึงสายการบินประจำชาติ อาจได้รับผลกระทบในด้านลบ เช่นจำนวนผู้โดยสารลดลง มีกำไรลดลงหรือขาดทุนมากขึ้น จึงอาจต้องลดต้นทุนต่าง ๆ ลง เช่น ลดระดับการให้บริการ, ลดจำนวนเส้นทางบิน, ลดจำนวนเครื่องบิน หรือลดจำนวนรุ่นหรือแบบของเครื่องบินลง เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจสายการบินดำเนินต่อไปได้ ซึ่งบางกรณีอาจทำให้คุณภาพของสายการบินลดต่ำลงไปด้วย หรืออาจถึงขั้นมีผลประกอบการย่ำแย่จนต้องปิดกิจการลง เมื่อไม่สามารถแข่งขันทางธุรกิจกับสายการบินอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงสายการบินต้นทุนต่ำได้ (เช่น ราคาตั๋วแพงกว่าอย่างชัดเจน) นอกจากนี้สายการบินแบบเต็มรูปแบบบางรายก็ยังได้ลงทุนหรือเข้าถือหุ้นในสายการบินต้นทุนต่ำแห่งอื่น หรือก่อตั้งสายการบินใหม่แบบต้นทุนต่ำขึ้นมา เพื่อแข่งขันก้บสายการบินต้นทุนต่ำอื่นด้วย
  3. สายการบินต้นทุนต่ำในปัจจุบันมักนิยมใช้เครื่องบินขนาดแอร์บัส เอ320 หรือโบอิง 737 ซึ่งไม่สามารถบินไปลงจอดยังท่าอากาศยานบางแห่งที่มีรันเวย์ขนาดเล็กหรือสั้น หรือแคบ ทำให้บางสนามบินไม่อาจมีสายการบินต้นทุนต่ำมาให้บริการได้ หรือสายการบินที่มีเครื่องบินเล็กจะยังสามารถกุมความได้เปรียบในท่าอากาศยานเหล่านี้จนทำให้สามารถตั้งราคาค่าโดยสารสูง ๆ ได้

รายชื่อบริษัทสายการบินราคาประหยัดของกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. ""บรรยง" ชำแหละสาเหตุทำไมการบินไทยถึงขาดทุน". มติชน. 19 สิงหาคม 2562. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2562. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)
  2. กิตตินันท์ นาคทอง (4 มีนาคม 2556). "สายการบินราคาประหยัด ที่พึ่ง (เที่ยว) ยามยาก". ผู้จัดการออนไลน์. สืบค้นเมื่อ 4 ธันวาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |access-date= (help)

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]