ข้ามไปเนื้อหา

การตกมัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ตกมัน)
เทมพอริน (temporin) ที่หลั่งออกมาในช่วงตกมัน

การตกมัน (อังกฤษ: musth หรือ must) เป็นสภาวะชั่วครั้งชั่วคราวในช้างพลาย อันมีลักษณะของพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างสูง และการหลั่งฮอร์โมนสืบพันธุ์มากผิดปกติ ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในช้างที่กำลังตกมันสามารถสูงถึง 60 เท่ากว่าช้างในเวลาปกติ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าการเพิ่มขึ้นผิดปกติของฮอร์โมนสืบพันธุ์ของช้างนั้นเป็นสาเหตุเดียวของการตกมัน หรือเป็นเพียงปัจจัยประกอบเท่านั้น การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของการตกมันยังเป็นปัญหา เพราะช้างที่กำลังตกมัน แม้แสดงท่าทางสงบนิ่ง ก็อาจพยายามฆ่ามนุษย์ได้

สาเหตุและผลกระทบ

[แก้]

ผู้เข้าเยี่ยมชมสวนสัตว์มักสังเกตว่าการตกมันนั้นเชื่อมโยงกับการเป็นสัด (rut)[1] แต่ข้อสังเกตดังกล่าวไม่น่าจะถูกต้องในทางชีววิทยา เพราะวงรอบการเป็นสัดของช้างเพศเมียนั้นไม่ขึ้นกับฤดูกาล แม้ว่าช้างส่วนใหญ่จะตกมันในฤดูหนาว ยิ่งไปกว่านั้น ช้างพลายที่ตกมันมักทราบกันว่าจะทำร้ายช้างเพศเมียด้วย ไม่ว่าช้างตัวเมียนั้นกำลังติดสัดหรือไม่ มีการสังเกตว่าอาจมีความเชื่อมโยงระหว่างการตกมันกับพฤติกรรมเด่น

ช้างที่กำลังตกมันมักได้ปลดปล่อยสิ่งคัดหลั่งข้นคล้ายน้ำมันดิน เรียกว่า เทมพอริน (temporin) จากท่อเทมพอรัลข้างหัว เทมพอรินประกอบด้วยโปรตีน ลิพิต (ที่โดดเด่นคือ คอเลสเตอรอล) ฟีนอล ครีซอล และเซสควิเทอร์ฟีน[2] สิ่งคัดหลั่งและปัสสาวะที่ถูกเก็บรวบรวมจากช้างในสวนสัตว์แสดงให้เห็นว่ามีระดับคีโตนและอัลดีไฮด์มีกลิ่นหลายชนิดเพิ่มสูงขึ้น ความก้าวร้าวของช้างบางส่วนอาจเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาต่อเทมพอริน ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะย้อยเข้าปากช้าง อีกปัจจัยประกอบหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการบวมของต่อมเทมพอรัล ซึ่งไปกดตาของช้างและทำให้เกิดความเจ็บปวดเฉียบพลันเทียบได้กับฝีรุนแรงที่รากฟัน บางครั้งช้างพยายามจัดการกับความเจ็บปวดนี้โดยการขุดงาลงไปในดิน

ช้างแอฟริกาที่กำลังตกมันตัวหนึ่งกำลังวิ่งไล่ยีราฟ

การตกมันยังเชื่อมโยงกับความตื่นตัวทางเพศหรือการสร้างความครอบงำ แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีความชัดเจนน้อยมาก มีการบันทึกเหตุการณ์ช้างแทงและฆ่าแรดในอุทยานแห่งชาติหลายแห่งในทวีปแอฟริกา และคาดว่าน่าจะเกิดจากการตกมันในช้างเพศผู้วัยหนุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช้างที่ไม่ได้เติบโตมากับเพศผู้ที่มีอายุมากกว่า การศึกษาแสดงให้เห็นว่าการนำช้างเพศผู้ที่มีอายุกลับเข้ามาในประชากรช้างในพื้นที่ดูเหมือนว่าจะช่วยป้องกันมิให้ช้างเพศผู้วัยหนุ่มเข้าสู่สภาวะตกมัน และสามารถหยุดพฤติกรรมก้าวร้าวนี้ได้[3]

ช้างที่ตกมันมักมีอายุมากกว่า 25 ปี ช้างเลี้ยงที่กำลังตกมันต้องถูกล่ามหรือขังไว้ แม้ว่าช้างเพศผู้ยังสามารถสืบพันธุ์ได้แม้ไม่ได้กำลังตกมัน แต่ช้างที่กำลังตกมันจะมีกำลังมากกว่า และช้างเพศเมียก็มักเลือกคู่เป็นช้างเพศผู้ที่กำลังตกมัน[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Musth of the elephant bulls – Upali.ch".
  2. Sukumar, R (2003). The living elephants: evolutionary ecology, behavior, and conservation. USA: Oxford University Press. p. 155. ISBN 9780195107784. สืบค้นเมื่อ 2010-12-25. temporin elephant.
  3. Elephants and Reproduction เก็บถาวร 2011-07-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Pennies for eles. สืบค้น 31-7-2011.
  4. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-05. สืบค้นเมื่อ 2011-07-31.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]