ชยตุสันสกฤตัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ขบวนการชยตุสันสกฤตัม
เอกสารแสดงความยินดีที่ส่งให้กับผู้นำคนหนึ่งของชยตุสันสกฤตัม
วันที่1-15 มิถุนายน 1947
สถานที่ประเทศเนปาล
คู่ขัดแย้ง
ตีน ธารา ปักษาลา
ผู้นำ
ราม ประสาท เนวปูเน

ชยตุสันสกฤตัม (เนปาล: जयतु संस्कृतम्; อักษรโรมัน: Jayatu Sanskritam) เป็นขบวนการที่เริ่มต้นในปี 1947 นำโดยนักเรียนของโรงเรียนสันสกฤต ตีน ธารา ปักษาลา ในประเทศเนปาล ขบวนการนี้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย, สวัสดิการขั้นพื้นฐาน และการนำเอาวิชาสมัยใหม่เข้าในหลักสูตรการศึกษา[1] นี่ถือเป็นการลุกฮือของนักเรียนนักศึกษาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์เนปาล[2] และนำไปสู่การปฏิวัติปี 1951 และการสิ้นสุดขอจักรวรรดิรานาในที่สุด[3]

ขบวนการเริ่มต้นที่โรงเรียนสันสกฤตตีน ธารา ปักษาลา ก่อนจะขยายไปรวมถึงนักเรียนของโรงเรียนราชกิยสันสกฤตวิทยาลัย ใกล้กับรานีโปขรี การประท้วงของนักเรียนมีศูนย์กลางอยู่ที่การต่อต้านการการขีดข้อกำหนดในการศึกษา เป็นต้นว่าในโรงเรียนสันสกฤตเช่นนี้มีให้เรียนเพียงวิชาเดียว ซึ่งคือวิชาภาษาสันสกฤตเท่านั้น ในขณะที่นักเรียนที่มีฐานะกว่าสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรที่กว้างและมีรายวิชาอย่างสมัยใหม่ เช่นนักเรียนที่มีความสัมพันธ์กับจักรวรรดิรานา[3]

ผู้ประท้วงใช้คติพจน์ในการประท้วงว่า ชยตุ สํสฺกฤตมฺ ("ชัยชนะเพื่อกิจการแห่งสันสกฤต")[4]

ในวันมี่ 1 มิถุนายน 1947 นักเรียนได้ทำการยื่นข้อเสนอแก่นายกรัฐมนตรีเนปาล ปัทมะ ศุมเศร์ ชาง พหาทูร รานา เรียกร้องให้มีการเรียนการสอนในรายวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ขึ้นในโรงเรียน กระนั้นข้อเสนอถูกเพิกเฉย อันนำไปสู่การประท้วงหยุดเรียนของนักเรียน[5] นอกจากการเรียกร้องการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแล้ว ในการประท้วงยังมีการเรียกร้องถึงความเท่าเทียม ไปจนถึงมีการต่อต้านจักรวรรดิรานา[6] การประท้วงหยุดเรียนสิ้นสุดเมื่อ 15 มิถุนายน เมื่อรัฐบาลยอมรับข้อเสนอที่จะขยายหลักสูตรตามคำร้องขอของนักเรียน อย่างไรก็ตาม ผู้นำกองทัพในเวลานั้น โมหัน ศุมเศร์ ชาง พหาทูร รานา ได้ออกคำสั่งประกาศจับและจำคุกผู้เข้าร่วมการประท้วง ตลอดจนมีการบังคับลี้ภัยนักเรียนรวม 42 คนที่ระบุตัวว่าเป็นผู้นำของการเรียกร้องนี้[3][7] ผู้ถูกบังคับลี้ภัยจำนวนหนึ่งรวมกล่มในอินเดียก่อตั้งวิศเวศวร ประสาท โกอิราละ ในขณะที่ที่เหลือร่วมกันจัดตั้งขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยขึ้นในเนปาล ซึ่งท้ายที่สุดได้นำไปสู่การปฏิวัติปี 1951 และการล้มล้างจักรวรรดิรานา[8]

อ้างอิง[แก้]

  1. Readings on Governance and Development, Volume 6 (ภาษาอังกฤษ). Institute of Governance and Development. 2002. p. 27. ISBN 9789994688005. สืบค้นเมื่อ 6 December 2018.
  2. Gautama, Rājeśa (5 January 2005). Nepali Congress. Adroit Publishers. pp. 138–140. ISBN 978-8-187-39261-3.
  3. 3.0 3.1 3.2 Snellinger, Amanda Therese (2018). Making New Nepal: From Student Activism to Mainstream Politics (ภาษาอังกฤษ). University of Washington Press. pp. 35–36. ISBN 9780295743097. สืบค้นเมื่อ 6 December 2018.
  4. Rana, Pramode Shamshere J. B. (1999). A Chronicle of Rana Rule (ภาษาอังกฤษ). R. Rana. p. 172. สืบค้นเมื่อ 6 December 2018.
  5. "Jayatu Sanskritam marked". República. 15 June 2017. สืบค้นเมื่อ 1 December 2018.
  6. Dahal, Dev Raj; Nepal), Centre for Development and Governance (Kathmandu (2001). Civil society in Nepal: opening the ground for questions (ภาษาอังกฤษ). Center for Development & Governance. p. 27. สืบค้นเมื่อ 6 December 2018.
  7. Shaha, Rishikesh (1990). Modern Nepal: A Political History, 1769-1955 (ภาษาอังกฤษ). Riverdale Company Pub. p. 180. ISBN 9780913215661. สืบค้นเมื่อ 6 December 2018.
  8. "Jayatu Sanskritam marked". The Himalayan Times. Rastriya Samachar Samiti. 15 June 2017. สืบค้นเมื่อ 6 December 2018.