ฉบับร่าง:เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ
ประเภทร็อก
วันที่1 สิงหาคม ค.ศ. 1971 (1971-08-01)
ที่ตั้งเมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก สหรัฐ
ผู้ก่อตั้ง

เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ (อังกฤษ: The Concert for Bangladesh, หรือ Bangla Desh ตามการสะกดชื่อประเทศในชื่อเดิม)[1] เป็นคอนเสิร์ตการกุศลที่ก่อตั้งโดยนักกีตาร์สมาชิกเก่าของวงเดอะบีเทิลส์ จอร์จ แฮร์ริสัน และนักเล่นซีตาร์ชาวอินเดีย รวี ศังกร การแสดงจัดขึ้นสองรอบเมื่อเวลา 14:30 น. และ 20:00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 1 สิงหาคม ค.ศ. 1917 ณ เมดิสันสแควร์การ์เดน นครนิวยอร์ก เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับสากลและระดมทุนช่วยเหลือสำหรับผู้ลี้ภัยจากปากีสถานตะวันออก หลังจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ระหว่างสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ คอนเสิร์ตได้รับการเผยแพร่เป็นอัลบั้มบันทึกการแสดงสดในรูปแบบบ็อกซ์เซ็ตบรรจุสามแผ่นเสียงที่ขายดีที่สุด และภาพยนตร์สารคดีคอนเสิร์ตของแอปเปิลฟิมส์ ซึ่งเปิดตัวในโรงภาพยนตร์ช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1972

เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศเป็นการแสดงเพื่อการกุศลครั้งแรกที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่[2] และประกอบด้วยซูเปอร์กรุ๊ปของผู้แสดงหลักได้แก่ แฮร์ริสัน, สมาชิกเก่าร่วมวงเดอะบีเทิลส์ ริงโก สตาร์, บ็อบ ดิลลัน, เอริก แคลปตัน, บิลลี เพรสตัน, ลีออน รัสเซล และวงแบดฟิงเกอร์ พร้อมด้วยผู้แสดงที่สืบเชื้อสายมาจากชาวบังกลาเทศอย่างรวี และอาลี อักบัร ข่าน เปิดการแสดงด้วยดนตรีคลาสสิกอินเดีย การแสดงทั้งสองรอบมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 40,000 คน และทำยอดจำหน่ายบัตรได้เกือบ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐสมทบกองทุนช่วยเหลือบังกลาเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ)

หลังจากการรวบรวมนักดนตรีเป็นไปอย่างราบรื่น แฮร์ริสันเผชิญกับความยากลำบากในการโน้มน้าวให้อุตสาหกรรมการบันทึกเสียงมอบสิทธิการแสดงบนเวทีร่วมกันของผู้แสดง และรายได้จากอัลบั้มและภาพยนตร์หลายล้านดอลลาร์สหรัฐถูกยึดเข้าบัญชีกลางของหน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรของสหรัฐ (ไออาร์เอส) เป็นเวลาหลายปี ถึงกระนั้นคอนเสิร์ตก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ประสบความสำเร็จและมีอิทธิพลมากที่สุด จากการสร้างความรับรู้และกองทุนขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจสำคัญแก่โครงการอื่นตามมาเช่น คอนเสิร์ตไลฟ์เอด[3][4][5]

ใน ค.ศ. 1985 รายได้จากอัลบั้มบันทึกการแสดงสดและภาพยนตร์ เดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ ประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถูกส่งมอบให้กับบังกลาเทศ[6] และยอดจำหน่ายอัลบั้มบันทึกการแสดงสดและดีวีดีของภาพยนตร์ยังคงเกิดประโยชน์ต่อกองทุนจอร์จ แฮร์ริสันเพื่อยูนิเซฟ (The George Harrison Fund for UNICEF) รวีได้กล่าวถึงความสำเร็จอย่างล้นหลามของคอนเสิร์ตในหลายทศวรรษต่อมาว่า "แล้ววันหนึ่งโลกทั้งใบก็รู้ชื่อของบังกลาเทศ ถือว่าเป็นโอกาสอันมหัศจรรย์"[7]

ภูมิหลัง[แก้]

บริเวณชายฝั่งของปฏุยาขาลี หลังจากพายุไซโคลนโบลาพัดถล่มในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1970

ใน ค.ศ. 1971 ขณะที่ปากีสถานตะวันออกต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นรัฐเอกราชของบังกลาเทศระหว่างสงครามปลดปล่อยบังกลาเทศ ได้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองและการทหาร และการทารุณกรรมหมู่ที่เกี่ยวข้องนำไปสู่ปัญหาผู้ลี้ภัยขนานใหญ่[8] โดยผู้พลัดถิ่นอย่างน้อย 7 ล้านคนหลั่งไหลเข้าอินเดียซึ่งอยู่ใกล้เคียง[9] ปากีสถานตะวันออกเพิ่งประสบความเสียหายจากพายุไซโคลนโบลา และฝนตกหนักและน้ำท่วมในเดือนมีนาคมของปีนั้นส่งผลให้สถานการณ์ของชาวเบงกอลย่ำแย่ลง[10] เสี่ยงต่อการเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรม[11][12] จำนวนผู้เสียชีวิตที่บันทึกไว้ในขณะนั้นโดยอ้างอิงจากบทความของโรลลิงสโตน ระบุว่า ชาวเบงกอลมากกว่าครึ่งล้านคนเสียชีวิตจากพายุไซโคลนในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1970 และการปฏิบัติการสังหารหมู่ที่ตามมาของกองทัพบกปากีสถานภายใต้ชื่อปฏิบัติการเสิร์ชไลต์ (Operation Searchlight) คร่าชีวิตพลเมืองอย่างน้อย 250,000 คน "ตามประมาณการอย่างอนุรักษ์นิยมที่สุด"[13] ภายหลังการอพยพหนีภัยสู่โกลกาตา ผู้ลี้ภัยกลับประสบกับภัยคุกคามใหม่คือความอดอยากและการระบาดของโรคอย่างอหิวาตกโรค[14][15]

ฉันอยู่ในอารมณ์เศร้ามากหลังจากได้อ่านข่าวนี้ทั้งหมด และฉันพูดว่า "จอร์จ นี่คือสถานการณ์ที่ฉันรู้ว่ามันไม่ได้เกี่ยวกับคุณ ฉันรู้ว่าคุณคงไม่สามารถระบุถึงได้" แต่ในขณะที่ฉันกำลังพูดกับจอร์จอยู่นั้น เขาก็รู้สึกสะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง ... และเขาพูดว่า "ฉันคิดแล้วว่าฉันจะสามารถทำบางสิ่งได้"

– รวี ศังกร, ค.ศ. 1971[9]

ด้วยความกลัวต่อเหตุการณ์ซึ่งกระทบถึงบ้านเกิดและญาติของเขา[10][11] นักดนตรีชาวเบงกอล รวี ศังกร พูดถึงประเด็นดังกล่าวให้เพื่อนของเขา จอร์จ แฮร์ริสัน ทราบครั้งแรกในช่วงเดือนแรกของ ค.ศ. 1971 ระหว่างรับประทานอาหารเย็นที่ไฟรเออร์พาร์ก ตามความทรงจำของเคลาส์ วอร์มัน[16][17] ในเดือนเมษายน รวีและแฮร์ริสันอยู่ที่ลอสแอนเจลิสเพื่อทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ราคะ[10] ระหว่างนั้นแฮร์ริสันได้เขียนเพลง "มิสโอเดล" โดยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐของอินเดียในการลำเลียงความช่วยเหลือเป็นข้าวสารจากตะวันตกที่ยังคง "หลงทางระหว่างทาง [ของการลำเลียง] ไปยังบอมเบย์ (Going astray on [their] way to Bombay)"[18][19] หลังจากกลับมาอังกฤษเพื่อโปรดิวซ์อัลบั้มของวงแบดฟิงเกอร์ สเตรตอัป และเข้าร่วมการบันทึกเสียงอัลบั้มของจอห์น เลนนอน อิแมจิน[20][21] ควบคู่ไปกับการติดตามความเป็นไปของเหตุการณ์จากรวี[22] ด้วยบทความที่ตัดจากหนังสือพิมพ์และนิตยสาร[23] แฮร์ริสันเดินทางกลับลอสแอนเจลิสเพื่อทำอัลบั้มเพลงประกอบภาพยนตร์ ราคะ ให้เสร็จสิ้นในปลายเดือนมิถุนายน[12][24] ซึ่งในช่วงเวลานั้นเอง หนังสือพิมพ์ เดอะซันเดย์ไทมส์ ที่ลอนดอนเพิ่งตีพิมพ์บทความทรงอิทธิพลต่อการรับรู้ในระดับสากล เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์ชาวปากีสถาน อังโตนี มัสกาเรนยัส เปิดเผยความน่ากลัวของการทารุณกรรมหมู่ในบังกลาเทศ[25][26] และรวีที่ว้าวุ่นใจได้เข้าขอความช่วยเหลือจากแฮร์ริสันเพื่อพยายามบรรเทาความทุกข์ทรมาน[9][27] แฮร์ริสันพูดในภายหลังว่าเขาใช้เวลา "สามเดือน" ในการสนทนาทางโทรศัพท์เพื่อก่อตั้งเดอะคอนเสิร์ตฟอร์บังกลาเทศ บอกเป็นนัยถึงความพยายามที่มีมาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา[28][29] โครงการเป็นที่ทราบอย่างกว้างขวางว่าเริ่มต้นอย่างจริงจังระหว่างสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1971 แม้ว่าจะเหลือเวลาเพียงห้าหรือหกสัปดาห์จากการแสดงที่จัดขึ้นในวันที่ 1 สิงหาคม[13][16][30]

อ้างอิง[แก้]

  1. Harry 2003, p. 135.
  2. The Editors of Rolling Stone 2002, p. 43.
  3. Annan, Kofi; Lyons, Charles J. (2005). "The UNICEF Perspective". The Concert for Bangladesh Revisited with George Harrison and Friends (Interview). London: Apple Records.
  4. Rodriguez 2010, p. 51.
  5. Romanowski, George-Warren & Pareles 1995, p. 419.
  6. Johnston, David (2 June 1985). "Bangladesh: The Benefit That Almost Wasn't". Los Angeles Times. ISSN 2165-1736. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 October 2022.
  7. Harrison 2011, p. 286.
  8. Lavezzoli 2006, p. 186–87.
  9. 9.0 9.1 9.2 Schaffner 1978, p. 146.
  10. 10.0 10.1 10.2 Lavezzoli 2006, p. 187.
  11. 11.0 11.1 The Editors of Rolling Stone 2002, p. 42.
  12. 12.0 12.1 Clayson 2003, p. 308.
  13. 13.0 13.1 The Editors of Rolling Stone 2002, p. 123.
  14. Greene 2006, p. 186.
  15. Harrison & Spector 2005, p. 7.
  16. 16.0 16.1 Leng 2006, p. 111.
  17. Sullivan, James (1 August 2011). "George Harrison's Concert for Bangladesh Featured Drug Trouble for Eric Clapton, Stage Fright for Bob Dylan". Spinner. AOL. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2013.
  18. Clayson 2003, p. 317.
  19. Harrison 2002, pp. 220, 248.
  20. Badman 2001, pp. 37–38.
  21. Leng 2006, pp. 108, 110.
  22. Lavezzoli 2006, p. 188.
  23. Harrison 2002, p. 59.
  24. Spizer 2005, p. 240.
  25. Dummett, Mark (16 December 2011). "Bangladesh war: The article that changed history". BBC News Online. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 March 2023.
  26. Haider, Zahrah (15 December 2015). "Media coverage and the War of 1971". The Daily Star. ISSN 1563-9258. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 March 2021.
  27. Greene 2006, p. 185.
  28. Clayson 2003, p. 309.
  29. Harrison 2002, p. 60.
  30. Harris, John (July 2001). "A Quiet Storm". Mojo. No. 92. London: EMAP Performance. p. 74. ISSN 1351-0193.

บรรณานุกรม[แก้]

  • Badman, Keith (2001). The Beatles Diary Volume 2: After the Break-Up 1970–2001. London: Omnibus Press. ISBN 0-7119-8307-0.
  • Clayson, Alan (2003). George Harrison. London: Sanctuary. ISBN 1-86074-489-3.
  • The Editors of Rolling Stone, บ.ก. (2002). Harrison. New York, NY: Rolling Stone Press/Simon & Schuster. ISBN 0-7432-3581-9.
  • Greene, Joshua M. (2006). Here Comes the Sun: The Spiritual and Musical Journey of George Harrison. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons. ISBN 978-0-470-12780-3.
  • Harrison, George (2002). I Me Mine. San Francisco, CA: Chronicle Books. ISBN 0-8118-3793-9.
  • Harrison, George; Spector, Phil (2005). The Concert for Bangladesh (booklet). George Harrison and Friends. Sony BMG. 82876729862.
  • Harrison, Olivia (2011). George Harrison: Living in the Material World. New York, NY: Abrams. ISBN 978-1-4197-0220-4.
  • Harry, Bill (2003). The George Harrison Encyclopedia. London: Virgin Books. ISBN 978-0753508220.
  • Lavezzoli, Peter (2006). The Dawn of Indian Music in the West. New York, NY: Continuum. ISBN 0-8264-2819-3.
  • Leng, Simon (2006). While My Guitar Gently Weeps: The Music of George Harrison. Milwaukee, WI: Hal Leonard. ISBN 1-4234-0609-5.
  • Rodriguez, Robert (2010). Fab Four FAQ 2.0: The Beatles' Solo Years, 1970–1980. Milwaukee, WI: Backbeat Books. ISBN 978-1-4165-9093-4.
  • Romanowski, Patricia; George-Warren, Holly; Pareles, Jon, บ.ก. (1995). The New Rolling Stone Encyclopedia of Rock & Roll. New York, NY: Fireside. ISBN 0-684-81044-1.
  • Schaffner, Nicholas (1978). The Beatles Forever. New York, NY: McGraw-Hill. ISBN 0-07-055087-5.
  • Spizer, Bruce (2005). The Beatles Solo on Apple Records. New Orleans, LA: 498 Productions. ISBN 0-9662649-5-9.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]